ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งคิดว่า เข้าใจหมดแล้ว
คุณอุไรวรรณ มีคำถามจากอินเตอร์เนต ถามว่า ขณะที่เราฟังธรรม เรื่องสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น เป็นการศึกษาพระอภิธรรมหรือไม่ หรือว่าการศึกษาพระอภิธรรม คือการรู้ว่า จิตมีกี่ดวง มีปัจจัยเท่าไร รู้วิถีจิต อย่างนี้หรือไม่ที่เป็นการศึกษาพระอภิธรรม จะได้อ่านหนังสือมปรมัตถธรรมเยอะๆ ค่ะ กราบเรียนท่านอาจารย์
อ.อรรณพ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม ถ้าเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษา คือ เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าฟังเรื่องสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเรามีความเข้าใจว่า ชีวิตก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏ ก็เป็นพื้นฐานความเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขั้นการฟัง การพิจารณา นั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่า การศึกษาจะต้องฟังแค่ไหน การศึกษาเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ถ้าศึกษาด้วยความเข้าใจก็ประกอบกันที่จะมีความมั่นคงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีการต้องฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ สติปัฏฐาน อย่างเดียว ไม่มีการศึกษาเรื่องเจตสิกกี่ประเภท จิตกี่ประเภท ไม่ใช่อย่างนั้นเลยนะครับ แต่ศึกษาเพื่อการเข้าใจจุดประสงค์ เพื่อให้มีความเข้าใจความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม ศึกษาแล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เป็นพื้นฐาน ถ้าเราจะมุ่งเน้นไปในเรื่องการเข้าใจจำนวนตัวเลขเยอะๆ หรือเรื่องราวมากๆ แล้วเข้าใจว่าต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ต้องเข้าใจรายละเอียดของอภิธรรมทั้งหมด สิ่งใดที่ทรงแสดงไว้ก็จะต้องรู้ให้กระจ่างทั้งหมดเสียก่อน จึงจะมีการอบรมเจริญปัญญา อันนั้นก็ไม่ใช่
เพราะฉะนั้นการที่เรามีพื้นฐานความเข้าใจ เป็นพื้นฐานสำคัญ เมื่อมีพื้นฐานความเข้าใจแล้ว ก็จะรู้ฐานะของตัวเองว่า เราจะเข้าใจอะไรได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งพื้นฐานความเข้าใจก็คือ เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม สภาพธรรมถ้าปรากฏ ก็ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ ไม่มีทางอื่น
สุ. ก็ขอร่วมสนทนาด้วย เพราะเหตุว่าการฟังธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องไตร่ตรอง ฟังแล้วไม่ทราบคิดอย่างไรที่จะไปแยกเรื่องของการศึกษา ตำรับตำรา กับเรื่องที่จะฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งความจริงไม่ได้แยกจากกันเลย เพราะอะไร สมัยนี้ไม่ใช่สมัยก่อนที่จะมีการฟังพระธรรมโดยตรงจากพระโอษฐ์ หรือจากพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งท่านก็จาริกไปสู่สถานที่ต่างๆ เพื่ออนุเคราะห์ให้คนอื่นได้ฟังธรรมที่ท่านเข้าใจแล้วด้วย เมื่อกาลสมัยล่วงมา ก็มีการทรงจำข้อความที่ได้ยินได้ฟัง มีการสังคายนา จนกระทั่งมีการจารึกเป็นพระไตรปิฎกด้วยตัวหนังสือ
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีพระไตรปิฎก เราจะเอาเรื่องเหล่านี้ที่เราพูดถึงมาจากไหน เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครคนหนึ่งคนใดจะคิดขึ้น แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า การศึกษาธรรมต้องละเอียด เพื่อความเข้าใจอะไร ถ้าเราศึกษาหรือสนทนากันแล้วไม่รู้ว่า เราสนทนาเพื่อให้เข้าใจอะไร จะเป็นประโยชน์ไหม แต่ๆ ละครั้งที่สนทนา เราต้องรู้ว่า เราฟังเรื่องอะไร แล้วมีความเข้าใจในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่า