ความน่าอัศจรรย์ของธรรม


    ผู้ฟัง คุณวิชัยคะ ตามที่เรียนตามอภิธรรม ก็กล่าวว่า จิตดวงหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ ดวงใหม่ก็เกิดสืบต่อสะสมทุกอย่างในจิตต่อไป อยากถามให้ละเอียดขึ้นว่า ที่ว่า “สะสม” บางครั้งก็กล่าวว่า เฉพาะตรงชวนะเท่านั้นที่สะสม ก็เลยไม่ทราบว่า จิตดวงนี้ดับแล้วดวงอื่นเกิดต่อไป เราจะใช้คำว่า สะสม ได้ด้วยไหม

    อ.วิชัย ขณะที่เป็นชวนจิตประเภทเดียวกันเกิดดับสืบต่อกัน ซ้ำกันถึง ๗ ขณะ นี่โดยปกติ ก็มีการสั่งสมเป็นปัจจัยให้อุปนิสัยแตกต่างกัน แต่จิตที่เกิดดับสืบต่อ ก็มีการสั่งสมอยู่ เพราะเหตุว่าการสั่งสมที่ผ่านมาก็ไม่ได้สูญหายไปไหน เพราะยังมีการสืบต่อกันของจิตอยู่ ความเป็นปัจจัยก็ยังมีอยู่ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของจิตขณะที่เป็นชวนจิต เป็นอเสวนปัจจัย คือ มีการเกิดดับเป็นปัจจัยให้จิตประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อกันอย่างคล่องแคล่ว ซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ก็เลยสั่งสมความเป็นอุปนิสัย แต่จิตประเภทอื่นไม่ได้สั่งสมอย่างที่เป็นชวนจิต เพราะไม่ได้อเสวนปัจจัย จึงมีแค่การสั่งสมการสืบต่อของอุปนิสัย โดยความเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น และยังมีการสั่งสมอุปนิสัยอยู่ ความเป็นปัจจัยอยู่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวเหมือนกับว่า การที่จิตสะสมทุกอย่าง ถ้าเป็นของก็คงไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหนเลย เพราะเก็บไว้ทุกอย่างหมด แต่เพราะลักษณะของจิต ก็เลยไม่ต้องมีที่เก็บ ก็แปลกดีเหมือนกัน

    สุ. ค่ะ ถ้าพูดถึงแปลกก็แปลก แปลกมาก นอนหลับสนิทกันทุกคน ตื่นขึ้นมาไม่เหมือนกันเลย ใช่ไหมคะ ตอนหลับก็คือไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ขณะที่ไม่ฝัน ไม่คิด ใครจะรู้ว่า ขณะนั้นมีอะไรสะสมอยู่ในจิตอย่างละเอียดมาก เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ที่จะให้ขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นอย่างไร พอตื่นแล้ว อาจจะเป็นเห็น ก็ยังไม่รู้เลยว่า ก่อนนั้นจะต้องมีอาวัชชนจิตเกิดก่อน เห็นทันทีไม่ได้ นี่ก็เป็นความน่าอัศจรรย์ แต่สำหรับผู้ที่สามารถประจักษ์แจ้ง ก็ทรงแสดงโดยละเอียด แม้แต่เจตสิกที่เกิดกับจิตที่กำลังหลับ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่เกิดในมนุษย์หรือในสวรรค์ ก็ต่างกันที่เจตสิกที่เกิดร่วม จะมีปัญญา เกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่หลังจากนั้นแล้ว เป็นจิตขณะซึ่งสืบต่อมา แต่เจตสิกยังเกิดไม่เท่ากัน

    นี่ก็คือความเป็นอนัตตาทั้งหมดของธรรม ถ้ารู้ และพิจารณา ก็จะเห็นได้ว่า เพื่อให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน และไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชา หรือเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าจากภวังคจิตเป็นผลของกุศล ถ้าเป็นมนุษย์ และถ้าประกอบด้วยปัญญา แต่พอถึงขณะต่อไป ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นจิตคนละขณะ แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียงเท่านี้ ๑๐ ดวง ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุทวาราวัชชนจิต ซึ่งขาดสักดวงหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องมีผัสสเจตสิก สภาพนามธรรมซึ่งกระทบอารมณ์ และผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะว่าไม่มีจิตสักขณะเดียวซึ่งปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทนี้ เวทนาเจตสิก็ต้องมี สัญญาเจตสิกต้องมี แต่ว่าเจตสิกที่เกิดกับภวังคจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไป จิตอีกประเภทหนึ่งเกิด มีเจตสิกเกิดต่างกับขณะที่เป็นภวังค์ แล้วพอจักขุทวาราวัชชนจิตดับ เป็นปัจจัยให้จิตอีกประเภทหนึ่งเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง น้อยกว่าขณะซึ่งเป็นอาวัชชนจิต หรือจักขุทวารวัชชนจิต

    นี่คือความเป็นอนัตตา แต่เราก็ไม่เคยคิดถึงความน่าอัศจรรย์ เพราะว่าไม่รู้ ถ้าไม่รู้ ก็จะไม่เห็นความน่าอัศจรรย์เลยว่า ชีวิตวันหนึ่งๆ จากวันนี้เหมือนมีการกระทำต่างๆ มากมาย ทั้งสุข ทั้งทุกข์ รสต่างๆ ปรากฏ พอถึงกลางคืนไม่เหลือเลย ซึ่งความจริงก่อนจะถึงเวลานั้นก็ไม่เหลืออยู่แล้ว แต่ไม่รู้ ไปรู้ตอนเป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีชื่อ ไม่มีคน ไม่มีญาติ ไม่มีพี่น้อง ไม่มีบ้าน ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีอะไรเลย พอเริ่มตื่น มาอีกแล้ว ละคร เล่นไปตามกรรม จะให้เห็น จะให้ได้ยิน จะให้สุข จะให้ทุกข์ จะให้รัก จะให้ชัง คิดเรื่องราวต่างๆ มากมายแล้วก็จบ หลับสนิทอีก ตื่นมาอีก ก็มีปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนี้ โดยที่เมื่อไรจะจบ ถ้าไม่มีปัญญาจบไม่ได้เลย เพราะว่าไม่รู้ไปหมด ไม่รู้ตอนหลับ ไม่รู้ตอนตื่น ไม่รู้ขณะเห็น ไม่รู้ขณะคิด ไม่รู้ขณะเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ก็จะเห็นความต่างกันของขณะที่รู้ขึ้น กับขณะที่ไม่เคยรู้เลย จนกระทั่งถึงขณะที่อบรมไป ชาติไหนจะเป็นอย่างไร ก็คือชาติหนึ่งก็สามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ความเห็นถูก แต่ไม่ใช่วิธีการที่จะไม่เข้าใจแล้วไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    แปลกไหมคะ น่าอัศจรรย์ไหมคะ หรือว่าธรรมดา อย่างรส คิดดู มีอยู่ในรูปทุกรูป ปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่กระทบกับชิวหาปสาท เมื่อกระทบแล้ว จิตต้องเกิดขึ้นจึงสามารถลิ้มหรือรู้ รสนั้นจึงได้ปรากฏได้ ก็เป็นความน่าอัศจรรย์ทุกขณะจิต ยิ่งรู้ถึงปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น เจตสิกแต่ละประเภทเป็นปัจจัยโดยสถานะใด โดยปัจจัยใด ชั่วขณะหนึ่ง ขณะที่สั้นมาก


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311


    หมายเลข 12300
    26 ส.ค. 2567