ความนอบน้อมของท่านพระอานนท์เถระ


        การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก

        ขอกล่าวถึงตัวอย่างความนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์เถระ ซึ่งข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถามงคลสูตร กถาพรรณนาปฐมมหาสังคายนา มีว่า

        เมื่อท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอุบาลี ท่านพระอานนท์ และท่าน พระอรหันต์เถระอื่นๆ รวม ๕๐๐ รูป ประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก ณ ใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ เขตพระนครราชคฤห์ เพราะเหตุที่เทวดาบางเหล่าเห็นท่านพระอานนท์นั่งเหนือธรรมาสน์ ห้อมล้อมด้วยพระอรหันต์เถระทั้งหลาย จึงเกิดจิตคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้เป็นเวเทหมุนี (คือ เป็นมุนีผู้รู้) แม้โดยปกตินับอยู่ในศากยตระกูล เป็นทายาทของพระผู้มีพระภาค แม้แต่พระผู้มีพระภาค ก็ทรงยกย่องไว้ในเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ประกอบด้วยอัจฉริยัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นที่รักเจริญใจของบริษัท ๔ บัดนี้ เห็นทีจะเป็นรัชทายาทโดยธรรมของ พระผู้มีพระภาค เกิดเป็นพุทธะ ผู้รู้

        แสดงให้เห็นว่า อย่าเดาว่าใครจะเป็นผู้รู้ หรือใครจะเกิดเป็นผู้ที่ตรัสรู้ด้วยตัวเอง

        ท่านพระอานนท์รู้ทั่วถึงความคิดต่างๆ ของเทวดาเหล่านั้น ทนการยกย่อง คุณที่ไม่เป็นจริงนั้นไม่ได้ เพื่อแสดงภาวะที่ตนเป็นเพียงสาวกจึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา

        ข้อความต่อไป ท่านผู้ฟังก็คงจะคุ้นหูที่ว่า

        สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ

        คือ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

        คำนี้ ท่านพระอานนท์กล่าวไว้อย่างนี้

        จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ใดได้ฟังคำที่มีความว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ก็จะรู้ซึ้งถึงความคิดของท่านพระอานนท์ เมื่อท่านกล่าวคำนี้ในการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่แสดงตนว่าเป็นเพียงสาวก จึงได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ คือ ไม่ใช่เป็นคำของท่านเอง เพราะท่านไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่าน เป็นเพียงสาวกและได้สดับมาจากพระผู้มีพระภาค

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932

        เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายและเทวดาหลายพัน ก็ชื่นชมท่านพระอานนท์ว่า สาธุ สาธุ แผ่นดินก็ไหว ความอัศจรรย์อย่างอื่นก็ปรากฏมากมาย และเทวดามากหลายก็เกิดความสังเวชว่า คำใด เราฟังมาต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค คำนั้นแม้เหตุการณ์ผ่านพ้นสายตามาแล้ว ก็มาเกิดได้

        คือ แม้พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว และพระอรหันต์เถระทั้งหลายที่ทำสังคายนาก็เคยได้ฟังคำนั้นมาแล้ว แต่แม้กระนั้น คำที่ได้ยินนั้น เหตุการณ์นั้น ผ่านพ้นสายตามาแล้ว คือ ไม่ได้เห็นอีกแล้ว แต่ก็มีโอกาสได้ยินคำนั้นอีก ซึ่ง เป็นอนุสสติที่จะทำให้ท่านผู้ฟังระลึกได้ถึงการเคารพพระรัตนตรัย แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานแสนนาน แต่ทุกครั้งที่ได้ยินพระธรรม ก็จะเห็นคุณค่าและเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้โสตวิญญาณกุศลวิบากในชาตินี้เกิด เพราะว่ามีการสะสมของกุศลในปางก่อน ที่ทำให้ได้ยินคำนี้อีก

        ท่านพระอานนท์ปลอบใจผู้มีใจกระสับกระส่ายเพราะไม่พบพระผู้มีพระภาคว่า ปาพจน์ คือ พระธรรมวินัยนี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้วหามิได้ ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย

