สติปัฏฐานจะเกิดได้เมื่อ ...
สุกัญญา ขณะที่มีสติกับหลงลืมสติก็พอจะพิจารณาได้ ทีนี้ความแตกต่างระหว่างมีสติกับสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไรคะ
สุ. ค่ะ สติเป็นโสภณเจตสิก เป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นเราจะไม่ปะปนกับธรรมที่เป็นอกุศลธรรม เราจะพูดง่ายๆ ว่า เดินดีๆ นะ ถ้าไม่มีสติจะหกล้ม ถ้าศึกษาแล้วจะไม่พูดอย่างนั้น แต่จะเป็นเรื่องพิจารณาเข้าใจจิต เพราะว่าจิตมีอยู่ตลอดเวลา และไม่เคยหยุดพัก มีขณะไหนบ้างที่จิตหยุดพัก เราอาจจะคิดว่าเราพักผ่อน นอนหลับ จิตไม่ได้พักเลย จิตทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติที่จะทำให้ต้องมีการเห็น มีการได้ยิน ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีความเข้าใจธรรม ก็จะรู้ได้ว่า ต้องเป็นผู้ละเอียด ไม่ใช่เอาความเห็นของเรา เพียงคำว่า “สติ” เราก็ใช้เองแล้ว แต่ต้องรู้ว่า สติเป็นโสภณ และสติจะเกิดกับโสภณจิต คือ จิตที่ดีงาม เราอาจจะได้ยินคำว่า “กุศลจิต” กุศลจิตต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เราไม่รู้ว่า สติเกิดกับวิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ นอกจากเป็นผู้ละเอียดที่ฟังแล้วรู้ว่า เมื่อเป็นโสภณจิต แม้ขณะที่เป็นวิบาก หรือกิริยา ก็มีสติเกิดร่วมด้วยจึงทำให้จิตนั้นๆ ต่างกันตามการปฏิสนธิ
ด้วยเหตุนี้ขณะใดก็ตามที่ไม่มีกุศล หรือกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นไม่ใช่สติ แต่ขณะใดก็ตามที่มีกุศลเกิดขึ้น เป็นการกระทำทางกาย ทางวาจาก็ตาม ขณะนั้นเพราะสติเกิดขึ้น สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล ในสภาพธรรมที่ดีงาม แต่ความไม่รู้ ทำให้คิดว่า เราจะต้องระลึกเป็นไปในกุศล ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย ไม่ใช่การที่คนหนึ่งคนใดฟังธรรมแล้วจะทำ แต่ฟังให้เข้าใจว่า แม้ขณะนี้ที่เป็นกุศลจิต ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ระดับไหน ถ้าเป็นขณะที่ให้ทาน สติเจตสิกก็ระลึกเป็นไปในทาน จึงมีกุศลจิตในการเอื้อเฟื้อให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ถ้าในขณะที่วิรัติกาย วาจาที่ไม่ดีงาม ขณะนั้นไม่ใช่เรา สติเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงาน ขณะใดที่จิตใจไม่สงบ โกรธ ระลึกได้ มีประโยชน์อะไร ขณะที่หวังร้ายต่อคนอื่น คนอื่นไม่เดือดร้อน ในเมื่อจิตของเขาเป็นกุศล แต่ทำไมต้องหวังร้ายกับคนร้ายๆ เพราะว่าคนร้ายๆ ทำสิ่งร้ายๆ เขาก็ต้องได้รับผลของกรรมอยู่แล้ว ทำไมให้อกุศลจิตของเราไปเกิด ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่จะทำให้กรรมของเขาได้รับผลมากขึ้นหรือน้อยลง แต่ขณะนั้นจิตของผู้ที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นไม่รู้ตัวเลยว่า ทำให้เกิดสภาพธรรมที่ไม่ดีงามเพิ่มขึ้นกับตนเอง
ถ้ารู้อย่างนี้ สติเกิด ไม่ใช่เรา ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่มีประโยชน์เลย แม้ขณะที่กำลังฟังเข้าใจ ก็เป็นสติที่ระลึกในเหตุในผล และมีความเข้าใจ เพื่อปัญญาจะได้เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เป็นทางฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น เพราะว่าทุกคนอยากละอกุศล และอยากให้มีกุศลเพิ่มขึ้น แต่ด้วยความเป็นตัวตน ไม่มีทางจะสำเร็จเลย แต่ถ้ามีความ เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรมทั้งหมด แม้แต่สติหรือปัญญา หรือผัสสะ หรือเจตนาใดๆ ก็ตามที่เป็นเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ ทำกิจปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัวเลย แต่ละขณะที่กำลังเพิ่มขึ้นจากที่ได้สะสมมาแล้ว วิจิตรมาก ไม่ต้องมีใครไปนั่งทำอะไรอีกเลย ถ้าไปทำอะไร ก็คือเข้าใจผิด เข้าใจว่า ธรรมสอนให้ทำ แต่ความจริงให้เข้าใจถูก ให้เกิดปัญญา ให้รู้ความจริง และสภาพธรรมก็จะทำกิจของสภาพธรรม โดยที่เราเลือกไม่ได้ว่า จะให้ปัญญามากๆ เกิดขึ้นเมื่อไร รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ประจักษ์การเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้
