ในกระจกไม่มีเรา แต่ก็ยังเป็นตัวเราที่ไปส่องกระจก
ผู้ฟัง เหมือนกับเราสะสมสัญญาที่จะจำไม่ตรงตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์ก็พูดว่า ความจริงก็เป็นธรรม ไม่มีเรา อย่างยกตัวอย่าง ท่านอาจารย์พูดเรื่องส่องกระจก ในกระจกไม่มีเรา แต่ทุกครั้งที่เราส่องกระจก ก็คิดว่า เป็นตัวเราที่ส่องกระจกก็เห็นเหมือนตัวเราซ้อนเข้าไปอีก ที่จะถามก็คือว่า เราสะสมสัญญาที่จะจำไม่ตรงตามความเป็นจริงมามากจนกระทั่งท่านอาจารย์พูดเท่าไรว่าไม่เป็นเรา แต่ความจริงเป็นธรรมที่เกิดดับ เราก็ไม่จำ มีเราที่ไม่จำ
สุ. จนกว่าจะเข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง แสนกัปนี่นานไหม วันนี้กี่ชั่วโมง กี่นาที นิดเดียวเองถ้าเทียบกับแสนโกฏิกัป
ผู้ฟัง ความจริงที่เป็นสภาพธรรมที่ตรง จำยากกว่าเรื่องไร้สาระที่เราจำมาก
สุ. ค่ะ ก็ดีที่รู้ ถ้ารู้ตรงความจริงก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็มีวิริยะ ไม่ใช่เรา ที่รู้ประโยชน์ และฟังต่อไปอีก ด้วยความอดทนที่จะรู้ความจริง ความจริงมีอยู่ตลอด แล้วก็ไม่รู้ คิดดูก็แล้วกัน ต้องมีใครมาบอกเราไหมคะว่า อวิชชาแค่ไหน ในเมื่อรู้อยู่ว่า ขณะนี้รู้หรือเปล่า รู้ความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ทรงแสดงให้เข้าใจ แต่ต้องเป็นการอบรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่จะต้องรู้ว่า ปัญญาที่เกิดพร้อมสติสัมปชัญญะอีกระดับหนึ่ง เริ่มที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ได้ทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา และกำลังมีในขณะนี้ด้วย ไม่เคยขาดไปเลยค่ะ
ผู้ฟัง อย่างเรื่องที่เป็นอกุศล และไร้สาระในชีวิตประจำวัน เหมือนกับผ่านมาครั้งเดียวเราก็จำ เช่น โกรธใคร ไม่ชอบใคร แต่ฟังปกิณณกะแผ่นที่ ๑๐ ท่านอาจารย์ก็จะตอบคำถามที่พวกเราถามในปัจจุบันนี้เยอะมาก ก็ฟังเป็นรอบที่ ๔ ก็เหมือนไปจำไร้สาระ แต่ตรงนี้จำได้ไม่ถึง ๑๐%
สุ. เราไร้สาระมานานเท่าไร
ผู้ฟัง แสดงว่าสะสมอวิชชากับโลภะมาเยอะมากๆ
สุ. จนกระทั่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และไม่มีทางจะรู้เลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง
สุ. สาวกค่ะ คือ ผู้ฟัง
ที่มา ...