เวทนินทรีย์


    สุกัญญา อยากกราบเรียนถามเรื่องเวทนาที่เป็นอินทรีย์ คือ เป็นตั้งอินทรีย์ ๕

    สุ. ทุกเวทนาเป็นอินทรีย์ เมื่อเวทนามี ๕ ก็เป็นเวทนินทรีย์ ๕

    สุกัญญา แสดงว่ามีความสำคัญมาก หรือคะ อย่างสติ เป็นแค่ ๑ แต่เวทนานี่ตั้ง ๕

    สุ. ตั้ง ๕ นี่เพราะอะไรคะ

    สุกัญญา จริงๆ แล้ว เรื่องอินทรีย์ ตามความรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์

    สุ. ไม่ใช่ค่ะ เป็นใหญ่ในลักษณะสภาพธรรมนั้น มีความเป็นใหญ่ เวทนาทุกเวทนาเป็นอินทรีย์ค่ะ ไม่มีสักเวทนาเดียวที่ไม่เป็นใหญ่ คุณสุกัญญาแสวงหาเวทนาประเภทไหนคะ

    สุกัญญา ชอบสุข ไม่ชอบทุกข์ค่ะ

    สุ. ใหญ่ จนกระทั่งอยากได้ ทั้งหมดของชีวิต เพื่อสุขเวทนา เพื่อโสมนัสเวทนา อย่างไม่ดีเท่าไร ก็อุเบกขาเวทนา ก็ยังดีกว่าทุกขเวทนากับโทมนัสเวทนา ใครจะไปเปลี่ยนแปลงความเป็นใหญ่ของความรู้สึกได้ ถ้าเกิดความรู้สึกแล้ว อย่างอื่นไม่ได้ปรากฏเลย กำลังเสียใจ มนินทรีย์เป็นใหญ่ไหมคะ แม้มนินทรีย์เป็นใหญ่ก็ไม่ปรากฏความเป็นใหญ่ว่า ขณะนั้นที่จะมีความรู้สึกโทมนัสได้ก็เพราะมีจิต ถ้าไม่มีจิต เจตสิกทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ แม้โทมนัสเวทนาก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงอินทรีย์ ก็หมายความว่า แต่ละสภาพธรรม สภาพธรรมใดเป็นใหญ่ เฉพาะในลักษณะของสภาพธรรมนั้น อย่างจิต ไม่ว่ากำลังหลับ กำลังตื่น หรือว่ากำลังรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลักษณะของจิตที่ไม่ใช่เจตสิก เพราะเหตุว่าเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเจตสิกแต่ละเจตสิก ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ แม้รู้อารมณ์เดียวกัน แต่ไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้แม้การที่จะมีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ ก็ต้องเป็นผู้เข้าใจ และรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น มิฉะนั้นก็ปะปนแล้วก็เรียกชื่อ แต่ความจริงสภาพธรรมใดกำลังเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะนั้นต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ชัด

    เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ชัดตามความเป็นจริง ก็ต้องอบรมไปตั้งแต่ขั้นเข้าใจ จนกระทั่งมีการระลึกได้ ถึงเฉพาะแต่ละลักษณะจริงๆ แต่สำหรับความรู้สึก ลองคิดดูว่า เวลาที่ความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นอย่างไร สภาพธรรมขณะนั้นก็จะทำให้เป็นใหญ่ในอาการนั้น เช่น ทุกขเวทนา กำลังปวดเจ็บ อยากได้อะไรบ้างไหมคะ เจ็บเหลือเกิน อยากได้อะไรไหม ทรัพย์สมบัติเงินทอง เอามาให้เยอะๆ เอาไหม กำลังเจ็บอย่างนี้ ให้เจ็บไปตลอดอย่างนี้ ก็เป็นใหญ่ในการรู้สึก ให้เห็นว่า เป็นใหญ่จริงๆ เหมือนกับอุปาทานขันธ์ ก็มีอุปาทานเป็นเวทนาด้วย เพราะว่ามีความยึดมั่นในความรู้สึกนั้นว่า เป็นเรา ตั้งแต่เกิดมาจนตายไป ต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข แสวงหาความรู้สึกที่เป็นสุข

    เพราะฉะนั้นเป็นที่ตั้งของความยึดถือ เพราะเวทนาเป็นใหญ่ เห็นความเป็นใหญ่ของเวทนาว่า ทำไมเราไม่คิดว่า เราอยากได้ผัสสะ หรืออะไรต่ออะไร ทั้งๆ ที่ผัสสะก็อยากได้ โดยไม่รู้ตัว เพราะว่าถ้าไม่มีผัสสเจตสิก เราจะไปกระทบกับอารมณ์ที่ทำให้เวทนาเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ลักษณะของเวลาที่ผัสสะเกิด ไม่ได้แสดงความเป็นใหญ่อะไรเลย เพียงแต่มีกิจกระทบ แต่เมื่อกระทบแล้ว เวทนาที่รู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ที่จิตรู้ เป็นใหญ่

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ โทมนัส หรือโสมนัส หรืออุเบกขา ก็เป็นใหญ่ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    สุกัญญา แล้วจิตที่เป็นใหญ่ในการรู้ ทำไมถึงไม่เป็นอินทรีย์

    สุ. เป็นค่ะ มนินทรีย์ นอกจากตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ใจ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 288


    หมายเลข 12177
    27 ส.ค. 2567