ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ชวนจิต”


    ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ชวนจิต” ค่ะ

    สุ. ชวนจิต หมายความถึงจิตที่เกิดขึ้นทำชวนกิจ เพราะว่าจิตที่เกิดขึ้นทุกขณะต้องทำกิจหนึ่งกิจใด จะไม่มีกิจสักขณะดวงหนึ่งซึ่งเกิดโดยไม่ทำกิจอะไรเลย และกิจของจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดทั้งสิ้น ประมวลแล้วก็มี ๑๔ กิจ แต่ไม่ได้หมายความว่า จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นทำ ๑๔ กิจ จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจเดียว ที่ใช้คำว่า “ชวนจิต” เพราะว่าจิตนี้เกิดขึ้นทำชวนกิจ ไม่ใช่ทำทัสสนกิจ คือ เห็น ไม่ทำสวนกิจ คือ ได้ยิน แต่ทำชวนกิจ ก็เป็นกิจหนึ่งซึ่งจิตที่ทำกิจนี้ได้ ก็คือกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิตที่เป็นโลกุตตระ กิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ จักขุวิญญาณ จิตเห็น ทำชวนกิจไม่ได้ เพราะทำทัสสนกิจ จิตได้ยิน โสตวิญญาณก็ทำชวนกิจไม่ได้ เพราะทำสวนกิจ ก็เป็นชื่อจิตในภาษาบาลี แต่ไม่ต้องใช้คำบาลีก็ได้ จะใช้คำภาษาอังกฤษ สำหรับคนที่ฟังภาษาอังกฤษ จะใช้ภาษาจีนสำหรับคนที่ฟังภาษาจีน ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ภาษากลางก็คือภาษาบาลี ภาษามคธี ภาษามคธ ซึ่งใช้สำหรับทุกชาติ เพื่อไม่ให้พระธรรมคลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง หนูเข้าใจว่า ชวนจิตเป็นการเสพอารมณ์

    สุ. แล้วจิตไหนเสพอารมณ์ แปลได้ แต่ไม่รู้ว่าจิตไหน ก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้เรื่องจิต ชาติอะไร เกิดกับเวทนาอะไร ประกอบด้วยเจตสิกอะไร ทำกิจอะไร ถึงจะเข้าใจลักษณะของจิตจริงๆ ถ้าเราพูดว่า ชวนจิต แต่ไม่รู้ว่าจิตอะไร อย่างนั้นไม่ใช่เราเข้าใจ ถ้าพูดว่ากุศลจิต รู้ว่าเป็นจิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก แต่ทำกิจอะไร เวลาพูดถึงชวนะ หมายถึงทำกิจ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็น ถ้าเราพูดถึงจักขุวิญญาณ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงทัสสกิจ หรือจิตที่ทำกิจเห็น เหมือนกับเวลาที่เราพูดถึงกุศลหรืออกุศล ถ้ามีความเข้าใจว่า กุศลอกุศลทำกิจอะไร ก็ไม่ต้องใช้คำว่า “ชวนะ” ก็ได้ แต่ถ้าใช้คำว่า “ชวนะ” แล้วไม่รู้ว่า เป็นจิตอะไร นั่นไม่ถูกต้อง

    อ.กุลวิไล ชวนจิตเมื่อกี้เราก็ได้สนทนากันไปว่า เป็นกิจของจิตด้วย และจิตนี้ก็เกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ทั้งเสพอารมณ์ และแล่นไปอารมณ์ มีได้ถึง ๔ ชาติ โดยเฉพาะชาติที่เป็นอกุศล หรือกุศล ซึ่งชวนจิตย่อมยินดีในอารมณ์ที่น่าปรารถนา หรือบางครั้งก็ไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่าปรารถนา และขณะเดียวกันบางครั้งชวนจิตก็ยินดีในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา และไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่าปรารถนา อันนี้เพราะสัญญาวิปลาส เพราะฉะนั้นเราจะถือเอาชวนจิตเป็นตัวตัดสินว่า อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่ไม่ดี ไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นวิบากจิตแน่นอน เพราะว่าเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นกุศลวิบากแล้ว ต้องได้อารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่น่าปรารถนา แต่ถ้าเป็นอกุศลวิบากแล้ว ต้องได้อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั่นเอง

    เวลาที่มีสภาพธรรมปรากฏ รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เรื่องราว ชื่อ ไม่มี มีแต่ลักษณะที่เป็นตัวจริง

    สุ. คุณสุกัญญายังอยากจะรู้อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์อีกหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่สามารถจะทราบได้

    สุ. เพราะว่าอาจจะชอบอนิฏฐารมณ์ อาจจะไม่ชอบอิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้นจะเอาการตัดสินของเรา หรือของคนส่วนใหญ่ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นวิบากเท่านั้นที่จะรู้ว่า อารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ เพราะว่าถ้าเป็นกุศลวิบาก อารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์แน่นอน ถ้าเป็นอกุศลวิบาก อารมณ์ก็เป็นอนิฏฐารมณ์แน่นอน ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามแต่