        ความหมายของ เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ก็โดยที่ท่าน พระอานนท์ต้องการที่จะปลอบใจพุทธบริษัทรุ่นหลัง ซึ่งอาจจะรู้สึกโทมนัสที่ไม่ได้พบพระผู้มีพระภาค แต่ให้ทราบว่า ปาพจน์คือพระธรรมวินัยนี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้วหามิได้ เพราะว่า ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย

        ที่จะรู้ว่า มีพระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาจริงๆ หรือไม่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามโดยถูกต้อง

        ก็พระเถระเมื่อกล่าวว่า เอวํ ชื่อว่าแสดงเทศนาสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยเทศนา

        เพราะว่าต้องมีผู้แสดงจึงมีผู้ฟัง ถ้ามีแต่ผู้ฟัง ไม่มีผู้แสดง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพียงคำว่า เอวํ ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเทศนาสมบัติ คือ ความถึงพร้อมด้วยเทศนา

        เมื่อกล่าวคำว่า เม สุตํ ชื่อว่าแสดงสาวกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งสาวก

        ไม่ใช่คนอื่น แต่ข้าพเจ้า คือ ท่านพระอานนท์ ผู้เป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ที่กล่าวว่า เม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

        เมื่อกล่าวคำว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่าแสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา

        วันนี้ หลายชั่วโมงผ่านไป กาลสมบัติหรือเปล่า ขณะที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ให้ทราบว่า ขณะนี้เป็นขณะที่ถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรม เพราะโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่ง่าย ถ้ามีธุระสำคัญนิดเดียวก็ไม่ได้ฟังแล้ว เป็นโอกาสของการฟังสิ่งอื่น เพราะฉะนั้น เอกํ สมยํ ชื่อว่า แสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา

        เมื่อกล่าวว่า ภควา ชื่อว่าเทศกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งผู้แสดง

        ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ภควา คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้แสดง

        ส่วนคำว่า ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ เขตพระนคร สาวัตถี ในคำทั้ง ๒ นั้น ท่านพระเถระแสดงการอนุเคราะห์คฤหัสถ์ของ พระผู้มีพระภาคด้วยการระบุกรุงสาวัตถี แสดงการอนุเคราะห์บรรพชิตด้วยการระบุพระเชตวันเป็นต้น

        สำหรับท่านพระอานนท์เถระ ท่านเป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน ขอกล่าวอีก ครั้งหนึ่ง ซึ่งข้อความใน อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต วรรคที่ ๔ มีว่า

        แม้พระเถระรูปอื่นๆ ที่เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐากก็มีอยู่ ส่วนท่านพระอานนท์นี้ เล่าเรียนพระพุทธวจนะ ก็มั่นอยู่ในปริยัติดุจผู้รักษาเรือนคลังในศาสนาของพระทศพล เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวก ผู้เป็นพหูสูต

        ความจริงก็ปรากฏชัด เอวมฺเม สุตํ และข้อความในพระไตรปิฎกในส่วนของพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ถ้าท่านพระอานนท์ไม่มั่นอยู่ในปริยัติ ดุจผู้รักษาเรือนคลัง พระธรรมคงไม่สืบทอดมาถึงยุคนี้สมัยนี้

        อนึ่ง สติที่เล่าเรียนพระพุทธวจนะแล้วทรงจำไว้ของท่านก็มีกำลังกว่าพระเถระรูปอื่นๆ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกผู้มีสติทรงจำ

        การฟังพระธรรมเป็นกุศลจิต มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีสติเจตสิกเกิด ร่วมด้วย แต่สติของใครจะมีกำลังมั่นคงที่จะจำทุกคำโดยละเอียด ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ตกหล่น ไม่บกพร่อง ก็จะพิสูจน์ได้สำหรับแต่ละคน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ท่านทรงจำเลิศกว่าภิกษุสาวกผู้มีสติทรงจำ

        อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้นี่แล เพียงพระธรรมบทเดียวก็ถือเนื้อความได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท จำได้ทุกบทโดยนัยที่พระศาสดาตรัสไว้นั่นแล เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าสาวกผู้มีคติ

        จิตทุกคนกำลังไปตามทางของจิต แล้วแต่ว่าจะไปทางตา จะไปทางหู จะไปทางจมูก จะไปทางลิ้น จะไปทางกาย นั่งอยู่ที่นี่ คติของจิตอาจจะไปไกลถึง ที่อื่นก็ได้ คือ มีทางที่จิตจะไปสู่อารมณ์ต่างๆ แต่สำหรับท่านพระอานนท์เป็นเลิศกว่าเหล่าสาวกผู้มีคติ เพราะว่าจิตของท่านไม่ไปอื่น นอกจากไปตามแนวพระธรรม เพราะแม้พระธรรมเพียงบทเดียว ท่านก็ถือเนื้อความได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท คือ เข้าใจตลอดไปทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทั้งปัจจัยแต่ละปัจจัยที่เกิดร่วมด้วย ทั้งปัจจัยที่ไม่มีในเจตสิกในจิตดวงนั้น ถ้าท่านอ่านพระไตรปิฎกโดยตลอด โดยเฉพาะคัมภีร์ปัฏฐานจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด และจะไม่เหลืออะไรไว้ให้คนอื่นคิดอะไรอีก คือ ข้อความที่ควรคิด ควรพิจารณา มีพร้อมเต็มหมดในที่นั้น แม้แต่จิตดวงนี้มีปัจจัยอะไรเกิดร่วมด้วย เจตสิกดวงนี้เกิดเพราะปัจจัยอะไรบ้าง และไม่ได้เกิดเพราะปัจจัยอะไรบ้าง ก็บอกไว้ครบถ้วนหมด เพราะฉะนั้น ก็เป็นของที่แน่นอนที่ว่า พระธรรม บทเดียว ท่านก็ถือเนื้อความได้คือเข้าใจตลอดไปถึง ๖๐,๐๐๐ บท

        อนึ่ง ความเพียรไตร่ตรองธรรม ความเพียรสาธยายธรรม ความเพียรทรงจำธรรม และความเพียรอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์รูปนั้นเท่านั้น ที่ภิกษุอื่นๆ เทียบไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุผู้มีธิติ

        ธิติ คือ ความทรงไว้ ความตั้งมั่น ความมั่นคง ความแน่วแน่ ความเพียร ความพยายาม กำลัง ปัญญา

        อนึ่ง ท่านพระอานนท์รูปนั้น เมื่ออุปัฏฐากพระตถาคต ก็ไม่อุปัฏฐากด้วยอาการอุปัฏฐากของเหล่าภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากรูปอื่นๆ

        คือ ภิกษุรูปอื่นๆ อุปัฏฐากไม่นาน เพราะว่าในสมัยปฐมโพธิกาล ๒๐ พรรษาแรก พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีภิกษุผู้อุปัฏฐากประจำ ภิกษุทั้งหลายผลัดเปลี่ยนกันอุปัฏฐาก เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระหฤทัยและพระพุทธประสงค์ในกาล และในการถวายการอุปัฏฐากเท่าท่านพระอานนท์

        เพราะเหตุนี้ ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกผู้อุปัฏฐาก

        สำหรับอัจฉริยัพภูตธรรม คือ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ของท่านพระอานนท์ ๔ ประการ

        อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต อัจฉริยสูตรที่ ๓ ข้อ ๑๒๙

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

        ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้ ในเพราะอานนท์ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อเห็นอานนท์ ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยการเห็น ถ้าอานนท์กล่าวธรรมในบริษัทนั้น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยคำที่กล่าวนั้น ภิกษุบริษัทนั้นเป็นผู้ไม่อิ่มเลย ถ้าอานนท์เป็นผู้นิ่ง

        ตลอดไปจนถึงภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933


    หมายเลข 12871
    28 พ.ย. 2566