ความเมา ๓ ประการ (สุขุมาลสูตร)


    ท่านผู้ฟังไม่ควรที่จะเห็นเฉพาะการขาดความรู้สึกตัวที่เกิดจากการดื่มสุราเมรัย และของมึนเมาต่างๆ เท่านั้น แต่ขณะใดก็ตามที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นความเมา แต่ว่า เมาด้วยกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งการเมาด้วยโลภะ เมาด้วยโทสะ เมาด้วยโมหะ มีเป็นประจำอยู่แล้ว และบางท่านก็ยังเพิ่มการดื่มสุราให้เมายิ่งขึ้น ถึงกับขาดสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สุขุมาลสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเมา ๓ ประการ คือ ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ๑ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ความเมาในชีวิต ๑

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเปรียบเทียบได้ว่า ความเมา ๓ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้เป็นความจริงเพียงไร เช่น บุคคลที่เมาในความเป็นหนุ่มสาว ก็ไม่คิดว่า จะต้องถึงความแก่ความชรา ซึ่งการไปถึงความแก่ความชรานี้ คือ ทุกขณะที่ล่วงไป เพราะฉะนั้น การที่เห็นความชราในตนเอง หรือว่าในบุคคลอื่น จะเป็นอนุสติที่ทำให้เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง ซึ่งไม่มีใครพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะหมกมุ่นเพลิดเพลินมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว จนกระทั่งไม่คิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระในชีวิต เพราะถ้าจะรอไปจนกระทั่งถึงแก่เฒ่าจึงจะศึกษาธรรมบ้างหรือปฏิบัติธรรมบ้าง เวลาที่ผ่านไปเหล่านี้จะเพิ่มพูนกิเลสให้ยิ่งขึ้น ทำให้การละคลายขัดเกลากิเลสยากขึ้น

    สำหรับความเมาในความไม่มีโรค ถ้าขณะนี้ท่านผู้ฟังยังไม่มีโรค ลองคิดดูว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังมีความเมาในความไม่มีโรคในขณะนี้บ้างไหม เพราะว่าไม่มีใครทราบแน่ว่า โรคทั้งหลายจะเกิดกับท่านเมื่อไร ขณะใด เช่นเดียวกับโรคที่กำลังเกิดกับบุคคลอื่นอยู่ ก่อนหน้านั้น บุคคลนั้นก็ไม่คิดว่าจะต้องเป็นโรคอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีโรค ท่านก็ควรจะอบรมเจริญปัญญา เตรียมพร้อมที่จะผจญกับโรค ต่างๆ ที่อาจจะเกิดกับท่านก็ได้ เพราะว่าบางท่านเวลาที่มีโรคเกิดขึ้น ก็คร่ำครวญรำพัน เป็นทุกข์ กระวนกระวาย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง คือ นามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน

    และความเมาในชีวิต ก็เป็นเรื่องที่เป็นปกติ สำหรับท่านที่ไม่ได้ระลึกเลยว่า ความตายใกล้ที่สุด อาจจะเกิดขึ้นขณะหนึ่งขณะใดได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่ประมาทมัวเมาไม่คิดถึงว่าจะต้องเป็นผู้ที่ถึงแก่ความตาย จะเร็วหรือช้าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้บ้างเลย วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไป โดยที่ท่านไม่ได้อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการที่จะอยู่ในโลกนี้อย่างมีประโยชน์ มีสาระ เพราะว่าเรื่องของอกุศลมีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ แต่เรื่องของกุศลนานๆ ก็จะมีโอกาส มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความเมาในความเป็นหนุ่มสาวบ้าง ในความไม่มีโรคบ้าง ในชีวิตบ้างนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมขัดเกลากิเลส แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไป ท่านก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นทาน จะเป็นศีล จะเป็นความสงบของจิต อบรมเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของความประมาท ซึ่งถ้าท่านจะพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็จะเข้าใจเหตุผลว่า ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงเตือน และทรงแสดงเรื่องของความประมาทไว้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494


    หมายเลข 12878
    26 ก.ย. 2567