อาศัยโลภะ ละโลภะ


    คุณอุไรวรรณ และมีคำถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้นโลภะก็มีประโยชน์บ้าง อันนี้จะเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกคะ

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยคะ โลภะมีประโยชน์ไหมคะ

    อ.วิชัย โลภะไม่มีประโยชน์เลยครับ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของโลภะเป็นความติดข้อง เป็นความยินดี ให้เป็นไปในวัฏฏะ ดังนั้นจึงทรงแสดงว่า โลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาจริงๆ อะไรที่มีประโยชน์ ระหว่างความติดข้องกับความเข้าใจ

    เพราะเหตุว่าโดยสภาพที่ละโลภะได้ มีอย่างเดียวก็คือปัญญา ที่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะค่อยๆ คลายความติดข้องยินดี เพราะเหตุว่าถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ติดข้อง สิ่งที่ยึดถือนั้นคืออะไร เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะยึดถือเลยว่า เป็นของที่เที่ยงหรือยั่งยืน เพราะเหตุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และต้องดับไปในที่สุด

    เพราะฉะนั้นความติดข้องยินดีสามารถเกิดได้โดยมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น โดยสภาพของโลภะไม่มีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าอาศัยโลภะละโลภะ เพราะเหตุว่าสภาพของโลภะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แต่ว่าปัญญาสามารถรู้ในลักษณะของโลภะได้ แม้ในภิกษุณีสูตรกล่าวว่า เมื่อภิกษุเห็นภิกษุรูปอื่นที่สามารถบรรลุมรรคผล และขวนขวายที่จะศึกษาพากเพียร เพราะฉะนั้นโดยสภาพของโลภะ ห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดขึ้น แต่ว่าบุคคลนั้นมีความเข้าใจในหนทางไหม ที่จะให้ถึงการบรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจถูก รู้ถูก มีความเห็นถูก แม้ในขั้นการฟัง เมื่อมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่า ในขณะที่ฟังมีความเข้าใจไหม หรือว่าเป็นความคิดของเราทั้งหมดเลย แม้แต่เรื่องว่านานหรือว่ายากในการที่จะรู้ นั่นก็เป็นเรื่องของความคิด แม้ขณะที่กำลังฟัง ก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ฟัง แต่เป็นความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นให้คิดเรื่องราวต่างๆ แต่เมื่อสติเจริญขึ้น ก็สามารถจะระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงแค่ความคิดที่เกิด อันนั้นก็จะเป็นการค่อยๆ เจริญขึ้นของสติที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นเรื่องของความคิด ยังไม่ใช่ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีการฟังธรรม และมีความเข้าใจ สติก็สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเริ่มมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง ดิฉันก็อยากจะเรียนถามว่า ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ลักษณะของโลภะ เห็นโทษของโลภะ ก็ละโลภะ เริ่มที่จะพิจารณาลักษณะของโลภะ และละโลภะได้ตามสมควร เท่าที่ปัญญาจะมี อันนี้จะเป็นประโยชน์ไหมคะ จากคำว่า “อาศัยโลภะ ละโลภะ” ถ้าสติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ที่จริงถ้าเราจะพิจารณาคำพูดที่ได้ยินได้ฟัง ก็ลองคิดค่ะ ใครก็ตามที่เข้าใจว่า “อาศัยโลภะ ละโลภะ” เห็นว่าอย่างไร หรือว่าเข้าใจว่าอย่างไร มีตัวอย่างไหมคะ

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าง่าย สิ่งที่เราอยากได้ และจะมาละสิ่งที่อยากได้ คือ รู้สึกว่าง่าย แต่ฟังจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ของง่ายเลย

    ท่านอาจารย์ และเป็นไปได้ไหมที่ว่า “อาศัยโลภะ ละโลภะ”

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่เข้าใจเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้เข้าใจอรรถนั้น ไปเข้าใจเหมือนอย่างที่เราเคยไม่เข้าใจว่า เอาโลภะมาละโลภะ ถ้าได้ยินอย่างนี้ แต่ความจริงโลภะจะละโลภะไม่ได้ ต้องเป็นปัญญา


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334


    หมายเลข 12407
    26 ส.ค. 2567