การอุปมาขันธ์ ๕
ผู้ฟัง ขอถามอาจารย์ธิดารัตน์ที่บอกว่า จิตเหมือนมายากล ส่วนรูป เวทนา สัญญา สังขาร จะเปรียบเหมือนอะไรได้บ้าง
อ.ธิดารัตน์ จะมีข้อความในพระสูตรที่อุปมาไว้ อย่างรูปอุปมาเหมือนกับฟองน้ำใหญ่ ที่มีรูพรุนเล็กๆ และเป็นที่อาศัยของสัตว์เล็กๆ นั่นเอง ก็อุปมาให้เห็นว่า รูปร่างกาย ที่ประชุมกันของรูป ก็ยังมีสัตว์เล็กๆ ในตัว มีหนอน มีพยาธิ มีสัตว์ต่างๆ ที่เป็นที่อาศัย ก็ให้พิจารณาถึงกายนี้ว่าไม่สะอาดนั่นเอง แล้วก็เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย นี่คือรูปขันธ์
ส่วนเวทนาก็จะเหมือนต่อมน้ำที่จะดับอย่างรวดเร็วนั่นเอง ซึ่งท่านอธิบายความเกิดดับของนามธรรมที่รวดเร็วมาก
และสังขารขันธ์ก็จะเหมือนกับต้นกล้วย ซึ่งมีมากมายหลายกาบ แต่ละกาบก็จะไม่เหมือนกัน คือ ความแตกต่างกันของสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นเจตสิกซึ่งมีลักษณะที่ต่างๆ กัน
สัญญาขันธ์ ก็จะเหมือนกับพยับแดด ส่วนวิญญาณขันธ์ก็เหมือนนักเล่นกล ซึ่งสามารถแสดงมายากลได้อย่างรวดเร็ว ก็คือหลอกลวงนั่นเอง
อันนี้คือการอุปมาขันธ์ ๕
ผู้ฟัง คือไม่เข้าใจว่า พยับแดดเป็นอย่างไร
อ.ธิดารัตน์ อย่างเวลาที่ขับรถไป บนถนนเหมือนกับมีน้ำอยู่ ซึ่งเมื่อผ่านที่ตรงนั้นไม่ใช่น้ำ ก็คือแสงแดดที่กระทบพื้นระยิบระยับเหมือนกับแหล่งน้ำนั่นเอง ที่ท่านอุปมาไว้ นั่นคือพยับแดด ก็คือเห็นเหมือนน้ำ แต่ไม่มีน้ำจริงๆ ก็คือภาพลวงตา ถ้าจะพูดด้วยภาษาที่เข้าใจ ซึ่งจริงๆ ท่านก็อุปมาให้เห็นว่า ความจำที่เราจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีสาระ และอย่างสังขารขันธ์ที่มากมาย ลอกกาบกล้วยไปแต่ละอย่าง ก็ไม่มีแก่น ให้เห็นถึงสภาพธรรมที่ไม่มีแก่นสารสาระ ที่ควรจะยึดถือเอาได้เลย เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละชนิดๆ
ผู้ฟัง ยังเหลือเวทนาครับ
อ.ธิดารัตน์ เวทนาก็เหมือนกับน้ำ เวลาที่ฝนตกลงไปน้ำ จะเกิดฟองขึ้นเล็กๆ เขาเรียกว่า ต่อมน้ำเล็กๆ ก็จะดับไปอย่างรวดเร็ว หรือเวลาที่เราซักผ้า จะมีฟองเยอะเลย ฟองนั้นก็จะยิบๆ แล้วก็แตกไป ก็คือความไม่ตั้งอยู่นานของนามธรรมนั่นเอง ซึ่งในพระสูตรนี้ ท่านก็อธิบายว่า แม้ลัดนิ้วมือเดียว เวทนานั้นก็เกิดดับแสนโกฏิขณะ ให้เห็นความรวดเร็วของนามธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
สุ. เข้าใจหรือยังคะ
ผู้ฟัง อย่างความเจ็บปวดอย่างนี้ครับ จะเปรียบเหมือนฟองน้ำอย่างไรครับ
อ.ธิดารัตน์ ถ้าเรารู้สึกเจ็บ เจ็บนาน ใช่ไหมคะ เพราะอะไร เพราะมีจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน รู้มากมาย จริงๆ ก็คือ ขณะที่ทุกขกายวิญญาณเกิด ก็เพียงขณะเดียว ที่ท่านอุปมาเวทนา เหมือนกับจิตด้วย เพราะเวทนาจะต้องอาศัยจิตเกิด จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เวทนาก็เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ไป ๓ อนุขณะ เท่ากับจิตเหมือนกัน ก็คือความรวดเร็วของนามธรรม แต่การสืบต่อกันก็เหมือนกับไม่ดับนั่นเอง
สุ. เข้าใจหรือยังคะ
ผู้ฟัง เข้าใจขึ้นแล้วครับ
สุ. เข้าใจฟองน้ำ หรือเข้าใจเวทนา หรือต่อมน้ำ หรือกาบกล้วย หรืออะไรคะ
ผู้ฟัง เข้าใจเวทนา สัญญา
สุ. เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เวลาคิดถึงเวทนา จะไม่ได้คิดถึงต่อมน้ำ หรือเห็นเป็นต่อมน้ำ ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ใช่ครับ
สุ. เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ คือ เพียงเทียบเคียงให้เห็นความต่างของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งรูปธรรมก็ไม่ใช่นามธรรม และนามธรรมแต่ละชนิดก็ต่างกันไป แต่ไม่ใช่ต่อไปนี้ก็เป็นต่อมน้ำเล็กๆ หรือเป็นกาบกล้วย หรือเป็นอะไรนะคะ
อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ให้คำแนะนำก็ดีนะคะ เพราะว่าจริงๆ แล้ว แต่ละพระสูตร ที่ยกตัวอย่าง พระพุทธเจ้าท่านก็จะชี้สิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวันให้เป็นเครื่องระลึก คือยกขึ้นเป็นอุปมา แต่ละสูตรก็อุปมาไม่เหมือนกันด้วยซ้ำไป แล้วแต่ที่ท่านจะยกขึ้นอุปมาในสูตรใด ก็เพื่อความเข้าใจสภาพธรรมนั่นเอง
สุ. เพราะฉะนั้นไม่ใช่เข้าใจอุปมา แต่เข้าใจสภาพธรรม
ที่มา ...