รูปเหนื่อยหรือนามเหนื่อย
ผู้ฟัง ข้อ ๒ ถามว่าบุคคลที่เล่นกีฬาแล้วเหนื่อย รูปเหนื่อยหรือนามเหนื่อย แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ชัดเจน เพราะอาจารย์บอกว่า นามเหนื่อย
สุ. ก่อนจะพูดถึงเรื่องนักกีฬา สภาพธรรมมีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มีครับ
สุ. มีนะคะ สภาพธรรมที่มีจริง ต่างกันเป็น ๒ อย่าง สภาพธรรมหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ขณะที่กำลังมีแข็งปรากฏ แข็งมีจริงๆ ไหมคะ
ผู้ฟัง มีครับ
สุ. รู้อะไรได้หรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าเอาเฉพาะแข็ง ก็ย่อมไม่รู้อะไร แต่คนที่เหนื่อยเป็น
สุ. ไม่ได้พูดถึงคน พูดถึงธรรม คุณวิจิตรต้องการเข้าใจธรรม ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ครับ
สุ. ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เวลานี้ทุกคนก็มีแข็งกำลังปรากฏ แข็งสามารถจะรู้อะไรได้หรือเปล่า
ผู้ฟัง แข็งย่อมรู้อะไรไม่ได้
สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นแข็งมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังรู้แข็ง ขณะนี้เดี๋ยวนี้ที่แข็งกำลังปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพรู้แข็ง แข็งปรากฏได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้
สุ. นี่คือความน่าอัศจรรย์ที่ธรรมปรากฏ แต่ต้องตรง เมื่อกี้นี้คุณวิจิตรบอกว่า แข็งไม่รู้อะไร แข็งรู้อะไรไม่ได้ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ทั้งหมด จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรม เรียกรวมว่าเป็น รูปธรรม แต่ลักษณะของรูปแต่ละรูปนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย อย่างเสียง เสียงรู้อะไรได้ไหม
ผู้ฟัง รู้ไม่ได้ครับ
สุ. ค่ะ สภาพที่กำลังได้ยินเสียง มี เป็นสภาพรู้ เสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร สภาพที่เป็นธาตุรู้ กำลังได้ยิน คือ กำลังรู้ลักษณะของเสียงนั้น แม้ว่าสภาพที่ได้ยินไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่สามารถจะรู้แจ้งในลักษณะของเสียงซึ่งเป็นเสียงที่มีลักษณะต่างๆ กันไป ลักษณะที่สามารถรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะเป็นสภาพรู้ แม้มองไม่เห็น อันนี้เปลี่ยนไม่ได้ เข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหมคะ
ธรรม ๒ อย่างต่างกัน เป็นนามธรรมกับรูปธรรม
ผู้ฟัง ขอยกตัวอย่าง ขณะที่แขนอยู่กับตัว
สุ. เดี๋ยวก่อนค่ะ แขนเป็นอะไร
ผู้ฟัง แขนเป็นสมมติบัญญัติ
สุ. มีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ครับ
สุ. เป็นอะไรถ้ามีจริง
ผู้ฟัง ถึงแม้จะเป็นรูป แต่ก็มีนาม
สุ. ถามถึงแขนอย่างเดียว ถ้าจะเข้าใจธรรมต้องตรง ต้องชัดเจน ต้องละเอียด ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าใครๆ ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมได้ แขนมีจริงไหมคะ เป็นอะไรคะ
ผู้ฟัง มีจริง เป็นรูป
สุ. รูปอะไร
ผู้ฟัง รูปแขน
สุ. เป็นอย่างไรรูปแขน
ผู้ฟัง เป็นปฐวี
สุ. เพราะฉะนั้นไม่ใช่รูปแขน ใช่ไหม ปฐวีหมายความถึงอะไรคะ
ผู้ฟัง คือธาตุดิน
สุ. ธาตุดินเป็นสภาพรู้หรือเปล่า ต้องเข้าใจธรรมว่าไม่มีตัว คุณวิจิตรกำลังจะหาว่า เหนื่อยเป็นอะไร เหนื่อยเป็นตัวคุณวิจิตรหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง เป็นครับ
