จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต - ปฏิสนธิจิต จุติจิต ภวังคจิต


    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิต จุติจิต ภวังคจิต คือ กิริยาจิตใช่ไหมคะ

    สุ. ไม่ใช่ค่ะ ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิตด้วย เพราะว่าเป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตที่ดับไปแล้ว เกิดดับสืบต่อ ดำรงภพชาติ ความเป็นบุคคลนั้น ประเภทนั้น จนกว่าจะสิ้นสุดกรรม ถ้าเป็นอกุศลวิบาก ทำให้เกิดอย่างที่เราเรียกว่า “นก” เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก ดับไปแล้ว กรรมนั้นแหละที่ทำให้อกุศลวิบากเกิดขณะแรก เป็นปฏิสนธิจิต ก็ทำให้วิบากเกิดสืบต่อ แต่ทำคนละกิจ

    วิบากจิตขณะแรกในชาติหนึ่ง ไม่ได้ทำภวังคกิจ เพราะว่าวิบากจิตในชาติหนึ่งทำปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ทันทีที่จิตสุดท้ายของชาติหนึ่ง ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อ แต่จิตขณะต่อไปที่จะเกิดสืบต่อ หลังจากที่จุติจิตสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นแล้ว ต้องเป็นบุคคลใหม่ ตามกรรมที่เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นนก จะเป็นเทวดา จะเป็นมนุษย์ จะเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นวิบาก แต่กรรมไม่ได้ทำให้วิบากเกิดเพียง ๑ ขณะ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว แล้วไป เป็นไปไม่ได้ เพราะกว่ากรรมจะสิ้นสุดลง ก็มีกรรมนั้นมากหลายขณะจิต กว่ากรรมๆ หนึ่งจะสำเร็จลงไปได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของกรรมนั้น ดับไปแล้ว ก็ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นแหละ กรรมเดียวกัน เกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เมื่อไร จุติจิตซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมนั้นแหละ ทำกิจสุดท้าย คือ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้เลย แม้สักเสี้ยววินาที สัก ๑ ขณะ ก็ไม่ได้ ต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นภวังค์เป็นวิบากจิต ประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะเป็นผลของกรรมเดียวที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น คือ หมดสิ้นกรรมที่จะให้ผลนั้น แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่ตาย กรรมนั้นก็ให้ผลได้ กรรมอื่นก็ให้ผลได้ ทำให้เกิดเห็น บางขณะเห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม บางขณะเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284


    หมายเลข 12153
    17 ก.ย. 2567