เข้าใจสภาพธรรม หรืออยากจะจำชื่อ
ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์เข้าใจสภาพธรรม หรืออยากจะจำชื่อ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าเป็นเรื่องของภาษาไทยกับภาษาบาลี และภาษาอื่นๆ ซึ่งจะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่หมายความว่า เมื่อใช้แล้ว ฟังแล้ว พิจารณาแล้ว เข้าใจสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งขณะนี้ทุกคนก็เข้าใจเรื่องของธรรมะว่า ธรรมะหลากหลายมาก แม้จะหลากหลายสักเท่าไร ก็ประมวลเป็นธรรมะ ๒ ประเภท ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แค่นี้ จนกว่าจะมีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย และสภาพธรรมที่มี แม้เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยก็ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังรู้ กำลังเห็น กำลังได้ยินลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ก่อนอื่นให้เข้าใจว่า เรากำลังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้ง ฟังเพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงความเป็นธรรมะที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรม มีลักษณะที่ปรากฏ ให้ฟังให้เข้าใจ ส่วนเรื่องชื่อ จะใช้ภาษาไทย หรือภาษาบาลี เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ไม่เป็นปัญหาเลย แต่เวลานี้ที่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้เข้าใจลักษณะของธรรมนั้นๆ แล้วก็ไปได้ยินชื่อ แล้วก็ไปสงสัยว่า ชื่อนั้นหมายความถึงสภาพธรรมอะไร แต่ถ้ามีความเข้าใจธรรมะ ไม่สงสัยในชื่อนั้นเลย เช่น ก่อนจะได้ยินคำว่า โคจรรูป หรือ วิสยรูป ก่อนที่จะได้ยิน ๒ คำนี้ มีรูปที่ปรากฏให้เห็นทางตา ๑ และมีรูปที่ปรากฏให้ได้ยินทางหู ๑ มีรูปที่ปรากฏให้รู้ทางจมูก คือ กลิ่นต่างๆ ๑ มีรูปที่ปรากฏให้รู้เปรี้ยว เค็ม หวาน ทางลิ้น รสต่างๆ เผ็ด ขม แล้วแต่จะจำแนกไป แต่ในขณะที่รสนั้นๆ ปรากฏ ไม่ใช่ว่าต้องให้ไปเรียกชื่อ ไม่ต้องเลย เพราะว่ารสนั้นกำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นปัญญาที่เกิดขึ้น ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า สภาพของรสเป็นธรรมะที่เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป คือ ทุกอย่างต้องเข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ ปรากฏสั้นๆ แต่ละทาง และสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา หู จมูก ลิ้น ก็กล่าวถึงแล้ว สำหรับทางกายขณะนี้ มีธรรมะที่สามารถพิสูจน์ได้ทุกกาละ เปลี่ยนความจริงนั้นไม่ได้เลย ขณะนี้มีลักษณะที่อ่อน หรือแข็งปรากฏทางกาย สิ่งที่มีจริงเป็นธาตุ เป็นธรรมะ ขอความกรุณาตอบว่า ลักษณะที่อ่อน หรือแข็งเป็นธรรมะประเภทไหน
ผู้ฟัง เป็นลักขณรูป
ท่านอาจารย์ เป็นลักษณะของรูป เพราะฉะนั้นคำว่า “รูป” ไม่สงสัยอีกแล้วใช่ไหม เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ เสียง กลิ่น รส เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวที่ปรากฏที่กาย ไม่สงสัยในลักษณะของรูปเหล่านี้ วันหนึ่งๆ มีแต่รูปเหล่านี้ปรากฏ หรือว่ารูปอื่นก็ปรากฏนอกจากรูปเหล่านี้
ผู้ฟัง ก็คงมีรูปอื่นปรากฏ เพราะรูปมีตั้ง ๒๘ รูป
ท่านอาจารย์ รูปอะไรกำลังปรากฏ นอกจาก ๗ รูปนี้
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นรูป ๗ รูปนี้เป็นอารมณ์ของจิตที่สามารถจะรู้ในสภาพที่เป็นรูป ไม่ว่าจะเกิดจนตาย จะรู้รูปที่ปรากฏ ๗ รูปนี้ ปกติจะเกิน ๗ นี่ไหม (ไม่เกิน) ด้วยเหตุนี้รูปเหล่านี้จึงมีชื่อในภาษาบาลีว่า “โคจรรูป” รูปที่เป็นอารมณ์เป็นปกติธรรมดาของจิต หรือจะใช้คำว่า “วิสยรูป” คือ รูปที่เป็นอารมณ์ก็ได้ นี่คือเรื่องของภาษา แต่ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า จิตเป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และทางที่จิตจะรู้ก็มี ๖ ทาง คือ ทางตาเห็นขณะนี้ เป็นจิตที่กำลังเห็นรูปที่ปรากฏ ทางหูมีเสียงปรากฏ ก็เป็นจิตที่กำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏ ขณะใดที่ได้กลิ่น กลิ่นปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น ขณะที่ลิ้มรส ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นรู้รสต่างๆ ขณะที่มีอ่อน หรือแข็งปรากฏ ก็คือขณะนั้นจิตกำลังรู้อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน เพราะฉะนั้นรูปที่ปรากฏได้ทางทวารทั้ง ๕ เป็นรูปที่เป็นอารมณ์ ในภาษาไทย เมื่อเข้าใจแล้ว เวลาได้ยินคำว่า “โคจรรูป” ก็ไม่สงสัย หมายความถึง ๗ รูปนี้ ได้ยินคำว่า “วิสยรูป” ก็ไม่สงสัย เพราะหมายความถึง ๗ รูปนี้ แค่นี้เอง ยังสงสัยไหมใน ๒ คำนี้ แน่ใจว่าไม่สงสัย โคจรรูปมีกี่รูป?
ผู้ถาม ๗ รูป
ท่านอาจารย์ วิสยรูป
ผู้ถาม ก็มี ๗ รูป
ท่านอาจารย์ รูปอื่นปรากฏไหมในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำนี้เพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงรูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ถ้าไม่มีรูปซึ่งสามารถกระทบรูปเหล่านี้ จิตไม่สามารถเกิดขึ้นรู้รูปเหล่านี้ได้เลย ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปพิเศษ ไม่ใช่รูปธรรมดา แข็ง อ่อน เย็น ร้อน สี กลิ่น รส อย่างที่กล่าวถึง ๗ รูปนั้นเลย แต่เป็นรูปที่มีลักษณะสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ยากที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าธรรมะลึกซึ้ง เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่รู้ไหมว่า เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมะที่มีจริง ที่กำลังปรากฏเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าจิตเห็นไม่เกิดขึ้นธาตุนี้ก็ไม่ปรากฏ นี่คือความลึกซึ้งของสิ่งที่เราคิดไม่ถึงเลย ดูเป็นธรรมดา เห็นทุกวัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เหมือนสภาพธรรมทุกอย่าง ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย สั้นมาก เกิดแล้วก็ดับไป
ที่มา ...