เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า เป็นเพียงธรรม


    อรวรรณ ถ้าอย่างนั้นสภาพธรรมหรือปรมัตถธรรมเกิดดับเร็วมาก ไม่ว่าจิต เจตสิก หรือรูป สติเราจะไปตามรู้ แสดงว่าสติต้องเกิดเท่ากับสภาพธรรมนั้น

    สุ. ที่ว่าเกิดดับเร็ว เวลานี้สภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดต้องมีปัจจัย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นสติเกิดได้ไหม ในเมื่อเห็นเกิดได้ เพราะมีปัจจัย ได้ยินก็เกิดได้ เพราะมีปัจจัย เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะเกิดได้ไหมเมื่อมีปัจจัย

    อรวรรณ สติก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    สุ. ถูกต้อง

    อรวรรณ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด

    สุ. ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็เกิดไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ รู้สึกว่า การตามรู้ ที่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้สภาพธรรม กับการคิดถึงลักษณะของสภาพธรรม รู้สึกว่าจะแยกให้ชัดเจนลำบาก อยากให้ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายว่า ลักษณะที่บางทีสำหรับผู้ศึกษาใหม่ อาจจะคิดถึงลักษณะของธรรม แต่อาจจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นการคิดถึงธรรมที่ดับไป อาจจะคิดว่า เป็นสติปัฏฐานเกิดได้ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายความต่างกัน ขณะที่สติปัฏฐานเกิดกับขณะที่คิดถึง

    สุ. ส่วนใหญ่อดคิดไม่ได้ ถ้าคนจะพูดว่าอย่างนี้ เหมือนเราอดคิดไม่ได้ แต่ความจริงให้ทราบว่า เมื่อมีสภาพธรรมใดปรากฏแล้ว ดับไปแล้วก็ตาม จิตทางมโนทวารจะรับต่อ นี่ก่อนคิดเป็นเรื่องราว อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ที่รับต่อมา ปกติจะเป็นอะไร ถ้าเป็นทางปัญจทวาร หรือทวารหนึ่งทวารใดเป็นโลภะ มโนทวารวาระแรกก็เหมือนกัน ถ้าทางปัญจทวารเป็นโทสะ มโนทวารที่เกิดสืบต่อ จะเป็นกุศลทันที เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องเป็นโทสะ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว

    ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า ชวนวิถีทางปัญจทวารดับไปแล้ว ก็ยังมีชวนวิถี คือ ประเภทของอกุศล หรือกุศลจิตนั่นแหละที่เกิดสืบต่อเป็นประเภทเดียวกัน ทั้งทางหนึ่งทางใดในปัญจทวาร และทางมโนทวารในวาระแรกก็จะเหมือนกัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราไม่รู้มากมายเหลือเกิน เวลานี้หมดไปแล้วตั้งกี่ทวาร กี่วาระ ก็ไม่รู้เลยสักอย่างเดียว เพียงแต่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นที่ฟัง ก็เพื่อจะให้รู้ว่า สภาพธรรมที่มีจริง จะมีลักษณะจริงๆ ให้รู้ว่า สิ่งนั้นจริง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะที่ปรากฏขณะนี้มีจริง กำลังปรากฏให้เห็น เราจะรู้แค่ไหน ไม่สำคัญ แต่ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงคิด แต่ขณะเห็น ไม่ได้คิด มีสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือ วาระที่มโนทวารวิถีจิตเกิดดับสืบต่อ พร้อมทั้งจักขุทวารที่เกิดดับสืบต่อ สลับกับภวังค์ สลับกับวาระทางมโนทวารมากมาย

    นี่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่ต้องไปกังวลถึงสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ดับไปแล้วเท่าไร หรือว่าจิตเห็นดับไปแล้วเท่าไร ไม่ใช่วิสัย ที่เราจะไปคิดสักเท่าไร เราก็ไม่สามารถไปถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งได้ เพราะว่าเป็นแต่เพียง ตัวเราที่กำลังคิด

    เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ที่เรากล่าวว่า รูปธรรม หมายถึงสิ่งนั้นมีจริง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เป็นสภาพธรรมลักษณะนั้นซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา จะให้ไปปรากฏทางหู จะให้ไปปรากฏทางลิ้นไม่ได้ สิ่งนี้ปรากฏได้ทางนี้ ทางที่กำลังเห็นขณะนี้ และการเกิดดับไม่ต้องคำนึงถึงเลย

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะรู้ว่า นี่เป็นปรมัตถ ก็เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ อย่างเสียง ใครจะไปนึกถึงเสียงโดยที่เสียงไม่ได้ปรากฏ ก็ต้องรู้ว่า ไม่เหมือนกัน ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงปรากฏจริงๆ เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ก็เพราะเหตุว่าสามารถจะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า เป็นเพียงธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว จนปรากฏว่าเหมือนรวมกันทั้งหมด เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    นี่คืออาศัยการฟัง และเข้าใจลักษณะ โดยไม่ต้องไปห่วงเรื่องสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน หรือว่าเราจะประจักษ์แจ้งเมื่อไร ไม่ต้องคิดเลย

    เมื่อวานนี้ก็มีคนที่ถามว่า และเมื่อไรจะรู้ได้จริงๆ เห็นไหมคะ พอฟังละเอียด ถึงความละเอียดของธรรม ก็เราอีกแล้ว แล้วเมื่อไรจะรู้ได้จริงๆ คำตอบก็คือ เมื่อไรที่ปัญญาเจริญ หรือเมื่อไรที่อวิชชาเจริญ นี่เป็นคำตอบ ถ้าเมื่อไรที่อวิชชาเจริญมาก ก็เป็นเรื่องที่อวิชชาเจริญ เมื่อไรที่ปัญญาเจริญพอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าเมื่อไร เรา ไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมที่วันหนึ่งๆ ก็จะรู้ได้ว่า สิ่งที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงแม้ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็กำลังฟังให้เข้าใจก่อน แล้วก็มีลักษณะจริงๆ ให้มั่นคงว่า เมื่อเวลาที่ปัญญา และสติจะรู้ ไม่ได้รู้อื่น นอกจากเริ่มรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ พอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรม และสติระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

    อ.ธีรพันธ์ ธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก อาศัยการฟัง การสนทนาก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเข้าใจขึ้น เพราะว่าการให้สติเกิด ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความเข้าใจ การที่จะไปตามรู้ ไม่ใช่วิสัยที่จะไปตาม ไม่มีเราที่จะไปตาม สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ปรากฏให้รู้ยังไม่รู้ ไปตามสิ่งที่ไม่ปรากฏ ไปตามอะไรไม่ทราบ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303


    หมายเลข 12254
    27 ส.ค. 2567