มีเห็น แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับขั้นที่จะรู้ลักษณะของเห็น
ผู้ฟัง ดิฉันว่าเรื่องคิดนึกเป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็คิดนึกทั้งนั้น ก็คิดว่า ขณะนี้นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วเคยไปเชียงใหม่ และขณะนี้ไม่ได้เห็นลักษณะภูมิประเทศของเชียงใหม่ นั่นเป็นคิดนึก ก็ยังไม่เข้าใจลักษณะคิดนึกอีก เลยมาเหมาเอาว่า เป็นมโนทวาร เป็นนามธรรมเท่านั้น มันติดอยู่ตรงนี้ค่ะ
สุ. ค่ะ คิดแล้วก็บอกว่า ไม่เข้าใจ ความจริงเพราะไม่รู้สภาพของนามธรรมทั้งหมด เห็นเป็นเรา หรือว่าเป็นธรรม ที่เป็นธาตุที่สามารถเกิดขึ้นเห็น แล้วถ้าธาตุคิดเกิดขึ้น นามธาตุเท่านั้นที่จะคิดได้ รูปธาตุคิดไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นสภาพรู้หรือธาตุรู้มีจริงๆ และสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ในขณะนั้นแต่ละอย่าง เพราะเหตุว่าจริงๆ เราไม่ได้มีแต่เห็นเลย เห็นนิดเดียว หลังจากนั้นคิดหมด แล้วจะบอกว่า คิดไม่มีก็ไม่ได้ แต่เพราะไม่รู้ว่า คิดเป็นธรรม เป็นนามธรรม ก็เลยหาไม่เจอ ก็เลยไม่รู้ว่า คิดเมื่อไร หรือไม่รู้ว่า คิดมีลักษณะอย่างไร แต่ตามความจริง คิดก็เป็นธาตุหรือธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งใครก็บังคับไม่ให้คิดเกิดขึ้นไม่ได้เลย
บง คิดเป็นนามธรรมนะคะ ไม่ใช่รูปธรรม
สุ. มีจริงๆ
บง เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเป็นเรื่องราว ขณะนั้นต้องมีจิตที่คิด
สุ. แน่นอนค่ะ มีขณะนี้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังปรากฏเพราะมีจิตเห็น เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่มีเรื่อง ก็เพราะจิตคิดเฉพาะเรื่องนั้น
บง ทีนี้ดิฉันจะเน้นตรงที่ว่า ขณะที่กล่าวว่า สภาพที่คิดไม่ใช่ธรรม จริงๆ ไม่ใช่ ต้องกลับมาคิดว่า ขณะที่มีเรื่องราว มีจิตที่คิดแล้ว
สุ. ถูกต้อง
บง จะเข้าใจให้มากกว่านี้ก็ไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นนามธรรมอีก ก็กลับมาตรงนี้อีก
สุ. ไปติดที่ชื่อว่า นามธรรม แต่ตัวจริงเป็นนามธรรมที่คิด
บง ค่ะ แต่ลักษณะของนามธรรมที่ท่านอาจารย์กล่าว เรายังไม่รู้ตรงนั้น เพราะฉะนั้นขั้นเข้าใจก็ต้องไปตรงนี้ก่อน
สุ. จริงๆ แล้ว สัจจะ คำเดียว ความจริง เพราะฉะนั้นหาความจริงเดี๋ยวนี้ซิคะ ต้องมีแน่นอน หาพบ ก็คือรู้ว่า สิ่งนั้นจริง เป็นสัจธรรม อะไรบ้าง ต้องละเอียดด้วย หาจริงแต่ไม่เจอสักอันหนึ่ง บอกไม่ได้ก็ไม่ถูก ใช่ไหมคะ แต่ว่ามีจริงขณะนี้ อะไรที่จริง
บง ดิฉันเห็นความสำคัญที่ว่า ถ้าเราฟังเรื่องราวไปเรื่อยๆ ตรงนี้ แต่ไม่เน้นหรือมาทำความเข้าใจกับสภาพธรรมที่ปรากฏตรงนี้ ก็ดูเหมือนเรื่องต่างๆ ไม่มีประโยชน์เลยที่ได้ศึกษามา เพราะฉะนั้นทุกคนที่ฟังตรงนี้ จะไปคะยั้นคะยอบอกให้คิดตรงนี้ไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือต้องเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตลอด
สุ. ค่ะ ต้องละเอียด ไม่ใช่การฟังธรรมไม่มีประโยชน์อะไรเหลือเลย ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ ฟังแล้วเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า หรือว่าจำชื่อ เพราะอาจจะคิดว่า กำลังศึกษาธรรม หรือฟังธรรม แต่ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่รู้ว่า อะไรเป็นธรรม แต่ว่ามีชื่อเยอะ ใช่ไหมคะ อย่างสิ่งที่มีจริง ก็เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ นี่คือจำชื่อสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ถ้าบอกว่าขณะนี้เห็น สงสัยหรือเปล่า เห็นไหมคะ เมื่อกี้นี้เราไปจำชื่อเท่านั้นเองว่า สิ่งที่มีจริง มีแน่นอน เป็นสภาพรู้ และไม่ใช่สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ จำชื่อ แต่แทนที่จะไปจำชื่อ เดี๋ยวนี้เห็นมี จริง เป็นสัจจะ ความจริงก็คือว่า มีสิ่งที่ปรากฏ กำลังปรากฏด้วย เพราะจิตเห็น เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เคยรู้เลย ไม่รู้เลยว่า ลักษณะของธาตุชนิดนี้ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่สามารถที่จะเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ เพราะว่าจิตจะเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ และในขณะที่ไม่มีอย่างอื่นเลย มีเพียงจิตเกิดขึ้น ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ขณะนั้นปรากฏความเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าอย่างอื่นไม่มี
นี่คือความจริงของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งต้องอาศัยการฟัง แม้ขณะนี้มีเห็น แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับขั้นที่จะรู้ลักษณะของเห็น เพียงเริ่มฟังแล้วเข้าใจว่า มีเห็น และสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เห็น สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏเพราะจิตเห็น นามธรรมที่เห็นเกิดขึ้น สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงปรากฏได้
นี่ก็เป็นความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามที่กล่าวเลย แต่ถ้าเป็นในครั้งพุทธกาล ไม่มีตัวหนังสือ ยังไม่มีคำว่า “นามธรรม” ไม่มีคำว่า “รูปธรรม” แต่มีสัจธรรม คือ เห็น
เพราะฉะนั้นเมื่อตรัสถามว่า สิ่งที่ปรากฏเที่ยงไหม ถ้าผู้นั้นมีปัญญาถึงระดับที่รู้ว่า เห็นไม่ใช่ได้ยิน และไม่ใช่เพียงขั้นฟังเข้าใจ แต่สะสมมาที่จะกล่าวด้วยปัญญาของตนเองว่า เห็นไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เที่ยง เป็นคำจริงของผู้ที่รู้จริง แต่ผู้ที่ยังไม่รู้ก็จำเรื่องราวของคำจริงนั้นมาพิจารณาว่า จริงแน่นอน แต่ก็ต้องรู้ด้วยว่า ยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงนั้นเลย เพียงแต่เริ่มที่จะรู้ว่า มีจริงๆ แต่ยังไม่ถึงการที่จะประจักษ์แจ้งสภาพที่จริงนั้น เพราะว่าปัญญามีหลายระดับ
ที่มา ...