เข้าใจแต่ละคำเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าทุกอย่างมาจากเหตุ จากปัจจัย ก็จะไม่มีคน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ตามความเข้าใจจากการฟังธรรม ก็จะเน้นเรื่องนี้มากเลยค่ะ
สุ. แล้วอะไรเป็นปัจจัย
ผู้ฟัง ปัจจัยต่างๆ ที่ได้ศึกษามา
สุ. ค่ะ เวลาฟังธรรม ประโยชน์ก็คือว่า เข้าใจแต่ละคำเพิ่มขึ้น อย่างขอกล่าวถึงเมื่อกี้นี้ที่คุณแก้วพูดถึงเรื่องสังขาร แล้วใช้คำว่า ประมวลมา คุณแก้วอยากเข้าใจคำว่า “สังขาร” หรืออยากเข้าใจคำว่า “ประมวล”
ผู้ฟัง ดิฉันไม่เข้าใจคำว่า ประมวลไว้ค่ะ
สุ. แล้วเข้าใจคำว่า “สังขาร” แล้วใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง สังขาร ก็ไปนึกถึง สังขารธรรม สังขารขันธ์ ลักษณะนี้ คือ การปรุงแต่ง ก็เข้าใจอย่างนี้ การประมวล ก็แปลว่ารวม ความเข้าใจก็คิดว่า ทุกอย่างก็คงจะรวมไว้ แต่ไม่กระจ่างค่ะ
สุ. ค่ะ เพราะไม่กระจ่าง เราจึงต้องค่อยๆ เข้าใจแม้แต่คำว่า “สังขาร” อีกหลายนัยด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อกล่าวถึงตรงนี้ จะหมายถึงสังขารอะไร
อย่างสังขารธรรม เข้าใจไหมคะ เป็นสภาพธรรมที่เกิด มีปัจจัยปรุงแต่ง เวทนาเป็นสังขารธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นสังขารธรรม
สุ. แล้วก็เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ
สุ. นี่เข้าใจแล้วนะคะ ความต่างของสังขารธรรมกับสังขารขันธ์
อวิชชาเป็นสังขารธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็เป็นสังขารธรรมด้วย
สุ. แล้วเป็นสังขารในปฏิจจสมุปปาทหรือเปล่า
นี่คือเราต้องมีความละเอียดที่จะต้องรู้ แม้แต่คำที่เราได้ยิน ก็ที่ต่างๆ ถ้าจะกล่าวถึงคำนี้หมายความถึงอะไร ตรงไหน แต่พอพูดถึงอวิชชาเป็นสังขารธรรมหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็นคะ
ผู้ฟัง อวิชชาเป็นสังขารธรรมด้วย
สุ. เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์ด้วย
สุ. เป็นสังขารในปฏิจจสมุปปาท
ผู้ฟัง อวิชชาไม่ใช่สังขารในปฏิจจสมุปปาท
สุ. เพราะอะไร
ผู้ฟัง ก็เพราะอวิชชาทำให้เกิดสังขาร
สุ. เพราะฉะนั้นสังขารในปฏิจสมุปปาทได้แก่อะไร
ผู้ฟัง ได้แก่เจตนา
สุ. นี่ค่ะ คือต้องค่อยๆ เข้าใจ และก็จะมั่นคง และจะไม่สับสนด้วย
แล้วสังขารตอนไหนประมวลมา ปฏิสนธิจิตในแต่ละภพแต่ละชาติ ก็แล้วแต่จะประมวลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิบากในชาตินั้นได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะฉะนั้นถ้าใช้ศัพท์สับสน สับที่ ก็ไม่เข้าใจ หรือจะเอาแต่คำเดียวมา ก็ไม่สามารถเข้าใจได้
ที่มา ...