ขวนจิตทางปัญจทวารวิถี


    ผู้ฟัง จากการศึกษา ก็ยังมีความไม่กระจ่างในลักษณะของชวนะที่เกิดทางปัญจทวารวิถี

    สุ. การที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าจะพูดคำหนึ่งคำใด ขอให้เป็นความเข้าใจของเราจริงๆ หลังจากที่ฟังเข้าใจแล้วด้วย ไม่ใช่ขอยืมคำของคนอื่นมา แล้วก็ใช้ไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ได้เป็นความเข้าใจของเราเอง ต้องเป็นความเข้าใจของเราจริงๆ พูดคำนี้เมื่อไร ขอทราบว่าหมายความถึงอะไรคะ ชวนะ

    ผู้ฟัง ชวนะ ก็หมายถึงกิจของจิต ๑ กิจ ซึ่งถ้าแปลตามศัพท์ก็คือ รับรู้อารมณ์แล้วก็แล่นไป เพราะฉะนั้นชวนะจะต้องเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ จิตที่ทำกิจชวนะนี้จะมีเพียง ๓ ชาติ คือ เป็นกุศล เป็นอกุศล และกิริยา แต่ว่ายังไม่แจ่มแจ้งจริงๆ อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว

    สุ. จำ

    ผู้ฟัง ค่ะ ใช่

    สุ. ถ้ากล่าวว่า กุศล จิตที่ดีงาม อกุศล จิตที่ไม่ดีงาม เข้าใจไหมคะ เข้าใจ เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ วิบากจิต ถ้าเป็นกุศลกรรม แม้ดับไปแล้ว ก็ยังสะสมสืบต่อในจิตซึ่งมองไม่เห็นเลย ความน่าอัศจรรย์ คือ สภาพของนามธรรมซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่จิตแต่ละขณะที่สะสมสืบต่อมาในแสนโกฏิกัป ก็ต่างกันไปตามการสะสม ซึ่งกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่สามารถจะทำให้จิตอีกประเภทหนึ่ง คือ เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น ที่ใช้คำว่า วิบากจิต เพราะฉะนั้นกุศล และอกุศลเกิดขึ้น ไม่ใช่ ๑ ขณะเช่นปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรม ที่ทำให้เกิดขึ้นครั้งแรกซึ่งประมวลทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นไปตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย และเกิดอีก ตายอีกในสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงกุศล อย่างที่คุณสุกัญญากล่าว เกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ แล่นไป นั่นคือกิจของกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่ปฏิสนธิกิจ จิตทุกประเภทเกิดแล้วทำกิจเฉพาะของตนๆ

    ด้วยเหตุนี้การศึกษา และเข้าใจว่า กิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ ยังไม่ต้องไปจำชื่อ จำคำอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า จิตที่เกิดขึ้นต้องกระทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ

    ทีนี้ก็พอจะทราบแล้วใช่ไหมว่า ปฏิสนธิกิจเป็นกิจหนึ่งซึ่งวิบากจิตเกิดขึ้นทำครั้งแรกในชาติหนึ่ง จะไม่ทำปฏิสนธิกิจอีกเลย

    ด้วยเหตุนี้เวลาที่กล่าวถึงชวนะ เราไม่ใช่คำว่า “ชวนะ” ได้ แต่เราสามารถกล่าวว่า กุศลจิต และอกุศลจิตเมื่อเกิดขึ้น ก็เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ครั้ง คือ เป็นประเภทเดียวกัน สามารถเป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย ที่จะทำให้วิบากจิตเกิด ซึ่งวิบากจิตที่เกิดแล้วดับไปแล้ว เป็นผลของกรรม กุศล และอกุศลที่ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่เหมือนกับตัวกรรม ที่เป็นเจตนาที่เป็นกุศล และอกุศล เมื่อเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ก็เป็นกัมมปัจจัย ในขณะที่จิตอื่นไม่ใช่กัมมปัจจัย