เราไม่มีความเข้าใจเลยว่า ธรรมคือเดี๋ยวนี้ เข้าใจว่าเป็นธรรม จะต้องเป็นไปตามปริจเฉท ๑ ๒ ๓ ๔ นั่นก็คือไม่ได้เข้าใจว่า ธรรม จะกล่าวถึงเมื่อไร อะไร ก็สามารถเข้าใจได้ เช่น กล่าวถึงจิต เข้าใจได้ไหมว่า ขณะนี้มีจิต ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เรานึกถึงว่า ห้องนี้มีอะไร กับการที่เรากำลังเห็นจริงๆ ว่า ขณะนี้มีอะไรในห้องนี้ ต่างกัน ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราไม่ต้องคอยไปกล่าวถึงเจตสิกภายหลัง แต่เราสามารถจะเริ่มตั้งแต่ต้นว่า ธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มีจิตเกิดขึ้น โดยไม่มีปัจจัยอะไรเลย และสิ่งที่จิตต้องอาศัย คือ เจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกัน และเจตสิกซึ่งเกิดก็อาศัยจิตซึ่งเกิดพร้อมกัน
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เพื่อจะเข้าใจธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งคิดว่า เราเข้าใจหมดแล้ว เราเข้าใจทั่วแล้ว หรือเราเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียว ถ้าเข้าใจจริงๆ ละกิเลสได้ ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะประจักษ์แจ้งในธรรม ซึ่งเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แต่ธรรมที่เราสนทนากัน ไม่ใช่คิดขึ้นมาเอง แต่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้หมายความว่า เราศึกษาโดยที่เราไม่เข้าใจคำแต่ละคำ เพียงแต่มุ่งที่จะจำจำนวน และเรื่องราวมากๆ อย่าง “โพชฌงค์” คืออะไร ก็ยังไม่รู้ แต่ก็พูด “อิทธิบาท” คืออะไร ก็พูดได้ แต่ก็ไม่รู้ “ธรรม” คืออะไร ก็พูดกันไป แต่ก็ไม่รู้ อย่างนั้นจะมีประโยชน์ไหม
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังมากน้อยเท่าไรก็ตาม ขอให้มีความเข้าใจในสิ่งนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงขาดไม่ได้ที่จะกล่าวว่า การศึกษาธรรมเราต้องอาศัยพระธรรมจากพระไตรปิฎก แต่ต้องศึกษาโดยละเอียด ไม่ใช่แยกไป ไม่ให้ไปศึกษาพระอภิธรรม หรืออะไรอย่างนั้น แต่ต้องเข้าใจว่า ธรรมนั่นแหละเป็นอภิธรรม เมื่อได้แยก ๓ ปิฎก ธรรมที่เป็นความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่เหมาะสมสำหรับเพศบรรพชิต เป็นส่วนใหญ่ ก็แยกเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในครั้งนั้น แต่กาลสมัยถึงยุคนี้ ไม่มีภิกษุณี อันนี้เป็นของที่แน่นอนตามระเบียบ หรือตามการที่ผู้หญิงจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุณี เป็นไปไม่ได้ในยุคนี้
นี่ก็ต้องเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจธรรม และวินัยด้วย มิฉะนั้นแล้วก็สับสน หมายความว่า เราคิดว่าพระภิกษุเหมือนคฤหัสถ์ อันนั้นก็จะทำให้ไม่รักษาพระวินัย ซึ่งแสดงความต่างกันของเพศบรรพชิต และคฤหัสถ์ และสำหรับพระสูตร ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีธรรม หรือไม่ใช่อภิธรรม แต่สามารถจะเข้าใจลึกซึ้งได้แค่ไหน เช่น มรรคมีองค์ ๘ เป็นเราปฏิบัติ หรือเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ๘ ประเภท ที่เกิดขึ้น และปฏิบัติอะไรในขณะนั้น ก็แล้วแต่ว่ามีความเข้าใจหรือไม่เข้าใจเลย ก็ศึกษาตามเรื่องราว ตามชื่อ ก็จะทำให้เข้าใจผิด หรือไขว้เขว
เพราะฉะนั้นก็ต้องประกอบกัน คือ ธรรมที่ได้ฟัง ต้องมีกล่าวถึงเป็นความจริงที่ได้แสดงไว้ ไม่ใช่ความคิดส่วนตัวของใคร สามารถจะอ้างอิงได้ แต่ไม่พอ เพียงแต่จะอ้างอิง แต่ต้องเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นด้วย เพราะเหตุว่าทุกคำที่ได้ทรงแสดง แสดงถึงลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นก็คงไม่เข้าใจผิดที่คิดจะไปแยก
ที่มา ...