เริ่มอบรมความเข้าใจถูกในความเป็นธรรมคืออย่างไร


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ จากที่ทราบก็คือ การที่จะเห็นต้องมีสีกระทบกับจักขุปสาท แล้วสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องมีจิตเกิดขึ้น ก็คือจักขุวิญญาณ การที่จักขุวิญญาณก็เป็นผลของกรรม ตรงนี้หรือเปล่าที่ว่าอัศจรรย์ เพราะว่าไม่รู้ว่ากรรมไหนจะให้ผล ท่านอาจารย์เน้นอยู่เสมอว่า เรื่องการเกิดเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะว่าเกิดขึ้นโดยที่ผลของกรรมเกิดแล้วไม่รู้ว่า ขณะไหน เมื่อไร

    สุ. ค่ะ ธรรมเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ แม้แต่ธาตุรู้ ไม่มีรูปร่างเลย แต่สามารถเห็นขณะนี้ ได้ยิน คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ นั่นก็เป็นนามธาตุ เป็นธาตุรู้ ก็น่าอัศจรรย์ทั้งหมด แม้แต่รูป อย่างเสียง ดูเป็นธรรมดา แต่ว่าต้องมีสมุฏฐาน เสียงจึงเกิดได้ ทุกอย่างต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าจะเลือกให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดได้

    นี่คือความน่าอัศจรรย์ของธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เลือกก็ไม่ได้ แต่แล้วพร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะให้ธรรมใดเกิด ธรรมนั้นจึงเกิดได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่เข้าใจยากก็คือ ไม่มีรูปร่าง

    สุ. แต่ก็มีการเห็น ธาตุเห็น

    ผู้ฟัง แต่การที่จะรู้ตรงนั้น รู้ด้วยใจ

    สุ. ต้องฟัง เหมือนอย่างท่านผู้ถาม ฟัง ฟัง ฟัง ก็ไม่รู้ แค่ฟังแล้วจะรู้หรือคะ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่เข้าใจว่า ปัญญามีหลายระดับ ต้องเป็นขั้นของสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่กำลังรู้ลักษณะจริงๆ ที่เป็นธรรมแต่ละลักษณะ และไม่ใช่เลือก และไม่ใช่ทำ และไม่ใช่หวัง เป็นเรื่องของการอบรมปัญญาจนกว่าเมื่อสภาพนั้นเกิดขึ้น จึงเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด กับขณะที่เกิด ก็รู้ความต่างว่า ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะที่เป็นฐานะ เป็นที่ตั้งของสติ ซึ่งลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ปัญญาจะไม่รู้ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็เป็นเพียงคิดนึกเรื่องการเกิดดับ แต่ในเมื่อสติปัฏฐานเกิด แล้วก็รู้ลักษณะซึ่งเกิดแล้วดับ เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น คลายความไม่รู้ คลายความติดข้อง สามารถจะรู้ลักษณะที่ต่างๆ กันด้วยความละคลาย ไม่ใช่ด้วยความจงใจติดข้อง เพราะ

    เรื่องละโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องถึงที่สุดของโลภะ จึงสามารถถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมของนิพพานได้ แต่ถ้ายังมีโลภะ มีความติดข้อง มีเยื่อใยความเป็นตัวตน ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของนิพพานธาตุได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม จึงต้องเข้าใจ อะไรเป็นปัญญา ถ้าฟังเพียงจำชื่อ ตอบได้ จิตมี ๘๙ ดวง เป็นปัญญาหรือเปล่า หรือจำอะไรก็จำได้ทั้งนั้น ประเทศนี้มีอาณาเขตเท่าไร มีพลเมืองเท่าไร นั่นก็คือจำ

    เพราะฉะนั้นถ้าจำว่า จิตมี ๘๙ ประเภท ก็คือแค่จำ ไม่ได้เข้าใจอะไร เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่จำ แต่เป็นเรื่องรู้ว่า ธรรมคืออะไร อยู่ที่ไหน ฟังเรื่องอะไร และค่อยๆ เข้าใจสิ่งนั้นขึ้น แม้ในขั้นการฟัง จนกระทั่งรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังเริ่มรู้ลักษณะ ค่อยๆ รู้จักลักษณะที่ได้ศึกษา ได้ฟังมานานแสนนาน จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้นที่จะกล่าวว่า ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ แค่นั้นจะเข้าใจได้อย่างไร แค่ฟังนิดเดียว และความไม่รู้นานเท่าไร เพราะฉะนั้นให้มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจอื่น แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนี้แหละ ข้ามไม่ได้ ถ้าข้ามไป พูดเรื่องพละ เรื่องอินทรีย์ พูดเรื่องอะไรก็ตามแต่ แต่ขณะนี้แม้เพียงสภาพที่ปรากฏ สติสัมปชัญญะไม่เคยรู้ตรงนั้นที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม หรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการตั้งต้นที่จะมีความเห็นถูก จนกระทั่งถึงความจริงของสภาพที่เกิดดับที่เป็นอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่ดิฉันจะพูด ดิฉันจะพูดว่า ธรรมเป็นเรื่องลึกลับ ปัญญาของดิฉันพูดได้แค่ว่าลึกลับ ไม่ได้ว่าลึกซึ้งหรอก