สุ. ก็เลยเป็นตัวตน ไม่เป็นธรรมเสียแล้ว ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน คุณวิจิตรกำลังจะเข้าใจว่า เหนื่อยเป็นธรรมหรือเปล่า และเป็นธรรมอะไร และต้องเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จึงสามารถจะรู้ว่า ขณะที่เหนื่อย เป็นธรรมหรือเปล่า มีจริงหรือเปล่า และเป็นธรรมประเภทไหน
ผู้ฟัง เหนื่อยเป็นธรรม มีจริง
สุ. เป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้
ผู้ฟัง เป็นเรื่องของนามก็จริงอยู่
สุ. จริงก็จริงซิคะ ถ้าเหนื่อยเป็นความรู้สึกไม่สบายแน่ๆ มีใครชอบเหนื่อยบ้างคะ เพราะฉะนั้นขณะนั้นถ้าไม่มีกาย จะเหนื่อยไหม
ผู้ฟัง ย่อมไม่เหนื่อย
สุ. ถ้าไม่มีกายจะหิวไหม
ผู้ฟัง ไม่หิว
สุ. ถ้าไม่มีกาย จะเจ็บไหม
ผู้ฟัง ไม่เจ็บ
สุ. เจ็บเป็นกายหรือเปล่า
ผู้ฟัง เจ็บไม่ใช่กาย
สุ. หิวเป็นกายหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่กาย
สุ. มีธรรมเพียง ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เราศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีตัวตน และไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมอะไรก็ต้องไม่ใช่เราทั้งหมด เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร ก็เป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นธรรมนั้นๆ แข็งก็แข็ง เสียงก็เสียง กลิ่นก็กลิ่น เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ของใคร
สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันไป ก็ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง อย่างกรณีสัตว์ บุคคล ตัวตน มันมีรูปกับนามประกอบกัน
สุ. นามเป็นนาม รูปเป็นรูป
ผู้ฟัง แต่จะต้องประกอบกันเพื่อให้มี
สุ. ถ้ายังรวมกันก็ยังเป็นตัวตน เป็นเรา จนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะเป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะ เมื่อนั้นก็จะค่อยๆ คลายความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นเหนื่อยเป็นอะไร
ผู้ฟัง เหนื่อยเป็นนาม
สุ. ค่ะ ถูกต้อง ถ้าไม่มีกายจะเจ็บไหมคะ
ผู้ฟัง ก็ไม่เจ็บ
สุ. ถ้าไม่มีตา จะเห็นไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
สุ. เพราะฉะนั้นคุณวิจิตรเริ่มจะเข้าใจความหมายของธรรม อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่สามารถจะเกิดขึ้นได้ตามความต้องการ
ทั้งหมดก็มาสู่ความจริง ไม่ว่าจะสงสัยอย่างไร ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่า ทุกอย่างที่เกิดแต่ละอย่าง จะต้องอาศัยเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีกาย ทุกขเวทนา คือ ทุกข์กายเกิดไม่ได้ สุขเวทนาเกิดไม่ได้ อุเบกขาเวทนาเกิดได้ไหม ถ้าไม่มีกาย
นี่คือเราเข้าใจธรรมแล้วเป็นผู้ตรง ด้วยปัญญาของตัวเอง ที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าหลักมีอยู่แล้ว สภาพธรรมมี ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้
เพราะฉะนั้นได้ยินคำอะไร แม้แต่คำว่า “กรอบ” ถ้าอยากเข้าใจ ก็ต้องเป็นปัญญาของตัวเองที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเสียง หรือเป็นแข็ง หรือเป็นอะไร
ที่มา ...