ธรรมเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจจริงๆ แม้มีปรากฏอยู่ก็ยังไม่รู้
คุณอุไรวรรณ ขออนุญาตถามต่อนะคะ
อยากจะขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การศึกษาธรรมอย่างถูกต้องนั้น มีระเบียบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนอย่างไรคะ
สุ. ขั้นตอนก็คือ อยู่ตรงไหน ฟังธรรมตรงนั้น เรื่องนั้นเข้าใจ พูดถึงเรื่องจิต ขณะนี้มีจิต ต้องไปที่อื่นถึงจะเข้าใจจิต หรือว่าแม้ในขณะนี้เอง ฟังเรื่องจิตก็เข้าใจจิตที่กำลังมีในขณะนี้ได้
คุณอุไรวรรณ ถามต่อนะคะ
ดิฉันคิดว่า ควรจะเรียนจากปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ แต่ดิฉันมีความรู้สึกว่า ขณะนี้ยังมีพุทธศาสนิกชนอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งดิฉันด้วยที่ศึกษา และปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เนื่องจากดิฉันเพิ่งมาทราบว่า ธรรมที่แท้จริงนั้นยากยิ่งที่จะทำความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของดิฉันเอง เช่น การทำบุญที่ครบองค์ ตามความเข้าใจของดิฉันก็คือ ทาน ศีล และภาวนา ทาน ก็คือการทำบุญใส่บาตร บริจาคทาน เป็นต้น ศีล ก็คือการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ สำหรับปุถุชน ภาวนา คือ การสวดมนต์ ทำสมาธิ เพื่อระงับความฟุ้งซ่านของจิตใจ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร ขอให้อาจารย์กรุณาอธิบายความถูกต้อง และไม่ถูกต้องด้วยค่ะ ว่าเป็นอย่างไร
อ.นิภัทร เรามาเรียนธรรม กว่าจะเข้าถึงธรรม ไม่ใช่ง่ายๆ เป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่เหลือวิสัย เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ต้องค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ คิดไป ธรรมอยู่ที่นี่แหละ ไม่มีวิธีที่จะต้องทำอย่างนี้อย่างนั้นถึงจะรู้เร็ว เพราะอะไร เพราะเราเข้าห้องน้ำ ธรรมก็เข้าด้วย เพราะธรรมอยู่ที่เรา เรานอน ธรรมก็นอนด้วย เรายืน ธรรมก็ยืนด้วย เราเดิน ธรรมก็เดินด้วย เราเดิน ธรรมก็เดินด้วย เรานั่ง ธรรมก็นั่งด้วย ไปไหนๆ มีไหมที่จะพ้นจากธรรม ถ้าเราเข้าใจแล้ว ธรรมก็มีอยู่ตลอด และมีเพื่อให้เรารู้ ไม่ใช่มีเพื่อให้เราหลง ถ้ามีเพื่อให้เราหลง เราก็เห็นว่า เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เรารู้รส เราถูกต้องสัมผัส เราคิดนึก ก็เป็นเราทั้งสิ้น ก็ไม่เป็นธรรม เมื่อไม่เป็นธรรม แล้วจะรู้จักธรรมได้อย่างไร เมื่อไม่รู้จักธรรม ก็ไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์ ทั้งๆ ที่ธรรมก็ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอด ก็ไม่เห็นคุณค่า
เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็น
อ.ธีรพันธ์ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ สามารถพิสูจน์ได้ทุกกาลเวลา แต่จะทนต่อการพิสูจน์หรือไม่ แล้วแต่ศรัทธาหรือปัญญาของผู้ฟังที่ได้สะสมอบรมมา เพราะฉะนั้นการได้ฟัง มีการพิจารณาจนเกิดความเข้าใจก็ต้องอาศัยกาลเวลาอีก ไม่ใช่ของง่ายเลย เริ่มแรกตั้งแต่การได้ยินได้ฟังแล้ว และพิจารณาจนเกิดความเข้าใจ ก็ไม่ใช่เป็นของง่าย และการที่จะอบรมเจริญมั่นคงขึ้นไปอีก ก็ไม่ใช่ของง่ายอีก
เพราะฉะนั้นบางคนมาศึกษาธรรม ฟังไปพักหนึ่ง ก็ทิ้งไป บางท่านก็เป็นระยะเวลานานมากจึงกลับมาฟังพระธรรม แต่ชีวิตของแต่ละบุคคล เราไม่สามารถทราบว่า จะตายจากโลกนี้เวลาไหน เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้ว ก็อย่าปล่อยโอกาสนี้ไปเลย ขอให้ศึกษา และพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ อาศัยความอดทนที่จะฟัง ที่จะพิจารณา
อ.วิชัย ธรรมก็เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจจริงๆ เพราะเหตุว่าแม้มีปรากฏอยู่ แต่ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าเราก็สำคัญว่าเป็นเรา รูปร่างกายทั้งหมดก็เป็นเรา แต่จริงๆ แล้ว ทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ส่วนที่เป็นนามธรรมก็มี ส่วนที่เป็นรูปก็มี ถ้าเราพิจารณาโดยละเอียด มีการตั้งใจ ใส่ใจจริงๆ ว่า ขณะนี้ที่เป็นเรา เป็นที่ไหน หรืออยู่ตรงไหน ถ้าพิจารณาว่า ส่วนใดบ้าง อย่างเช่นกำลังคิด หรือที่เห็น ได้ยิน หรือกำลังฟัง หรือคิดตามต่างๆ เป็นอะไร เป็นเราจริงๆ หรือเปล่า แต่ทรงแสดงว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือคิดนึก เพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังมี และปรากฏอยู่ ก็เลยยกตัวอย่างบ่อยๆ เพราะเหตุว่ากำลังเห็น มีจริง กำลังปรากฏอยู่ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตจะเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีเกิดขึ้นที่จะให้จิตรู้ หรือว่าเสียง ขณะที่ได้ยิน ถ้าไม่มีเสียง จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้
ก็จะเห็นว่า สภาพธรรมมีเหตุปัจจัยจึงเกิด ถ้าขาดเหตุปัจจัย ธรรมนั้นก็เกิดไม่ได้ ดังนั้น ความสำคัญที่เป็นตัวเรา จะค่อยๆ เข้าใจว่าที่จริงแล้วไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย หรือรูปร่างกายทั้งหมดที่สำคัญว่า เป็นเรา ก็ทรงแสดงว่า มีรูปหลายรูปที่เกิดขึ้น แต่ก็มีสมุฏฐานที่จะให้รูปนั้นเกิดขึ้น อย่างเช่นมีกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด เช่น ตาเกิดขึ้นเพราะกรรม มีใครสามารถประดิษฐ์ดวงตาได้ไหมครับ ไม่มีใครสามารถทำได้ แต่มีกรรมในอดีตที่สามารถให้ผล คือ ตาเกิดขึ้นรับกระทบสัมผัสสีสันต่างๆ และนามธรรม คือ จิตเห็น สามารถเกิดขึ้นรู้สีสันวัณณะต่างๆ ที่ตาได้ หรือว่าหู เป็นรูปที่สามารถกระทบกับเสียงได้ บุคคลอื่นไม่สามารถจะกระทำให้หูเกิดขึ้นได้เลย แต่ว่ามีกรรมในอดีตนั่นเองที่สามารถให้ผล เรียกว่าโสตปสาท ซึ่งสามารถรับกระทบกับเสียงได้ จึงเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้นที่โสตปสาท หรือที่หูได้
นี่ก็เป็นธรรมทั้งหมด ดังนั้นการฟังต้องฟังด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ และพิจารณาตามในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งเป็นพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้
ที่มา ...