ลักษณะความเป็นจริงของสภาพธรรมปรากฏกับปัญญา


    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่า พระโสดาบัน เวลาท่านอายุมากๆ แล้วท่านจะหลงลืมเหมือนปุถุชนไหมคะ

    อ.นิภัทร พระโสดาบันท่านยังมีโมหะ อยู่หรือเปล่าละครับ โมหะท่านละได้หรือยัง ท่านก็ยังไม่ได้ละ พระโสดาบันท่านละความเห็นผิดได้แน่นอน สักกายทิฏฐิละได้แน่นอน และวิจิกิจฉา ละความสงสัยในพระรัตนตรัย ท่านละได้แน่นอน ท่านไม่สงสัยในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ส่วนความหลงนั้น ผมว่าก็มียังมี แต่ไม่ได้หลงแบบงมงาย หลงธรรมดาก็ต้องมี หลงลืมนั่นลืมนี่ เป็นธรรมดา ท่านยังละโมหะไม่ได้ ไม่ทราบว่า ท่านอาจารย์จะช่วยสงเคราะห์อย่างไร

    สุ. เรากำลังศึกษาเรื่องอะไรคะ

    ผู้ฟัง เรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    สุ. เรื่องธรรม ไม่มีใครสักคน แต่มีจิตประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสภาพที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อวิชชารู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    สุ. แล้วก็ผู้ใดที่จะละกิเลสได้หมด

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ค่ะ

    สุ. พระอรหันต์มีโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    สุ. ไม่มีแม้อุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วยด้วยก็ไม่มี แสดงว่าดับกิเลสหมดสิ้นไม่เหลือเลย แต่ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกิเลสไหมคะ

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    สุ. มีโมหอุทธัจจสัมปยุตต์ไหมคะ

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    สุ. เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาหรือเปล่า ซึ่งเรากล่าวถึงธรรมเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป และเข้าใจหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงแต่สงสัยไปหมดเลย คนโน้นคนนี้เป็นอย่างไร แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่รู้

    เพราะฉะนั้นเราจะไม่หมดความสงสัยเลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และก็จะคิดทุกอย่าง คิดไปหมดเลย แต่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า

    นี่คือความละเอียด เมื่อกี้ได้ฟังเรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ เรื่องธาตุ เข้าใจไหมคะ

    ผู้ฟัง ก็พอเข้าใจบ้างค่ะ

    สุ. ขณะนี้ขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง รูปขันธ์

    สุ. รูปขันธ์มีหลายอย่าง หรืออย่างเดียว

    ผู้ฟัง หลายอย่างค่ะ

    สุ. อะไรบ้างที่เป็นรูปขันธ์ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สี เสียง กลิ่น รส

    สุ. ค่ะ ตอบได้หมดเลย แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่จะกล่าวว่าเป็นขันธ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มันยากค่ะ

    สุ. แต่ฟังเข้าใจขึ้นได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ได้ค่ะ

    สุ. อย่างแม้จะกล่าวว่า “ธรรม” ซึ่งต่างกันเป็น ๒ อย่าง นามธรรม เป็นสภาพที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ทุกคนรับรองใช่ไหมคะ ไปมองหาก็ไม่เห็น อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถมีรูปหนึ่งรูปใดเจือปนได้เลย แต่เป็นธาตุรู้ จำ คิดนึกต่างๆ นี่เป็นนามธรรมต่างกับรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ธรรมมี ๒ อย่าง นามธรรมหลากหลายไหมคะ

    ผู้ฟัง หลากหลายค่ะ

    สุ. รูปธรรมหลากหลายด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ด้วยค่ะ

    สุ. รูปเกิดขึ้นแล้วดับไปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดแล้วดับไปค่ะ

    สุ. รูปที่เกิดแล้วดับไปแล้ว กลับมาอีกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ค่ะ

