ทั้ง ๓ ปิฎก ไม่พ้นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อ.กุลวิไล ที่กล่าวว่า การศึกษาพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ทั้งหมดก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็อยากจะเรียนให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความอีกที เพราะว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เพราะว่าสภาพธรรมมีลักษณะเป็นปรมัตถธรรม
สุ. ถ้าไม่มีธรรม จะมีอะไรไหมคะ
อ.กุลวิไล ไม่มีค่ะ
สุ. ก็มีไม่มี แต่เมื่อมีแล้ว ก็มีทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรกำจัดให้หมดสิ้นไป ก็ต้องทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ทั้งโดยนัยของพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เพราะเหตุว่าพระวินัย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจาสำหรับเพศบรรพชิต ซึ่งต่างกัน
นี่เป็นความต่างกัน ไม่ใช่ต่างกันโดยจีวร แต่ว่าต่างกันโดยความประพฤติทางกาย ทางวาจา ซึ่งก็ต้องเกิดมาจากจิตนั่นเอง ถ้าจิตที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น กายวาจาที่ไหวไปก็เป็นอกุศล และสำหรับผู้ที่มีเจตนาสะสมมาที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ก็เป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ ที่สามารถที่จะดำเนินชีวิตไม่ใช่เพียงการขัดเกลาอกุศลโดยการอบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์ แต่ยังขัดเกลาในการให้ชีวิตในวันหนึ่งๆ เป็นไปทั้งกาย วาจา ตามพระวินัยด้วย
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างนั้นจึงมีความประพฤติเป็นไปตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สิ่งใดเหมาะควรกับเพศบรรพชิต ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตามสมควร นั่นก็เป็นส่วนของพระวินัย แต่คฤหัสถ์ก็สามารถศึกษาพระวินัยส่วนใดซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม ก็คงไม่จำกัดเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ใครก็ตามก็สามารถเห็นว่า เป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เหมาะสม แม้เป็นคฤหัสถ์ก็ควรจะประพฤติปฏิบัติตามด้วย โดยไม่จำกัด โดยไม่ต้องไปนับกี่ข้อ เพราะว่าบางคนคิดว่าสำหรับอุบาสกอุบาสิกาก็เป็นนิจศีล ๕ ข้อ หรือถ้ามีศรัทธามากกว่านั้น ก็เป็น ๘ ข้อ คือ ศีลอุโบสถ หรือศีล ๘ หรือว่าบางคนก็อาจจะคิดว่า รักษาศีล ๑๐ อย่างสามเณร แต่จะให้ถึงศีล ๒๒๗ อย่างพระภิกษุ สำหรับคฤหัสถ์เป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่ศีล ๑๐ ก็ยาก ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลอันนี้ก็เป็นไปตามกำลังของปัญญา
ด้วยเหตุนี้แม้พระวินัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่เห็นประโยชน์ สามารถประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลา เพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นไปตามกำลังของอกุศลซึ่งมีกำลัง มิฉะนั้นไม่ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทสำหรับให้พระภิกษุเว้น
สำหรับพระสูตร ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย ให้เห็นชีวิตตามความเป็นจริงว่า แม้วันนี้ความหลากหลายของจิต เจตสิก มากมายนับไม่ถ้วน แม้แต่บุคคลหนึ่ง จิตที่หลากหลายตั้งแต่เช้าจนถึง ณ บัดนี้ก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความคิดต่างกันไป บางคนคิดเรื่องการเกษตร การปลูกข้าว บางคนคิดเรื่องอื่น ก็เป็นความหลากหลายที่มากมาย ณ วันนี้ แต่ถอยไปแสนโกฏิกัป ก็ทรงแสดงชีวิตตามความเป็นจริง ตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ หรือตั้งแต่ครั้งที่บุคคลนั้นก่อนจะได้เป็นพระอริยบุคคล ท่านเกิดเป็นใคร และกว่าจะได้สะสมความรู้ถูก ความเห็นถูกที่จะเข้าใจสภาพธรรม ก็ผ่านชีวิตที่มีทั้งกุศล และอกุศลมากมาย โดยที่เราไม่สามารถคิดให้ถึงว่าจะเป็นได้อย่างนั้นเลย เป็นความวิจิตรมากของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นกาลข้างหน้าจะยิ่งวิจิตรกว่านี้สักแค่ไหน
เพราะฉะนั้นก็มีทั้งพระวินัย พระสูตรซึ่งเป็นตัวอย่างของปรมัตถธรรมของการสะสมต่างๆ นั่นเอง จนกระทั่งถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นธรรมจริงๆ จึงสามารถทำให้บุคคลนั้นได้อบรมเจริญปัญญาดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
แสดงให้เห็นว่า อกุศลมากแค่ไหนคะ ตั้ง ๓ ปิฎก เพียงอภิธรรม ไม่มีตัวอย่างเลย จะเห็นโทษไหมคะว่า ความวิจิตรของความคิดของแต่ละยุคแต่ละสมัยของท่านพระอานนท์บ้าง ในสมัยที่ท่านเกิดเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า ก็เหมือนกับค่อยๆ อบรมจนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมได้
ที่มา ...