ต้องมีความเข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา แล้วก็เกิดดับตามเหตุปัจจัย ทีนี้ขณะนี้กำลังฟังเรื่องปัจจัย ๒๔ รู้สึกว่าการเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัยนั้นยากมาก อย่างเช่น อธิปติปัจจัย มี ๒ อย่าง และมีอีกหลายๆ อย่าง ฟังแล้วฟังอีก ก็ไม่เข้าใจว่า สภาพธรรมเป็นเหตุปัจจัยกันอย่างไร

    สุ. เราคิดติดที่ชื่อ และติดที่คำที่ต่างภาษา แต่ถ้าเราสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้จริงๆ เวลาที่เราพบชื่อ และรู้ความหมายของชื่อนั้น เราก็รู้ว่าเป็นธรรมดา แต่ต้องเป็นความรู้จริง อย่างถ้าได้ยินคำว่า อารัมมณปัจจัย ธรรมดาที่สุด ใช่ไหมคะ เพราะเรารู้ว่า จิตเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ถ้าจิตไม่เกิด จะไม่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด อะไรๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นปรากฏ สิ่งอื่นไม่ได้ปรากฏ ปรากฏเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ เพราะจิตกำลังเห็น หรือเสียงปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้นอารมณ์ ก็คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ ถ้าไม่มีอารมณ์ จิตเกิดได้ไหม จิตเกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แม้อารมณ์นั้นที่จิตกำลังรู้ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้จิตเกิด

    ด้วยเหตุนี้เมื่ออารมณ์เป็นปัจจัย จึงมีคำว่า “อารัมมณปัจจัย” และอารัมมณปัจจัยเป็นปัจจัยแก่รูปได้ไหมคะ ไม่ได้เลย ต้องเป็นปัจจัยแก่นามธรรม คือ จิต และเจตสิกเท่านั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะเข้าใจเวลาที่ผ่านคำว่า อารัมมณปัจจัย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความเข้าใจเลย แล้วก็ได้ยินชื่อ แล้วก็แปลได้ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้อะไรเป็นอารัมมณปัจจัยของจิตอะไร

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็คือศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรม แล้วก็มีชื่อที่ต่างกันเป็นภาษาไทยกับภาษาบาลีเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่เวลาฟัง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างว่า โลภมูลจิต มีปัจจัยตั้งเยอะมากเลย ตั้ง ๑๐ กว่าปัจจัย ก็เลยรู้สึกว่ายาก

    สุ. ก็เรายังไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะ แล้วเรายังไม่รู้ว่าขณะที่โลภะเกิดเป็นปัจจัยอะไร เพราะว่าสภาพธรรมก็เป็นปัจจัยด้วย อย่างจิตที่เกิด บางจิตไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะ ไม่มีอโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ว่า ลักษณะของโลภะเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมที่เป็นเหตุ เป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดี มี ๓ เหตุ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นมูล เป็นเหตุของอกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างโมหะก็คือโมหเจตสิก เป็นมูลของอกุศลธรรม ถ้าโมหะไม่เกิด จะมีโลภะไหม จะมีโทสะไหม

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจว่า โมหะเป็นเหตุที่จะให้เกิดโลภะ และโทสะ และแม้โลภะก็เป็นเหตุ โทสะก็เป็นเหตุด้วย เราก็จะรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่เจตสิกเหล่านี้เกิดกับจิต ความเป็นปัจจัยของเจตสิกกับจิตในขณะนั้น คือ โลภะเป็นเหตุ จิตนั้นมีโลภะเกิดร่วมด้วย และมีโมหะเกิดร่วมด้วย โดยความเป็นเหตุปัจจัย

    นี่ก็คือเข้าใจความจริงของสภาพธรรมก่อน ในภาษาที่สามารถเข้าใจได้ แล้วแต่ว่าใครใช้ภาษาอะไร พอได้ยินคำภาษาบาลีก็เข้าใจตรงกันในลักษณะของสภาพธรรม แล้วอย่าหวังว่า เราจะรู้ปัจจัยโดยทั่วทั้งหมด ถ้ากล่าวโดยคัมภีร์ คัมภีร์ปัฏฐานเป็นคัมภีร์สุดท้าย ถ้าไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เป็นนิพพาน อะไรจะไปเป็นปัฏฐาน หรือปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ เมื่อเข้าใจแล้วก็เข้าใจขึ้นอีก เพื่อเห็นความเป็นอนัตตา ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นฟัง ขั้นปริยัติ ไม่มีทางที่ สติสัมปชัญญะ จะเกิด และถ้าเป็นความเข้าใจที่น้อยมาก แม้ว่ามีปัจจัยทำให้สติสัมปชัญญะเกิด แต่ปัญญาระดับนั้นก็ไม่สามารถที่จะทำให้เห็นถูก เข้าใจถูกในการเกิดขึ้น และดับไป หรือในความเป็นอนัตตาของธรรม แม้ว่าศึกษามามาก ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่เกิดแล้วรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ และการสะสมของความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้เห็นว่า เป็นจริงตามที่ได้ศึกษามาแล้ว หรือว่าเข้าใจมาแล้ว ก็เป็นการเข้าใจธรรมตามลำดับค่ะ

    ผู้ฟัง ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ

    สุ. ฟังเพื่อรู้แล้วละความไม่รู้เท่านั้นค่ะ

    ผู้ฟัง ก็จะสะสมปัญญา และอวิชชาเราก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

    สุ. ขณะนั้นก็เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333


    หมายเลข 12404
    26 ส.ค. 2567