โคจรรูปเหมือนกับทวารรูปหรือไม่


    ผู้ฟัง โคจรรูปเหมือนกับทวารรูป หรือไม่

    อ.วิชัย ที่คุณเด่นพงศ์กล่าวถึงรูปที่เป็นโคจรรูปอย่างหนึ่ง และทวารรูปอย่างหนึ่ง ถ้าโคจรรูป หมายถึงรูปที่เที่ยวไปของจิต ก็คือขณะนั้นจิตก็เป็นไปในรูปเหล่านี้ประจำเสมอๆ มีอยู่ ๗ รูปด้วยกัน ถ้าพิจารณาชีวิตประจำวันของเราก็มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คือ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว อันนี้เป็นปกติที่จิตเป็นไปในรูปเหล่านี้ รูป ๗ รูปเหล่านี้ทรงแสดงว่า เป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป คือ รูปที่เป็นอารมณ์ คือ จิตเป็นไปในรูปเหล่านี้ประจำๆ เสมอๆ ขณะที่ตื่นก็มี การเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจิตเป็นไปในรูปเหล่านี้บ่อยๆ จึงทรงแสดงว่า รูป ๗ รูปนี้เป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป

    ผู้ฟัง ตกลง ๒ ชื่อนี้ โคจรรูปกับวิสยรูป เหมือนกันใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็คือเป็นสภาพธรรม คือ รูป ๗ รูปนี้ ในส่วนของทวารรูป คือ รูปที่เป็นทวาร เราก็ทราบว่า ทวารมี ๖ ทางด้วยกัน แต่ส่วนทวารที่เป็นรูปมี ๕ เท่านั้น คือ จักขุปสาท คือ ตาเป็นจักขุทวาร คือ เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู หรือโสตปสาทเป็นโสตทวาร เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหู คือโสต ฆาน คือ จมูก เป็นฆานทวาร เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจมูก หรือฆานทวาร ชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวาร เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางลิ้น ส่วนกาย กายปสาทเป็นกายทวาร เป็นทางที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ โผฏฐัพพะทางกาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า รูปแต่ละรูปมีลักษณะของตนเอง ถ้ากล่าวถึงรูปที่เป็นอารมณ์ หรือเป็นที่เที่ยวไปของจิตก็มี ๗ รูป และรูปที่เป็นทวารก็มี ๕ รูปเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือรู้ และเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมะ ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือตำรา แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้เป็นวิสยรูปก็มี แม้เป็นทวารรูปก็มีด้วย

    ผู้ฟัง ทวารรูปมี ๕ หรือ ๗

    อ.วิชัย รูปที่เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ต้องมีความมั่นคงว่าจะเกิน ๕ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทั้งหมดมี ๖ ทาง อันนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ขอถามว่า กายวิญญัติ เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ทางให้รู้อารมณ์ ก็เลยไม่ใช่ทวารรูป

    อ.วิชัย คือไม่ใช่ทวารรูปที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าคุณเด่นพงศ์อ่านปริจเฉทที่ ๖ ด้านหลังก็จะมีอธิบายทวารรูป ซึ่งอธิบายว่า ทวารรูปมี ๗ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ คือ เป็นทวารที่อาศัยให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ส่วนกายวิญญัติ และวจีวิญญัติ ท่านอธิบายว่า วิญญัติรูป ๒ นี้ชื่อว่า เป็นทวารแห่งกรรม ก็คือเป็นทางออกของกรรมนั่นเอง จะเป็นกายกรรม หรือวจีกรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นทวารแห่งกรรม ก็จะรวมเป็นทวารรูป ใช้คำว่า ทวารรูปมี ๗ ซึ่ง ๕ ก็คือในชีวิตประจำวันที่เราเข้าใจกัน แต่เมื่อมีการล่วงทางกาย ทางวาจาโดยที่มีกายวิญญัติ หรือวจีวิญญัติ มีกาย หรือวจีเป็นทางให้ทำกรรม เพราะฉะนั้นจึงรวมอยู่ในทวารรูป จึงเป็น ๗ คือ ให้เข้าใจว่า รูปที่เป็นทวารมี ๗ และที่เหลือจาก ๗ ไม่เป็นทวารใดๆ เลย และเป็นทวารอย่างไร ปสาทรูป ๕ เป็นทางที่จิตเกิดรู้อารมณ์ ส่วนกายวิญญัติ และวจีวิญญัติเป็นทวารแห่งกรรม ส่วนรูปอื่นๆ ไม่เป็นทวาร ใช้คำว่า อทวารรูป เหมือนกับวัตถุรูปกับอวัตถุรูป วัตถุรูปก็มีวัตถุ ๖ กายปสาทรูป ๕ และหทยวัตถุ ๑ ซึ่งเป็นวัตถุ ๖ ที่เหลือรูปอื่นๆ ไม่เป็นวัตถุเลย อันนี้แสดงโดยวัตถุ อวัตถุ ทวารรูป และ อทวารรูป


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 363


    หมายเลข 12849
    31 ส.ค. 2567