ฟังจนเข้าใจว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ
ผู้ฟัง ดูเหมือนที่ท่านอาจารย์บอกว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ และพระธรรมก็สอนให้เรารู้ว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร แต่เมื่อเราเรียนแล้ว ฟังแล้ว เหมือนกับไม่ยอมรู้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร วันหนึ่งๆ ก็มีแต่คิดเรื่องราว
สุ. ทำไมใช้คำว่า “ไม่ยอมรู้” มีความสามารถที่จะยอมหรือไม่ยอมหรืออย่างไรคะ หรือว่าเป็นธรรมดาที่ว่า สะสมความไม่รู้มามาก จะให้หมดความไม่รู้ไปทันที อะไรทำได้ อะไรก็บันดาลไม่ได้เลย นอกจากความเข้าใจเริ่มเกิดขึ้น สะสมไป
ผู้ฟัง คือจากฟังแล้วเหมือนกับหลงลืมสติตลอดเวลา แล้วก็จะคิดเรื่องราวไปทั้งวันเลย
สุ. เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า ขณะที่ฟังไม่เหมือนกับขณะที่ไม่ได้ฟัง เห็นความต่างแม้ในขณะที่ฟัง ฟังอะไร ถ้าฟังธรรม มีธรรมปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าไม่ฟังธรรม ก็คือฟังเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นความเข้าใจแม้จากการฟังจะเล็กจะน้อย จะมากสักเท่าไรก็ตาม มาจากไหน ก็ต้องรู้แล้วถึงเหตุที่จะทำให้ได้ฟัง ได้เข้าใจสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่เพียงฟัง เราก็จะไปดับการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าใครเข้าใจอย่างนั้นผิด ปัญญาไม่ได้เจริญขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นฟัง จนกระทั่งสามารถเข้าใจความเป็นอนัตตา และสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้ความต่างกัน และเมื่อไรที่เข้าใจว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ ไม่ใช่เรื่องราว เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่มีเรื่องราวเพราะมีจิตที่คิด หลังจากเห็น ก็คิดเรื่องที่เห็น หลังจากได้ยินก็คิดเรื่องที่ได้ยิน
เพราะฉะนั้นจิตเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่เป็นวิถีของชีวิต เกิดขึ้นจะต้องเป็นไป ตามนิยาม ตามความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ถ้าเราไม่หวัง เราก็จะเข้าใจได้จริงๆ ว่า ก่อนฟังเราไม่รู้เลยว่า ลักษณะของสภาพธรรมหรือปรมัตถธรรมคืออะไร แต่เมื่อฟังถึงแม้สติปัฏฐานยังไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะ แต่เราก็เข้าใจขั้นฟังได้ว่า สภาพธรรมจริงๆ ที่พระองค์ทรงตรัสรู้คืออะไร เราก็เข้าใจไปตามนั้น
สุ. เพราะฉะนั้นพระองค์กับเราจะเหมือนกันหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เหมือนค่ะ ปัญญาก็ต่างกัน
สุ. ค่ะ ก็อบรมไป เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง แต่จริงๆ ลึกๆ ก็คงหวัง และใจร้อนอยากจะรู้เร็ว คำถามก็เต็มไปด้วย ทำไมไม่รู้สักที
สุ. ถ้ามีปัจจัยที่ยังทำให้หวัง จะไม่หวังได้ไหม อกุศล คือ โลภะ ความติดข้องเกิดแล้วดับไป ติด และฉาบทาในจิตขณะต่อไป ไม่ได้ไปไหนเลยค่ะ แม้ว่าอกุศลนั้นดับไปแล้ว แต่ดับแล้วก็จริง แต่ฉาบติดไว้ในจิตตามประเภทของอนุสัยกิเลสนั้นๆ จะไปเอาโลภะออกได้ไหม ถ้าไม่ค่อยๆ ลอกสิ่งที่ฉาบติดแน่นอยู่ในจิตออก จนกระทั่งไม่เหลือเลย
ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ พอท่านอาจารย์พูด ก็นึกได้ว่า ส่วนใหญ่ก็ห่อหุ้มด้วยอวิชชาที่หนาๆ และฉาบทาด้วยโลภะ ก็ต้องปัญญา และเวลาค่อยๆ ลอก
