ปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก ๑ ใน ๘ ดวง – หลงลืมสติ


    อ.กุลวิไล มีต่อค่ะ ท่านอาจารย์ เพราะว่าเขาเข้าใจว่า การเป็นมนุษย์ นี่แน่นอนถ้าปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก ๑ ใน ๘ ดวง มีสติเกิดร่วมด้วย ก็เลยเข้าใจว่า ทุกคนต้องมีสติ และสงสัยคำว่า “หลงลืมสติ” เกิดขึ้นได้อย่างไรคะ

    สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า จิตเกิดแล้วดับ แล้วจิตที่ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย ขณะเกิดเป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบาก หรือจะใช้คำว่า “กามาวจรวิบาก” ก็ได้ ซึ่งมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน แต่ทำกิจอะไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าจิตแต่ละขณะที่เกิดต้องทำกิจหนึ่งกิจใด ก้าวก่ายสับสนกันไม่ได้เลย จะไปเลือกขอให้จิตอื่นมาทำหน้าที่ของจิตนี้ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกเกิดแล้ว ทำกิจอะไร ทำปฏิสนธิกิจ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีจิตเกิดคั่นเลย ตาย คือ ขณะจิตสุดท้ายทำกิจจุติ ทำกิจ คือ เคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นคนนี้อีกไม่ได้เลยสักขณะจิตเดียว ไม่มีทางที่จะเป็นต่อไปได้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ และจิตที่เกิดต่อ ไม่มีระหว่างคั่น ทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ โดยจิตใกล้จะตายเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าจิตใกล้จะตายเป็นอกุศล ปฏิสนธิจิตก็เป็นอกุศลวิบาก ถ้าจิตใกล้จะตายเป็นกุศล ก็แล้วแต่ว่าเป็นระดับของกุศลขั้นไหน ก็ปฏิสนธิในภพภูมิตามกุศลขั้นนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลของกุศล ก็มีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ทำกิจปฏิสนธิ ใครรู้ตัวบ้าง ปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่ใช่กิจเห็น ไม่ใช่กิจได้ยิน ไม่ใช่กิจที่เป็นโลภะ โทสะ อโลภะ อโทสะเลย แต่ว่าทำกิจสืบต่อ เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่รู้เลยว่า เกิดที่ไหน และเป็นใคร โลกนี้ไม่ได้ปรากฏเลย จะเกิดในนรก นรกก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เป็นชั่วขณะที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย ก็ไม่ได้ทำกิจหน้าที่อื่น นอกจากปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ว่าเป็นอย่างนั้นตลอดกาลได้ไหมคะ เกิดมาแล้ว ปฏิสนธิจิตดับไป จิตที่เกิดสืบต่อก็ดำรงภพชาติทำภวังคกิจ ที่เราใช้คำว่า “ดำรงภพชาติ” คือ ภว + อังค ทำกิจดำรงความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย สิ้นสุดกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนั้น ก็จะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ได้มีเพียง ๒ กิจ จิตไม่ได้เกิดขึ้นเพียงทำปฏิสนธิกิจ ดับไป แล้วจิตที่เกิดต่อทำภวังคกิจสืบต่อ จนกว่าวิถีจิตที่อาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลก โลกนั้นจึงปรากฏ โลกที่เกิดมานั้น

    จะเห็นได้ว่า วาระแรกต้องเป็นมโนทวารวิถีทุกภพชาติ และมโนทวารวิถีวาระแรกก็คือ โลภมูลจิต ติดข้องทันที รู้ตัวหรือเปล่า ไม่รู้เลย ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อสะสมความติดข้องไว้นานแสนนาน เป็นปัจจัยที่สะสมอยู่ในจิต ด้วยเหตุนี้เวลาที่เห็น โลภะเกิด ติดข้อง เวลาที่ได้ยิน โลภะเกิด ติดข้อง จะให้สติเกิดได้ไหม เพราะว่าไม่ใช่กาลที่สติจะเกิด ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจิตประเภทใดก็ตาม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นเวลาเกิดมาแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นนก เป็นสัตว์เดรัจฉาน อกุศลจิตเกิดมากหรือกุศลจิตเกิดมาก มีเหตุ คือ การสะสมนานแสนนานมาแล้ว ด้วยความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นโสภณที่สะสม เทียบแล้วน้อยกว่ามากเลย

    ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ว่าภวังคจิตจะมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นทำกิจการงาน จนกว่าเมื่อไรมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เป็นกุศลจิตขณะนั้น

    อ.กุลวิไล เพราะจิตมีกิจตั้ง ๑๔ กิจ และในวิถีจิตที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะก็มีถึง ๔ ชาติ มีทั้งชาติอกุศล กุศล วิบาก กิริยา เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาส่วนของพระอภิธรรม ก็จะเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง แล้วจิตที่ทำชวนกิจมีทั้งที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งไม่รวมถึงกิริยาจิตของพระอรหันต์ ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมในแต่ละวันนั่นเองที่จิตจะแล่นไป หรือเป็นไปด้วยอกุศลจิตรึกุศลจิต ไม่ได้มีสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่มีสติเจตสิกแล้ว จะมีจิตดวงนี้ดวงเดียว

    สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมตามลำดับให้เข้าใจถูกต้อง จึงคิดเองค่ะ มีข้อความใดๆ ก็ตามที่ผ่านจากส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎกสั้นๆ คิดเองตลอด เช่น เมื่อเป็นผลของกุศล ซึ่งมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วทำไมถึงเป็นอกุศล นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เข้าใจ แต่คิดเอง แต่ถ้าเป็นการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรม มีพื้นฐานที่มั่นคง ไม่สับสน ก็สามารถเข้าใจแล้วไม่เกิดความสงสัยอย่างนี้ เพราะเหตุว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะสติสัมปชัญญะที่เป็นการสะสมมา อกุศลที่สะสมมาก็พร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336


    หมายเลข 12422
    26 ส.ค. 2567