การศึกษาปริยัติต้องควบคู่ไปกับการพิจารณาสภาพธรรม
อ.ธีรพันธ์ เมื่อฟังธรรมแล้ว ที่จะให้รู้ความจริง ศึกษาความจริง เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นปัจจัย ปัฏฐาน ที่ว่าด้วยสภาพธรรมที่มีปัจจัย ๒๔ โดยละเอียด ก็กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้นเอง เพราะว่าบุคคลในสมัยนี้ไม่เหมือนกับสมัยพุทธกาล ที่ท่านพูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านก็เข้าใจ ไม่ต้องพูดอะไรมาก เพียงยกหัวข้อขึ้นแสดงแค่นี้ ก็ฟังรู้เรื่อง พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรงลำบากที่จะต้องแสดงมากมาย หรือพระสาวก พระเถระต่างๆ ที่ท่านแสดง ก็สามารถฟังเข้าใจได้ แต่สมัยนี้จะต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การศึกษา ถ้าจะรู้ความจริงแล้ว ก็ไม่น่าจะปฏิเสธ ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาแค่นี้พอ แล้วก็ไปเรื่องปัจจัย ปัฏฐาน คิดว่าไม่รับ ถ้าไม่รับ ก็แสดงว่าจะปฏิเสธความจริงด้วยซ้ำไป แต่ว่าก็อยู่ที่แต่ละคนจะศึกษา จะมีกำลังที่จะศึกษา ก็ไม่ได้บังคับว่า จะต้องศึกษาให้หมด แต่รวมแล้ว สรุปได้ว่า ศึกษาความจริง ถ้าพูดสิ่งใดให้เข้าใจความจริง ก็ฟัง จะเป็นการศึกษา การฟัง การสนทนา ถ้าให้รู้ถึงความจริง จะปฏิเสธหรือครับ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความจริงแล้วก็ทนต่อการพิสูจน์
อ.ธิดารัตน์ พูดถึงเรื่องการศึกษาธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วว่า ทั้งการใส่ใจ สนใจสภาพธรรม และการศึกษาเรื่องราวหรือปริยัติจะต้องควบคู่กันไป เพราะการศึกษาเพียงแค่จำชื่อ จำเรื่อง โดยที่เราไม่เคยพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย ก็จะเป็นเพียงแค่ความจำ จำแล้วก็ลืม แต่ถ้าเรียนแล้วศึกษา แล้วมีการพิจารณาสภาพธรรมควบคู่ไปด้วย ความเข้าใจทั้งการศึกษาปริยัติ และความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏ จะทำให้ความเข้าใจมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ และการศึกษาอย่างนี้จึงจะเป็นปัจจัยให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะว่าการรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ได้รู้เพียงแค่ลักษณะเดียว มีสภาพธรรมหลากหลายลักษณะที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ทั่ว รู้ทั่วแล้วปัญญาก็ยังจะต้องอบรมเจริญขึ้นไปอีก มากขึ้นไปอีก จนกว่าจะละได้ จนกระทั่งถึงสามารถดับกิเลสได้จริงๆ ก็ต้องอาศัยสะสมการฟังทีละเล็กทีละน้อย อย่างท่านที่สามารถฟังแล้วบรรลุได้ในอดีต ก่อนที่จะถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ก็ต้องมีการสะสมตั้งแต่ขั้นการฟังเล็กๆ น้อยๆ และในขณะที่เรามีการฟังธรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็สะสมแล้ว ต่อไปแล้วก็อาจจะมีปัญญาที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถเพียงฟังแล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ทันที
ที่มา ...