ทั้งหมดนี้เป็นสติที่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าสติปัฏฐานก็หมายความว่า คนนั้นมีปัญญา รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่มีลักษณะต่างๆ อย่างขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง กำลังปรากฏ ปฏิเสธไม่ได้ เป็นธรรมลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เสียงปรากฏ มีจริง กำลังปรากฏ ลักษณะที่ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ อย่างมั่นคง สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ แต่ต้องมีความเข้าใจก่อนว่า ขณะนี้เป็นธรรม เมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม ถ้าผิดก็คือแล้วอย่างไรจะรู้จักธรรม นี่ผิดแล้ว แค่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วเกิดความอยากรู้ อยากประจักษ์ธรรม ก็ผิด แต่ฟังแล้วเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏทางตา จนกว่าจะรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อปรากฏทางปัญจทวาร แล้วปรากฏต่อทางมโนทวาร เล็กน้อยมาก เมื่อนั้นก็จะปรากฏลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นขณะนี้ไม่รู้เลยว่า อยู่ในโลกของนิมิต สิ่งที่เกิดดับสืบต่อจนปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีสัณฐานที่ทำให้ยึดมั่นว่า สิ่งนั้นเที่ยง ไม่ได้ดับเลย
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะบอกใครๆ ว่า สติปัฏฐาน คือ ระลึกที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม แล้วก็ไปนั่งระลึกกัน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่ฟังธรรม ประโยชน์คือเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังเพิ่มขึ้น และมั่นคงขึ้นในความเป็นธรรม คือ ไม่ใช่ตัวตน ถ้าจะใช้คำว่า “อนัตตา” ก็คือ ไม่ใช่เรา เป็นธรรมแต่ละอย่าง เมื่อไรที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่หมายความว่าเพียงฟัง แล้วสติปัฏฐานเป็นอย่างไร ก็อยากจะปฏิบัติหรือทำสติปัฏฐาน ต้องเป็นความเข้าใจที่เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นถูก เข้าใจถูกในอะไร ในสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏเลย ก็มีแต่เพียงชื่อ จะกล่าวถึงสัมโพชฌงค์ จะกล่าวถึงอะไรอีกมากมายก็เป็นแต่เพียงชื่อ ในเมื่อขณะนี้ผู้ที่ฟังไม่ได้รู้ด้วยตัวเองว่า เป็นปัญญาที่เริ่มเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพียงเริ่มเข้าใจ แล้วก็รู้ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียด เพราะเหตุว่าขณะนี้ธรรมเกิดดับ ก็ไม่รู้
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความห่างไกลมากของปัญญาขั้นฟังกับขั้นที่จะประจักษ์แจ้งความจริง โดยที่ว่าเป็นการอบรมความรู้เพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่หนทางอื่น
ถ้าไม่เข้าใจว่า สติปัฏฐานคืออะไร อย่าคิดที่จะไประลึกที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม หรือจะไปทำเพื่อให้ประจักษ์การเกิดดับ เป็นเรื่องละคลายความไม่รู้ ซึ่งเป็นปกติ ขณะนี้สภาพธรรมเป็นปกติ ดับแล้ว กำลังฟังเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติ ที่สืบต่อ จนกระทั่งเป็นจริงอย่างที่ได้กล่าวถึง คือ แม้ปรากฏ ก็สืบต่อจนกระทั่งเร็วมาก
ด้วยเหตุนี้กว่าจะคลายความที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นอัตตา ก็ลองคิดดูว่า เคยไม่รู้ และเคยยึดถือมานานแสนนาน ตามปกติ เวลาที่เราจะเห็นผิด เราไม่ได้ไปเห็นผิด ผิดปกติ แต่เห็นผิดในสิ่งที่มีเป็นปกติ ด้วยความไม่รู้
เพราะฉะนั้นกว่าจะสามารถรู้สิ่งที่ปรากฏตามปกติ ด้วยความรู้จริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็ลองคิดดูว่า ต้องอาศัยกาลเวลา ซึ่งต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น
สุกัญญา การเรียนเพื่อทำความเข้าใจสติปัฏฐาน
สุ. เรียนเพื่อเข้าใจ ใช่ไหมคะ
สุกัญญา ค่ะ
สุ. หรือต้องไปทำความเข้าใจ
สุกัญญา เรียนเพื่อเข้าใจสติปัฏฐานในขณะที่ยังไม่เข้าใจพื้นฐานว่า ทุกสิ่งเป็นธรรม มันก็ไม่เกิดประโยชน์
สุ. ถูกต้องค่ะ เพราะเหตุว่าทุกอย่างเราเผินมาก เราคิดว่า เข้าใจ แต่ความจริงแต่ละคำที่ได้ยินต้องเข้าใจถูกต้องตรงยิ่งขึ้น อย่างคำว่า “ธรรม” เหมือนเข้าใจแล้ว ถูกต้องไหมคะ แต่ว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ทุกคำที่ได้ยิน ต้องคิดถึงว่า ความหมาย หมายความถึงสภาพธรรมอะไร และมีหลายระดับอย่างไร แม้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน ก็ต่างขั้นกัน แสดงความจริงว่า ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ แม้แต่สติ ก็มีสติขั้นทาน สติขั้นศีล สติขั้นความสงบของจิต สติที่เกิดพร้อมกับการที่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ใช้ชื่อว่า “สติปัฏฐาน” แต่ถ้าเราเพียงใช้ชื่อว่า สติปัฏฐาน แล้วไม่รู้ว่า สติปัฏฐานคืออะไร ก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้
ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ไม่ใช่เราศึกษา
ที่มา ...