รู้ว่าเรื่องที่คิดไม่จริงแต่จะหยุดคิดได้ไหม


    ผู้ฟัง การที่เราคิด เห็นเป็นคน เป็นโต๊ะ ทำให้ชีวิตเราดำเนินไปได้ในโลกนี้ ใช่ไหมครับ แต่ก็ไม่ใช่ของจริง เพราะเป็นคิด ตรงนี้ยังเข้าไม่ถึงครับ

    สุ. ค่ะ ฟังแล้วต้องเข้าใจธรรม เป็นอนัตตา ถ้าคิดที่จะหยุดคิดที่จะทำอะไร ก็คือไม่เข้าใจธรรมว่าเป็นอนัตตา ถูกต้องไหมคะ

    ผู้ฟัง ถูกต้องครับ

    สุ. เกิดมาไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ไม่ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ต้องคิดนึกเลยมีไหม

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    สุ. ปกติธรรมดาทุกวัน เห็น บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    สุ. นี่คือธรรม เพราะฉะนั้นแต่ละวันผ่านไปโดยเราไม่รู้ความจริงว่า จิตเกิดขึ้น และรวดเร็วแค่ไหน จนกว่าจะได้ฟังความละเอียดว่า แม้ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ไม่รู้อะไรเลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ก่อนเห็นก็มีจิตเกิดแล้ว ที่เป็นวิถีจิต อันนี้ก็ละเอียดต่อไปอีก แต่จริงๆ การฟังธรรม ไม่อยากจะให้ข้ามไปเร็วๆ ๆ ๆ แล้วก็ไปจำชื่อทั้งหลายไว้ แต่มีความเข้าใจความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น อันนั้นจึงจะเป็นการฟังธรรมเพื่อรู้ความจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่รู้ชื่อ

    ก็ขอถามที่ได้ฟังมาเมื่อกี้นี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ฟังแล้วมีความเข้าใจมั่นคง ไม่คลอนแคลน และไม่ต้องไปท่องอะไรเลย เมื่อมีความเข้าใจแล้ว

    วิถีจิตเกิดขึ้นทำกิจต่างๆ ที่ไม่ใช่ภวังคกิจ ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ไม่ได้คิดนึก ขณะนั้นเป็นจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นครับ

    สุ. มีจิตเกิด เป็นวิถีจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็นครับ

    สุ. อันนี้แน่นอนแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นวิถีจิต หมายความว่า ต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เวลาเกิดชอบ เป็นวิถีจิตหรือเปล่า เกิดติดข้อง เป็นวิถีจิตหรือเปล่า พอใจเป็นวิถีจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นครับ

    สุ. เวลาโกรธ ไม่ชอบ ขุ่นเคืองใจ เป็นวิถีจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    สุ. เพราะฉะนั้นจิตอื่นทั้งหมดที่จะได้ยิน เป็นวิถีจิต เมื่อจิตนั้นไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจแล้ว เป็นวิถีจิตทั้งหมด

    เมตตา เห็นคนอื่นแล้วก็หวังดี เกื้อกูล ขณะนั้นเป็นวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ขณะปฏิสนธิ ๑ ขณะ และจุติจิต ๑ ขณะ และขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลยทั้งสิ้น ขณะนั้นเป็นภวังค์

    ขณะนี้ถ้าไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย มีภวังคจิตไหมคะ มี ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปรากฏเลย ใช่ไหมคะ แต่ก็ต้องมีภวังค์คั่นแต่ละวาระ นี่เริ่มมีคำว่า “วาระ” เพราะเหตุว่าวาระ คือ การเกิดดับสืบต่อของวิถีจิตที่รู้อารมณ์ที่ปรากฏอารมณ์เดียวกัน เมื่อหมดแล้ว จิตไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจดีใจที่จะเป็นกุศล อกุศลใดๆ เพราะฉะนั้นขณะนั้นต้องมีภวังค์เกิดคั่น จนกว่าวิถีจิตวาระต่อไปจะเกิด แต่เร็วมากเลยขณะนี้ ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นวาระไหน และมีภวังค์คั่น

    นี่คือการฟังธรรมแล้ว เราจะรู้จนกระทั่งหมดความสงสัยว่า เป็นเรา ได้หรือยัง เพียงแค่ฟังอย่างนี้ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องอบรมจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นธรรม

