สภาพธรรมซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไป
นี่คือการที่จะเข้าใจสภาพธรรมซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้นในขณะปฏิสนธิจิต มีรูปที่เกิดพร้อมกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ โดยเฉพาะในครรภ์ที่เป็นมนุษย์ ๓ กลุ่ม เล็กที่สุด ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า “กลาป” เล็กที่สุด หมายความว่าแยกไม่ได้เลย กลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมก็จะมี ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ คือ หทยทสกะ “ทสกะ” หมายความถึง “๑๐” กลุ่มของรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตซึ่งมีรูปรวมกันทั้งหมด ๑๐ รูป เพราะฉะนั้นก็จะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๔ ซึ่งเมื่อมหาภูตรูป ๔ มีเมื่อไรต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชาเกิดร่วมด้วยอีก ๔ รูป ไม่ได้แยกกันเลยทั้งสิ้น เรียกว่า “อวินิพโภครูป ๘” รูป ๘ รูปนี้ไม่แยกกัน เมื่อรูปนี้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เป็นที่เกิดเฉพาะรูปกลุ่มนั้นซึ่งเป็นที่เกิด เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิต และเจตสิก และรูปทุกรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน จะต้องมีชีวิตรูป หรือชีวิตินทรียรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมที่เกิดร่วมกัน ทำให้รูปที่เกิดเพราะกรรมมีสภาพที่เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นรูปที่มีชีวิต ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะอุตุ หรือโต๊ะ เก้าอี้
เพราะฉะนั้นในขณะนั้นมีรูปทั้งหมด เฉพาะกลุ่มนั้น ๑๐ รูป เป็นที่เกิดของจิต อีก ๒ กลุ่ม กายทสกะ ได้แก่ กายปสาท เหมือนเดิม คือ มี ๘ รูปซึ่งไม่แยกจากกัน เพิ่มกายปสาทรูป และชีวิตินทรียรูป ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ภาวรูป มองไม่เห็นทั้งนั้นเลย และเช่นเดียวกันต้องมีอวินิพโภครูป ๘ และอิตถีภาวะ หญิง หรือปุริสภาวะ ชาย และชีวิตินทรียรูป ซึ่งขณะนั้นเล็กมาก ไม่ได้ปรากฏความเป็นหญิงเป็นชายทันที ต่อเมื่อรูปนั้นเจริญเติบโตขึ้น ก็จะซึมซาบอยู่ทั่วตัว ทำให้สามารถปรากฏเห็นแล้วจำได้ว่าเป็นชาย หรือเป็นหญิง ในขณะนั้นมีรูปที่เกิดเพราะกรรมที่เป็นที่เกิดของจิตเป็นหทยรูป แต่ขณะเห็นมีกายปสาทเป็นที่เกิด
เพราะฉะนั้นในบรรดารูปที่เป็นที่เกิดของจิต ๖ รูป ๕ รูปเป็นที่เกิดของจิต ๑๐ ประเภท ซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม คือ จิตเห็นขณะนี้ จะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม ทันทีที่กระทบแล้ววิถีจิตเกิดขึ้น ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยาจิตขณะแรก เป็นวิถีจิตแรกดับแล้ว จักขุวิญญาณที่เห็น เกิดที่จักขุปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท แม้ว่าเป็นวิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังคจิต ขณะที่เป็นภวังคจิตจะไม่รู้สึกตัวเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลย หลับสนิท ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดไม่ฝัน ขณะนั้นจิตเกิดดับที่หทยวัตถุตลอด เพราะว่าหทยวัตถุ เป็นรูปที่เป็นที่เกิดของจิต ขณะแรกที่เกิดไม่ปรากฏเป็นรูปหัวใจเลย แต่รูปใดๆ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รูปนั้นเป็นหทยวัตถุ คือ ที่เกิดของจิต เว้นจิต ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่จักขุปสาท โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่โสตปสาท ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่ฆานปสาท แล้วก็ดับที่ฆานปสาท ขณะที่ลิ้มรส ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรส เกิดที่ชิวหาปสาท แล้วก็ดับที่ชิวหาปสาท กายวิญญาณซึ่งเป็นสภาพของจิตที่รู้รูปที่กระทบกาย เมื่อกายปสาทกระทบกับรูปเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ก็เกิด และดับที่กายปสาทรูปซึ่งเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ
อย่างนี้สงสัยไหมคะ เรื่องของวัตถุ ที่เกิดของจิต ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องทวาร ศึกษาอะไรก็ให้เข้าใจสิ่งนั้นโดยตลอด ถ้าพูดถึงเรื่อง “วัตถุ” ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ก็จะรู้ว่า จิตอื่นทั้งหมด นอกจากจิต ๑๐ ประเภทนี้แล้ว เกิดที่หทยวัตถุ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะเหตุว่าหทยวัตถุ คือ รูปที่เป็นที่เกิดของจิต และเว้น ๑๐ ประเภท
ที่มา ...