    สุ. นี่คือเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่แม้เป็นสภาพที่ปรากฏ เหมือนไม่ดับเลย แต่ความจริงดับ แล้วก็มีปัจจัยให้เกิดแล้วก็ดับ มีปัจจัยให้เกิดแล้วก็ดับ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จึงเข้าใจความหมายของขันธ์ ไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเกิดหลากหลาย จึงได้แสดงลักษณะความหลากหลายของรูป รูปหยาบมีไหม รูปละเอียดมีไหม เป็นต้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะรู้ลักษณะของขันธ์จริงๆ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราจะกล่าวได้ไหมว่า เสียงนี่ต่างกัน เสียงหนึ่งดับไปแล้ว อีกเสียงหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว แม้เสียงก็ยังต่างกัน เพราะฉะนั้นแม้รูปขันธ์ก็หลากหลายตามปัจจัยที่เกิดขึ้น โดยที่ว่า ขณะนั้นปัญญาระลึกรู้ลักษณะของเสียง แต่ละเสียงตามปกติ จึงสามารถเข้าใจในอรรถของคำว่า “ขันธ์” ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ และต่างกันไป ฉันใด ความรู้สึกที่เป็นเวทนา ที่ใช้คำว่า ขันธ์ ไม่ใช่เพียงกล่าวว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รู้ขันธ์ที่เป็นนามขันธ์แล้ว ไม่ใช่ แต่จะกล่าวอย่างนี้โดยที่ไม่รู้เลย ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นการที่จะกล่าวว่า เป็น “ขันธ์” ก็คือ กำลังรู้ลักษณะสภาพความรู้สึก และความรู้สึกนั้นเกิดดับ และต่างกันไปด้วย ความรู้สึกพอใจกับความรู้สึกโสมนัส ดีใจ ความรู้สึกเฉยๆ เป็นลักษณะที่ต่างกัน ไม่ใช่เพียงคิดว่าต่าง แต่ลักษณะจริงๆ นั้นต่าง ด้วยสติที่กำลังรู้แต่ละลักษณะที่ต่าง จึงเป็นเวทนาขันธ์ แม้เวทนาที่เป็นความรู้สึก ก็เกิดแล้วก็ดับไป และต่างกันไป และไม่กลับมาอีกเลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จะคลายความยึดมั่นไหมคะ ไม่ว่าความรู้สึกใดๆ จะปรากฏชั่วคราว ไม่มีตัวตนที่จะไปยึดให้สิ่งนั้นไม่ดับ หรือจะไปทำให้สภาพใดเกิดขึ้นก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ คลายการที่จะต้องเดือดร้อน เพราะเหตุว่าบังคับไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แล้วก็มีปัจจัยที่จะต้องเกิดเป็นไปตามปัจจัยนั้นๆ ด้วย ทุกขณะ ทุกภพทุกชาติ การฟังธรรมเพื่อให้คลายความเป็นตัวตน การที่เคยหลงยึดถือสภาพธรรมทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ โดยไม่ใช่เพียงจำชื่อ หรือคิดว่า จำขันธ์ ๕ ได้ จำธาตุ ๑๘ ได้ จำอายตนะ ๑๒ ได้ นั่นไม่จำเป็น เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่ทรงแสดง ประมวลมาเพื่อที่จะให้เห็นว่า แม้จะมีความหลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็ไม่พ้นจากอาการหรือสภาวะที่ปรากฏด้วยปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว จึงสามารถรู้ความเป็นจริงนั้นๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นขันธ์ ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นอายตนะ แต่ต้องมีลักษณะความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญา

    ผู้ฟัง สรุปแล้วพระโสดาบันยังขี้ลืมอยู่ไหมคะ

    สุ. ค่ะ เห็นไหมคะ พระโสดาบันหรือสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนี้ที่กำลังคิดเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นนามขันธ์

    สุ. นามขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง คือไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไปสงสัย ไปคิดที่จะรู้อื่น แล้วจะรู้ได้ไหม โดยการศึกษาตามที่กล่าวเมื่อกี้นี้ พระโสดาบันเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ

    สุ. พระโสดาบันยังมีอกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    สุ. พระโสดาบันยังมีโลภมูลจิตไหม

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    สุ. มีโทสมูลจิตไหม

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    สุ. มีโมหมูลจิตไหม

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    สุ. นั่นแหละค่ะ คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338


    หมายเลข 12427
    25 ส.ค. 2567