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสมไป แต่ให้เข้าใจว่า ถ้าพูดถึงกุศลจิต เข้าใจ อกุศลจิต เข้าใจ ก็เข้าใจเพิ่มเติมถึงกิจของจิตได้ แต่ถ้าพูดถึงชวนกิจ ก็ต้องไปเท้าความว่า มีจิตอะไรบ้าง กุศลเท่าไร อกุศลเท่าไร กุศลประเภทไหน ระดับไหนต่างๆ แต่ถ้าพูดถึงกุศลจิตทุกประเภท เกิดดับสืบต่อกัน ซ้ำกัน ๗ ขณะ เป็นกัมมปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ทีนี้ทางปัญจทวารวิถี มีชวนะเกิดด้วย

    สุ. มีกุศลจิต และอกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง อันนี้สงสัย เพราะว่าจริงๆ แล้วมีความเข้าใจว่า ลักษณะของกุศล หรืออกุศลจะต้องเกิดที่หทยวัตถุ แต่ถ้าทางมโนทวารก็ไม่สงสัย แต่พอทางปัญจทวารสงสัยค่ะ เพราะจริงๆ แล้วทางปัญจทวาร ทางที่รับรู้อารมณ์ก็คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้ง ๕ ทาง

    สุ. คุณสุกัญญาก็ต้องไม่ลืมอีกนะคะ การศึกษาธรรม อ่านนิดหนึ่ง คิดเองต่อไปยาว แทนที่เอาความคิดของเราเองออกหมด เราไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ด้วยตัวเอง แม้แต่ลักษณะของจิตที่เกิดดับก็ไม่รู้ด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยการฟัง เพราะฉะนั้นเวลาฟัง อย่าคิดเหมือนเดิม ซึ่งเป็นความคิดของเรา เช่น จิตนี้ อย่างนี้อย่างนั้น ต้องเกิดที่นั่นที่นี่ และสงสัย แต่เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจในเหตุผล ในความเป็นสภาพธรรมขณะนั้นถูกต้องยิ่งขึ้น ที่กล่าวไว้ไม่ผิด แต่ว่า ยังไม่ประกอบด้วยเหตุผล จึงเกิดความสงสัยว่า ควรจะอยู่ตรงนี้ ทำไมไปอยู่ตรงนั้น หรือทำไมต้องอาศัยทวารนั้น นี่ก็เป็นความคิดของเรา แต่ถ้าเราฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจธรรม ก็จะรู้ตามความเป็นจริงถึงความต่างกันของทวาร และวัตถุ

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นชีวิตประจำวัน แต่ความไม่รู้ ก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ว่า ขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นต้องประกอบด้วยเจตสิก ต้องมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด และต้องมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้จิตขณะนั้นต่างกันไป และที่เกิดของจิตก็ต่างกันด้วย ซึ่งเราเลือก หรือเราคิด หรือเราทำให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราจะไปให้โลภมูลจิตเกิดที่วัตถุไหน ในเมื่อวัตถุมี ๖ ที่เกิดของจิต เวลาพูดถึงภูมิที่มีขันธ์ ๕ อันนี้จริงๆ แล้วก็เป็นการทบทวน จากสิ่งที่เราเคยกล่าวแล้วบ่อยๆ ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อไม่เข้าใจ หรือสงสัย เราก็กล่าวถึงอีกได้ และพอที่จะเข้าใจได้ ถ้าใครเพิ่งได้ฟังวันนี้ครั้งแรก และสงสัย ก็ถามต่อได้เลย ถามได้เพื่อให้กระจ่าง เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เราจะพูดถึงธรรมอะไร เมื่อไร ตอนไหนได้หมด เพราะว่ากำลังมีจริงๆ แม้แต่เรื่องของวัตถุ ใช้คำว่า “วัตถุ” จะต่างกับภาษาไทยที่เราเคยใช้ ก็ต้องเข้าใจใหม่ว่า เวลาพูดถึง “วัตถุรูป” หมายความถึงรูปที่เป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หมายความถึงในภูมิที่ต้องมีรูปด้วย ถ้าไม่มีรูป จิตเกิดไม่ได้ และรูปที่จะเป็นที่เกิดของจิตต้องมีกรรมเป็นปัจจัย

    กรรมทำทุกอย่าง ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด จิต เจตสิก และรูปที่เกิดจากกรรม เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นขณะที่ปฏิสนธิจิตอาศัยรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด เกิดขึ้น และแม้กัมมชรูป ถ้าปฏิสนธิจิตไม่เกิด กัมมชรูปก็เกิดไม่ได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283


    หมายเลข 12145
    26 ส.ค. 2567