    สุ. อวิชชารู้ไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นเพียงขั้นฟังเรื่องราว ยังไม่ถึงการรู้ลักษณะ ก็ไม่สามารถรู้จักธรรมได้เลย จึงต้องมีอริยสัจ ๔ ๓ รอบ ขาดไม่ได้ค่ะ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ ถ้าใครไม่รู้จัก ๓ รอบนี้ ก็คือว่า ไม่ต้องพูดถึงเลย การจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นไปไม่ได้แน่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเหมือนกับว่า การที่จะรู้ว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏ ควรจะใส่ใจด้วยว่าปรากฏที่ไหนหรือคะ

    สุ. มีความมั่นใจ ไม่ใช่ไปนั่งคิดค่ะ เวลานี้อะไรปรากฏ เป็นของแน่นอนอยู่แล้วว่า กำลังปรากฏ แต่อวิชชาไม่รู้ เพราะฉะนั้น การฟังเพื่อละความไม่รู้ โดยเข้าใจแม้เรื่องราวก็ละความไม่รู้ที่เกิดจากการไม่เคยได้ยินได้ฟังเลยเท่านั้นเอง แต่ก็ต้องรู้ว่า เพียงเท่านี้ ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ จนกว่าสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานจะเกิด

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ การฟัง ทำไมเราคิดเรื่องอื่น แต่ละคนวันนี้คิดต่างกัน เพราะมีความใส่ใจ สนใจ และจำเรื่องที่คิด ก็เป็นปัจจัยให้คิดเรื่องนั้น มีเรื่องตั้งเยอะแยะ ทำไมคิดเรื่องนี้ละคะ ตื่นขึ้นมา ก็มีปัจจัยที่ทำให้คิดถึงเรื่องนั้น ฉันใด มีเรื่องตั้งเยอะแยะ แต่คิดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงคิดที่จะฟังให้ละเอียด ให้เข้าใจ เป็นเรื่องละคลายความไม่รู้ แสดงว่าความไม่รู้มากมายมหาศาลแค่ไหน เพราะฉะนั้นแม้แต่จะคลายความไม่รู้ ก็ต้องอาศัยการฟังด้วยดี ด้วยการพิจารณา ด้วยการค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    นี่คือการอบรม นี่คือบารมีของสาวก คือ ผู้ที่จะรู้แจ้งตามพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งด้วยตัวเอง ก็ต้องมีชีวิตเป็นปกติธรรมดา และเกิดนึกถึงแม้คำว่า “ธรรม” แม้คำว่า “อนัตตา” ก็เพียงเท่านั้นเพราะจำ แต่ถ้าไม่ใช่เพียงแค่นึกถึง แต่มีลักษณะที่สติกำลังรู้ด้วย นี่ก็คือเริ่มอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก่อนถึงขั้นที่สติเกิด ถ้าฟังอย่างนี้ ขั้นเข้าใจ ดิฉันก็เข้าใจว่า มีธรรมเกิดอยู่ ๖ ทาง และขณะนี้เป็นทางไหน นี่เป็นช่องทางแรกหรือเปล่าที่มีการไปสู่สติปัฏฐาน ระลึกถึงสภาพธรรมแต่ละขณะได้

    สุ. อย่างทางตา ธรรมปรากฏเมื่อจิตเห็น แค่นี้ถึงลักษณะของธรรมที่ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ไม่ถึง

    สุ. ก็ไม่ถึง เมื่อไม่ถึง แต่จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงค่ะ

    สุ. เพราะฉะนั้นอบรมเพื่อที่จะรู้ความจริงได้ไหม มีหนทางหรือเปล่า ถ้าไม่มีหนทาง อวิชชาก็ยังคงปิดกั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทางนี้เป็นทางเดียว เป็นทางที่ลึกซึ้งด้วย เป็นทางที่ไม่ง่าย เพราะอะไร เพราะสะสมความไม่รู้มานานจนประมาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้สภาพธรรมกำลังปรากฏ มีการได้ยินได้ฟังเรื่องธาตุที่กำลังปรากฏ กว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้เกิดค่อยๆ เข้าใจ เพียงปรากฏ ถ้าเพียงปรากฏ จะเดือดร้อนไหมคะ ถ้าไม่มีเรื่องอะไรจากสิ่งที่ปรากฏให้กังวล ให้ต้องคิด ให้เป็นห่วง ให้ติดข้อง ถ้าไม่มี ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งความจริง ประจักษ์แจ้งความจริงจนสามารถดับกิเลสได้ ไม่มีทั้งโลภะ โทสะ และโมหะในสิ่งที่กำลังปรากฏ และผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อตัวเราจะรู้ ถ้าเพื่อตัวเราจะรู้ ก็จบอีกเหมือนกัน คือ ไม่รู้ เพื่อไม่ใช่เรา เข้าใจก็คือเข้าใจ ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ ก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ค่ะ ท่านอาจารย์จะยกตัวอย่างว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่เสมอ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เน้นที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทุกทวารที่เกิดขึ้นน่ะค่ะ

    สุ. ตัวอย่างที่เห็นง่าย ขณะนี้ใครไม่เห็นบ้าง ทุกวัน และไม่เคยจะค่อยๆ รู้ แล้วเมื่อไรจะรู้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338


    หมายเลข 12426
    25 ส.ค. 2567