จิตคิด


    ผู้ฟัง ถ้าสมมติคนที่ต้องตัดสินใจว่า จะทำงานต่อ หรือจะหยุดทำงาน ถ้าทุกอย่างเป็นธรรม ในการที่เขาจะทำงานหรือไม่ทำงาน ต้องมีการตัดสินใจในการเลือกว่า จะทำงานหรือไม่ทำงาน แล้วเป็นธรรมอย่างไรคะ

    สุ. รูปตัดสินใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    สุ. เพราะฉะนั้นในขณะนั้นต้องเป็นจิต ใช่หรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    สุ. เป็นคุณอรวรรณหรือเปล่า หรือว่าเป็นจิต

    ผู้ฟัง เป็นจิตค่ะ

    สุ. สะสมมาที่จะคิดอย่างไร เปลี่ยนจากการคิดอย่างนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม คนเราคิดต่างกัน แม้แต่ขณะหนึ่งก็เปลี่ยนได้ ตัดสินใจว่าจะเลี้ยวซ้าย ไปๆ มาๆ ก็เหลียวขวาก็ได้ แต่ต้องเป็นจิต และเจตสิก ไม่ใช่ใครคนหนึ่งคนใด และการตัดสินใจนั้นก็ตามการสะสมที่ได้สะสมมา ที่จะคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราตัดสินใจเลี้ยวซ้าย

    สุ. จิตนะคะ ไม่ใช่คุณอรวรรณ

    ผู้ฟัง แต่เราก็พะวงเรื่องเลี้ยวขวา

    สุ. แล้วก็มีจิตเกิดดับสืบต่อไม่ขาดเลย จะคิดอะไรก็ไม่พ้นจิต เจตสิก

    ผู้ฟัง แล้วเราต้องเชื่อมั่นว่า จิต เจตสิกที่ตัดสินใจนั้นได้สะสมมาแล้ว

    สุ. เวลานี้มีจิต เจตสิกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    สุ. ที่กำลังพูดอย่างนี้ เพราะจิตคิดอย่างนี้ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    สุ. ถ้าจิตคิดอย่างอื่น จะพูดอย่างนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    สุ. แล้วจะสงสัยอะไร เพราะทุกขณะก็คือจิต เจตสิก นี่เป็นเหตุที่เราต้องศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด แม้ในขั้นการฟัง ก็จะรู้ความละเอียดจนกระทั่งไม่มีเราเลยสักขณะเดียว คิดก็เป็นธรรม กำลังเห็นนี่ ให้คิดได้ไหม พร้อมกันกับเห็น คิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    สุ. นี่ก็คือ เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า บังคับบัญชาไม่ได้ และความจริงขณะที่คิด ก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น

    ผู้ฟัง พอท่านอาจารย์อธิบาย ก็ใช่เลย คือ เป็นเรื่องที่จิตเกิดดับ แต่เวลาปกติก็เป็นเรา จะไปซ้าย ไปขวา ก็เลยว้าวุ่นใจ

    สุ. สะสมความไม่รู้เรื่องจิตมานานเท่าไรแล้วคะ สำคัญว่าจิตเป็นเรามานานเท่าไรแล้ว

    ผู้ฟัง คงนานมากๆ

    สุ. แล้วก็ฟังแค่ไหน นานเท่าไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้เราไปทำอะไรเลย แต่สภาพธรรมใดเกิดแล้วปรากฏ เข้าใจลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะต้องเป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูป อย่างหนึ่งอย่างใด เกินกว่านี้ไม่ได้ค่ะ

    ผู้ฟัง ก็จะลืมอยู่เรื่อยเลยค่ะ

    สุ. เป็นของธรรมดาหรือเปล่าคะ ลืมอย่างอื่นไม่ลืม ไม่ลืมว่ามีเรา เป็นตัวตนนั่งอยู่ที่นี่ แต่ลืมว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะไถ่ถอนความทรงจำที่เคยจำไว้หนาแน่น เหนียวแน่นว่า มีเรา ไม่เข้าใจว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง อย่างว้าวุ่นใจ เราก็ไปคิดว่า

    สุ. ว้าวุ่นใจเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นค่ะ เราก็ไปคิดว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    สุ. คิดเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นค่ะ

    สุ. คิดก็คิด

    ผู้ฟัง แต่คิดแล้วเหมือนมีเราว้าวุ่นใจอยู่นั่นแหละ

    สุ. ว้าวุ่นใจดับไหมคะ

    ผู้ฟัง ดับค่ะ

    สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นว้าวุ่นใจเป็นเราจริงๆ หรือขณะนั้นไม่รู้ จึงเป็นเรา

    ผู้ฟัง ไม่รู้จึงเป็นเรา

    สุ. เมื่อไรจะรู้

    ผู้ฟัง เมื่อปัญญาถึง

    สุ. ค่ะ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334


    หมายเลข 12412
    26 ส.ค. 2567