    ผู้ฟัง ชวนะจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็อยู่ที่การสะสม อยากจะมีความเข้าใจการสะสมเพิ่มขึ้น เพื่อที่สะสมในสิ่งที่ดี เพื่อเป็นกุศลจิตได้

    สุ. ขณะนี้กำลังสะสมหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังสะสมครับ

    สุ. เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรมสะสมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้สะสม

    สุ. สะสมกุศลบ้าง สะสมอกุศลบ้าง ยังมีมานะ ความสำคัญตนอยู่ สะสมต่อไปอีก เพราะว่ายังไม่ได้ดับ นี่คือทุกอย่างที่มี เกิดแล้ว ดับไปก็จริง แต่สืบต่อในจิตขณะต่อไป จนกว่าจะมีปัจจัยให้เกิดขึ้นเมื่อไร ก็เกิดขึ้น อย่างกำลังนอนหลับสนิท ใครจะรู้ว่า พรุ่งนี้เราจะเป็นอย่างไร เมื่อคืนนี้แท้ๆ หลับสบายดี แล้ววันนี้ทั้งวันเราจะเป็นอย่างไรบ้าง รู้ไหม ก็แล้วแต่กรรม แล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งมีมากมายหลายเหตุ อย่างที่คุณชุณห์กล่าวถึงก็เป็นการแสดงถึงความเป็นปัจจัยโดยละเอียด เป็นชื่อต่างๆ แต่ขณะนี้ก็เป็นการสะสมของปัจจัยต่างๆ แม้จะไม่เรียกชื่อ

    เพราะฉะนั้นเราจะเรียกชื่อเมื่อไร เมื่อเรามีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมพอสมควร อย่างเช่นการเกิดขึ้นของจิต ๑ ขณะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า มี เรียกชื่อได้แล้ว สัมปยุตตปัจจัย หมายความว่า จิต และเจตสิกไม่แยกจากกันเลย ที่ไหนมีจิตเกิดขึ้น ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่ไหนมีเจตสิกเกิด ที่นั่นต้องมีจิต เพราะฉะนั้นจิต และเจตสิกอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป เป็นสัมปยุตตปัจจัย จิต ๑ ขณะ จิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่เจตสิก และเจตสิกก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่จิต

    นี่คือการกล่าวถึงสิ่งที่แม้ไม่เอ่ยชื่อ แต่ถ้ามีความเข้าใจ พอเอ่ยชื่อ เราก็รู้เลย ต่อไปนี้ พอพูดถึงสัมปยุตตปัจจัย ไม่ยากเลย เฉพาะจิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน มีที่เกิดที่เดียวกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ ภูมิที่ต้องเกิดที่รูป

    ขณะนี้จิตเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ จิตเกิดขึ้นได้ไหม อย่างจิตได้ยิน ไม่มีเสียงกระทบกับโสตปสาท จิตได้ยินจะเกิดได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสียงเป็นอารัมมณปัจจัยของจิตที่ได้ยิน จะใช้ภาษาบาลีก็ได้ โสตวิญญาณ แต่ไม่ต้องใช้ก็รู้ ขณะนี้เป็นจิตที่ได้ยิน

    นี่คือทั้งหมดเป็นปัจจัยอยู่แล้ว แต่กว่าที่จะเข้าถึงความเป็นปัจจัยอย่างละเอียดของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เราต้องมีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมก่อน และเมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เราก็พอจะกล่าวถึงบางปัจจัยที่สามารถจะเข้าใจได้ ถ้ายังไม่เข้าใจเพียงพอ ก็เป็นแต่เพียงการจำชื่อ อย่างกัมมปัจจัย ก็เข้าใจแล้ว เมื่อไรที่วิบากจิตเกิด ต้องมีกรรม เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้วิบากจิตนั้นเกิด แต่ก็ไม่ใช่มีเฉพาะกรรมอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นธรรมก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป มีความเข้าใจ แต่ข้อสำคัญที่สุด ก็คือเราจะจากโลกนี้ไปวันไหนก็ไม่รู้ ยังไม่ทันรู้เรื่องปัจจัยก็ได้ ยังไม่ได้ไปจำชื่อหมดเลย แต่ก็เริ่มมีความเข้าใจถูกว่า เป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อไรที่มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า เป็นธรรม ก็จะคลายการที่เคยเข้าใจว่า เป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง ก็ต้องกลับไปเหมือนเดิม คือ ต้องฟังให้เข้าใจเสียก่อน ก็จะเป็นปัจจัยไปเรื่อยๆ

    สุ. แน่นอนค่ะ นี่คือปัญญา พระพุทธศาสนาจะเน้นเรื่องปัญญา แต่คนที่ไม่ได้ศึกษา ไม่สนใจปัญญา มุ่งที่จะทำ มุ่งที่จะได้ แต่ไม่มุ่งที่ความเข้าใจ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็มี ปรากฏเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจ ก็เหมือนไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะว่าไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าเริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม นั่นก็คือการฟังพระธรรม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351


    หมายเลข 12486
    25 ส.ค. 2567