    ตอนนี้วาระไหนคะ

    ผู้ฟัง ไม่รู้ครับ

    สุ. ขณะเห็นต้องเป็นจักขุทวารวิถี แล้วก็เร็วมากเลย มีตทาลัมพนะ หรือไม่มีตทาลัมพนะก็รู้ไม่ได้ เพราะว่านี่เป็นชื่อใหม่ๆ แต่สามารถเข้าใจแม้ชั่วขณะที่เห็นว่า ก่อนเห็น จิตเป็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง เป็นภวังค์

    สุ. ก่อนเห็นจิตเป็นภวังค์ และเมื่อรูปกระทบกับจักขุปสาท ต้องเป็นวัณณธาตุ คือ ที่กำลังปรากฏซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นการเกิดดับจะเร็วสักแค่ไหน เพียงเกิดแล้วกระทบจักขุปสาท รูปยังไม่ดับ แต่ว่าการที่จะรู้รูปที่กระทบ ภวังคจิตรู้ไม่ได้ ถูกต้องไหมคะ เพราะฉะนั้นภวังค์ต้องดับ

    ขณะที่มีรูปกระทบภวังค์ ภวังค์ดับแล้ว ขณะที่กระทบ ภวังค์นั้นก็ดับ แล้วขณะต่อไป ก็จะเห็นทันทีไม่ได้ เป็นภวังคจลนะ เริ่มไม่มีอารมณ์ของภวังค์ เพราะมีอารมณ์ใหม่กระทบทางตา ถ้าจะกล่าวถึงจักขุทวาร ขณะที่ภวังค์กระทบ ซึ่งใช้คำว่า อตีตภวังค์ดับไป ภวังค์ที่เกิดต่อไม่ใช่วิถีจิต ยังไม่ใช่วิถีจิต ยังเป็นวิถีจิตไม่ได้ แต่เป็นภวังคจลนะ ยังคงเป็นภวังค์

    ภวังค์เห็นสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่าคะ ไม่ค่ะ ตราบใดที่เป็นภวังค์ จะไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเลย ภวังคจลนะก็ไม่ได้รู้สิ่งที่ปรากฏ คือไม่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อภวังคจลนะเกิดแล้วดับ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สั้นมาก ภวังค์ขณะสุดท้ายจะไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป เพราะว่าเป็นภวังค์ขณะสุดท้ายเกิดขึ้น จะมีอารมณ์ของภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ ภวังค์สุดท้ายที่มีอารมณ์ของภวังค์ก็คือ ภวังคุปัจเฉทะ ต่อจากนั้นเป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจความรวดเร็วว่า ได้ยินชื่อ วิถีจิตๆ แต่จะมีชื่อใหม่ๆ ที่เป็นวิถีจิต เพราะว่าขณะนี้เราได้ยินปฏิสนธิจิต แล้วก็ภวังคจิต เพราะฉะนั้นชื่อของวิถีจิตก็จะต่างกันไปตามกิจหน้าที่ของจิตนั้นๆ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว ภวังค์เกิดสืบต่อได้ไหมคะ ไม่ได้ค่ะ พอมีคำว่า ภวังคุปัจเฉทะ ความหมายคือ เป็นภวังค์ขณะสุดท้าย สิ้นสุดกระแสของภวังค์ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เลย แต่ภวังคุปัจเฉทะก็เป็นอนันตรปัจจัย จิตทุกขณะเป็นอนันตรปัจจัย คือ ทันทีที่ดับไป หมดไป ปราศไป ไม่เหลือเลย จิตขณะอื่นต้องเกิดสืบต่อ โดยจิตก่อนเป็นอนันตรปัจจัย ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตขณะต่อไปเป็นภวังคจิตหรือเป็นวิถีจิต ยังไม่มีชื่อนะคะ แค่จิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ เป็นวิถีจิตหรือเป็นภวังคจิต