สุ. ก็เป็นการสะสมความเข้าใจที่มั่นคงว่า ธรรมเป็นธรรม และเป็นอนัตตา คิดก็เป็นธรรม หวังก็เป็นธรรม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยก็เกิด และเป็นธรรม ซึ่งปัญญารู้ได้ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ
อยู่มานานเท่าไรแล้วในสังสารวัฏฏ์ ตอนนี้ใจร้อน ไม่อยากอยู่นานๆ
ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าศึกษาแล้ว วิบากจิตที่ทำปฏิสนธิจิตก็จะมีไม่มาก อบายภูมิก็มีแค่ดวงเดียว แต่ความต่าง ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ที่ต่างกัน และหลากหลายมากเพราะความวิจิตรของกรรมของแต่ละชีวิต อย่างนั้นใช่ไหมคะ
สุ. และที่ประมวลมาซึ่งกรรมที่สามารถจะให้ผลในภพนั้น ชาตินั้นด้วย
ผู้ฟัง ซึ่งก็สะสมมานานมาก และเป็นอย่างที่
สุ. ไม่ได้ไปไหนเลยค่ะ อยู่ในจิต มีปัจจัยพร้อมก็เกิด ถ้ายังไม่มีปัจจัยก็สะสมสืบต่อ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาแล้วจะรู้ว่า ต้องนำสิ่งที่เข้าใจมาอบรมเจริญปัญญา แล้วเจริญกุศลเท่าที่มีเหตุปัจจัยเป็นไปได้
สุ. เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา และจะไปเปลี่ยนทิศทางหรือการเกิดดับสืบต่อของจิต เป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะต้องเป็นอย่างนี้ แต่ละขณะจิตเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง ซึ่งเมื่อฟังมากๆ แล้ว เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแม้ขั้นฟัง เราก็จะรู้สึกว่า อกุศลน่ากลัว ถ้าไปเกิดในอบาย ก็ไม่มีโอกาสฟังธรรม และวัฏฏสงสารก็จะยาวไปเรื่อยๆ
สุ. ค่ะ อกุศลน่ากลัวนะคะ แต่ เป็นเรา ยิ่งน่ากลัวกว่าไหม ไปยึดถืออกุศลนั้นว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่เข้าใจแล้วว่า อกุศลไม่ใช่กุศลเลย นำมาซึ่งทุกข์โทษ แต่อกุศลซึ่งไปยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ยังไม่ได้หมดไปเลย
ผู้ฟัง คือซ้อนเข้าไปอีก
สุ. เพราะฉะนั้นจะหมดก่อน ก็คือการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการฟังก็ต้องเริ่มต้นที่ให้เห็นถูก จากเห็นผิดเป็นเห็นถูกก่อน
สุ. ต้องมีความเข้าใจค่ะ รู้ว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้ดับกิเลสได้ โดยเข้าใจสิ่งที่กำลังมี จนสามารถแทงตลอดความจริงตามที่ได้ฟังว่า สิ่งที่ได้ฟังเป็นความจริงอย่างนี้
ผู้ฟัง การที่เราต้องเรียนเพื่อเข้าใจวิถีจิต หรือจิตแต่ละประเภทเป็นอย่างไร ก็เพื่อให้เห็นว่า เป็นอนัตตาจริงๆ
สุ. ค่ะ ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่เราไปยึด
สุ. เพราะการที่จะไม่ใช่เรานี่นานนะคะ กว่าจะไม่ใช่เรา โดยทั่วหมดทั้งวันนี้ ไม่ว่าเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ก็คือเป็นธรรม
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการเรียนต้องเข้าใจ ไม่ใช่ไปหลงจำ อย่างอเหตุกะ ๑๘ เราก็จะเข้าใจก็จะจำได้เองว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าไปท่องก็จะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่เข้าใจสภาพธรรม เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ตามที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้เรียนให้เข้าใจ ฟังให้เข้าใจ
ที่มา ...