    ผู้ฟัง วิถีจิตครับ

    สุ. ไม่ลืมแล้วใช่ไหมคะ พรุ่งนี้ก็ไม่ลืม เพราะว่าพอภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว ภวังค์เกิดต่ออีกไม่ได้เลย จิตที่เกิดต่อต้องเป็นวิถีจิต แต่ยังไม่มีชื่อ วิถีจิตที่เกิดเพราะรูปกระทบกับจักขุปสาททางจักขุทวาร วิถีนั้นทั้งหมดที่จะเกิดสืบต่อกัน ที่จะรู้รูปที่กระทบ เป็นจักขุทวารวิถีทีละ ๑ ขณะ ขณะแรกยังไม่สามารถเห็นได้ เพราะเพิ่งเป็นวิถีจิตแรก จากการที่ไม่รู้เลย ภวังคจิต ไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น แต่เมื่อมีอารมณ์กระทบ เริ่มรู้สึกว่า มีอารมณ์กระทบ แต่ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร ก็มีชื่อรวมกันว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต อาวัชชนจิต คือ เพราะจิตนี้ทำอาวัชชนกิจค่ะ ต่อไปจะทราบว่า จิตทุกขณะทุกประเภทมีกิจ จิตไม่ได้เกิดขึ้นแล้วไม่ทำอะไรเลย แล้วก็ดับไป แต่จิตทุกขณะทุกประเภทเกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใด ตามหน้าที่ของกิจนั้นๆ แล้วดับ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดสืบต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ทำอาวัชชนกิจ คือ นึกถึงหรือรู้ว่า มีอารมณ์กระทบที่ทวาร แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่รู้ว่าอารมณ์กระทบ

    นี่คือการรู้สึกจากการที่อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นจิตที่ทำอาวัชชนกิจ เมื่อทวารมี ๖ ทวาร ก็มีจิตที่ทำอาวัชชนกิจ ๒ ประเภท คือ ประเภทหนึ่งทำอาวัชชนกิจทาง ๕ ทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่สามารถจะรู้อารมณ์อื่นได้เลย นอกจากอารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง เพราะฉะนั้นจิตนี้รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ แต่คิดนึกไม่ได้ รู้อารมณ์ทางมโนทวารไม่ได้ มีหน้าที่เพียงสามารถรู้อารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทวารนี้ เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต แต่เมื่ออารมณ์มี ๖ เวลาที่ไม่มีอารมณ์กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่คิดได้ไหมคะ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต แต่ก็ต้องเป็นภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ กระแสของภวังค์สิ้นสุดลง ต่อจากนั้นมโนทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้นคิด จึงชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต

    มีใครไปเปลี่ยนแปลงจิต ๒ อย่างนี้ ให้เป็นจิตประเภทเดียวกันได้ไหมคะ

    นี่คือธรรม เพราะฉะนั้นถ้าฟังธรรม ก็คือธรรมต้องเป็นธรรมที่ใครจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นแค่วิถีจิตแรก เข้าใจหรือยังว่า ไม่ใช่ภวังค์ เป็นวิถีจิต หลังจากที่ ภวังคุปัจเฉทะดับไป แล้วต่อจากนั้นถึงจะถึงชื่อเยอะๆ อีกนะคะ ที่กล่าวกันไปเมื่อกี้นี้ ถึงชวนะ ตทาลัมพนะ แต่ต้องเป็นความเข้าใจที่ละเอียดว่า แม้ในขณะนี้ใครสามารถรู้ ปัญจทวาราวัชชนจิตได้

    ผู้ฟัง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

    สุ. แน่นอนอยู่แล้วค่ะ แต่ว่าคนอื่น แล้วแต่กำลังของปัญญา ไม่ใช่ทุกคนจะมีกำลังเท่ากัน ปัญญาสะสมมาเท่ากัน ที่จะรู้ได้อย่างเดียวกัน แม้ในขั้นฟัง ก็ต้องฟังด้วยการรู้ว่า กำลังฟังธรรม สิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ และเข้าใจความเป็นธรรมขึ้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงวิถีจิต นึกถึงวิถีจิตแรกหรือเปล่า หรือไปนึกถึงอื่น ถ้านึกถึงอื่น ลืมวิถีจิตแรกว่ามี ใช่ไหมคะ และเป็นวิถีจิตแรกด้วย

    เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้จะไม่ลืมวิถีจิตแรก และรู้ว่า วิถีจิตแรกมี ๒ ประเภท ที่สามารถรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ทั้ง ๕ ทวารได้ ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต รำพึงถึง นึกถึง ใช้คำอะไรก็ได้ แต่หมายถึงรู้ว่า อารมณ์กระทบทางทวารนั้น แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน

    นี่เป็นวิถีจิตแรก ไม่มีได้ไหม พอภวังคุปัจเฉทะดับ ก็เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เห็น ได้ยินเลย ได้ไหมคะ ไม่ได้ค่ะ นี่คือจิตต้องเกิดขึ้นตามลำดับ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะรู้หรือไม่รู้ ก็คือผู้ตรัสรู้ได้ทรงแสดงความจริงนี้ไว้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343


    Tag  คิด  
    หมายเลข 12454
    25 ส.ค. 2567