การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้ได้รับทุกข์
พระคุณเจ้า กรุณา คือการช่วยเหลือบุคคลที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก เช่น ผู้ที่ประสบทุกข์ภัยทางธรรมชาติ บางครั้งเราไปช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และทำให้เรารู้สึกไม่ดี ต่อเหตุการณ์หรือบุคคลนั้น ก็ควรจะหลีกเลี่ยงถ้าหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ควรจะมนสิการว่าเป็นวิบากของเรา
อ.สมพร การที่เราจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ก็ยากเหมือนกัน แต่ว่าคนทั้งหลายเกิดมาด้วยกรรมของตน จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เราก็ช่วยได้นิดหน่อย ช่วยได้โดยที่ว่าให้ตั้งอยู่ในศีลบ้าง ในทานบ้าง ในธรรมที่ถูกต้องบ้าง เราก็แนะนำในบุญกิริยาวัตถุ สิ่งที่นอกจากบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แล้วก็ไม่มี การช่วยเหลือก็ต้องดูเหตุการณ์ ช่วยเหลือเพื่ออนุเคราะห์ ช่วยเหลือเพื่อเป็นที่พึ่งแก่เรา และบุคคลทั่วๆ ไปด้วย
พระคุณเจ้า บางครั้งเราอาจจะไปพบบุคคลที่เป็น "วิสภาคะ" กับเรา อาตมาเคยทดลองกับตัวเองว่า คนๆ นี้เป็น "วิสภาคะ" แก่เรา เราไม่ชอบเขา เขาก็ไม่ชอบเรา เกิดเขามาคุยกัน ก็มาทำเป็นกระมิดกระเมี้ยน ทำเป็นมารยาทดีก็จริง แต่ว่าโทสะก็เกิดขึ้นตามมาตลอด เราระลึกถึงสภาวะคือโทสะอยู่ อาจารย์ก็บอกว่าเราควรจะหลีกเลี่ยง พยายามห่างวัตถุที่เป็นอาฆาตวัตถุออกไป อกุศลจิตของเราจะได้ไม่เกิดขึ้น เมื่ออกุศลจิตไม่เกิดขึ้น โอกาสที่เราจะเจริญศีล สมาธิ ปัญญา หรือให้ทาน รักษาศีล เจริญบุญกิริยาวัตถุก็จะง่ายกว่าที่จะไปพบสิ่งที่เป็น "อาฆาตวัตถุ" หรือเป็น "วิสภาคะ" แก่เรา
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทราบได้ว่าขณะต่อไปจะเห็นอะไร พระคุณเจ้าจะไปที่โน่นก็คงจะไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่ผู้ที่ได้รับภัยพิบัติ ก็ไม่ได้รู้ล่วงหน้ามาก่อนเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างให้ทราบว่ามีปัจจัยก็เกิด และสำหรับเรื่องของการช่วยเหลือ การช่วยบุคคลอื่นเป็นกุศลจิต แต่ว่าผู้รับพร้อมที่จะรับสิ่งที่เราช่วยหรือไม่ เพราะว่าความทุกข์มีหลายรูปแบบ ทุกข์ไม่มีที่อยู่อาศัย และทุกข์อะไรๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือของแต่ละบุคคลตามความถนัด และตามความสามารถ ผู้ใดมีความสามารถในเรื่องการสร้างที่พักก็ช่วยในเรื่องนั้น ผู้ใดมีความสามารถที่จะสะสมอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะบริจาคก็ช่วยเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีกุศลจิตตามความถนัด ถ้าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจธรรม ก็จะมีความเข้าใจว่า ช่วยคนอื่นถ้าเขายังมีความเห็นผิด หรือว่ามีความไม่รู้ ช่วยเท่าไรก็ไม่จบเพราะว่ายังคงมีความเห็นผิดต่อไป และก็ยังมีอกุศลต่อไปซึ่งจะทำให้ทำอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องได้รับอกุศลวิบากซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกภพทุกชาติ
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าบุคคลใดพร้อมที่จะฟังสิ่งที่มีเหตุผล เราก็อาจจะสนทนากับเขา แต่เรื่องการช่วยเหลือ ถ้าเราจะนำพระคัมภีร์ไปอ่านหรือพูดเรื่องราวแบบเทศนาก็อาจจะไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจขณะนั้นได้มากตามสมควร เท่ากับสิ่งที่เขากำลังเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการสนทนาธรรมในเรื่องที่เขาพร้อมที่จะเข้าใจได้ในขณะนั้น เช่น ทุกคนไม่มีใครหวังว่าสิ่งที่ร้ายๆ จะเกิดขึ้น แต่ว่าทุกคนเมื่อมีกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อกรรมนั้นถึงกาลที่ให้ผลก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างของผู้ที่ได้รับภัยพิบัติร่วมกันมีนานาอาชีพ นานาวัย ต่างกันไปโดยประการต่างๆ เมื่อถึงกาลที่กรรมของแต่ละบุคคลจะให้ผลก็ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้เลย อย่างนี้ก็ค่อยๆ แสดงให้เขาเห็นความจริงว่าทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เขาก็จะเริ่มเข้าใจความหมายของอนัตตา และก็ยังแสดงให้เห็นว่าการที่เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว แต่ละคนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน บางคนก็รอดชีวิตได้แต่ก็มีบาดแผลมีอะไรต่างๆ
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการให้ผลของกรรมของแต่ละคนซึ่งก็ต่างกันไป ถ้าสามารถที่จะทำให้เขาเข้าใจได้ถูกต้องในเรื่องของกรรม และผลของกรรม ก็จะทำให้เขาค่อยๆ คลายความเศร้าเสียใจว่าทำไมเขาถึงได้รับผลอย่างนี้ โดยที่เขาไม่รู้ว่าเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องพร้อมทั้งผู้รับ และผู้ให้ด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่เขาไม่อยู่ในฐานะที่รับฟังอะไรได้ กำลังทุกข์โศกอย่างสาหัสถึงกับจิตแพทย์ ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของยา หน้าที่ของหมอ นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนซึ่งถ้ามีกุศลจิตจะช่วย ก็ช่วยตามกำลังด้วยปัญญาที่รู้ว่า เขาสามารถจะเกิดความเข้าใจถูกต้องได้แค่ไหน แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกข์ก็มาซ้ำแล้วซ้ำอีกทับถม ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้ แต่ถ้ามีปัญญาขึ้น ไม่ว่าทุกข์ใดๆ จะมาในรูปแบบใด เขาก็สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกได้ ก็ตามฐานะของแต่ละบุคคล ตามเพศด้วยว่าเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต
ผู้ฟัง สภาพจิตของตัวเราเองในขณะที่เห็นเหตุการณ์ หรือว่าประสบกับเหตุที่ผู้อื่นได้รับทุกข์ แล้วทำให้เราไม่อยากจะเห็นภาพนั้น เพราะว่ากำลังของกุศลเราไม่มี แล้วเราก็วิ่งหนีจากอกุศลนั้นที่เราพบ เพราะเราก็ไม่อยากจะเห็นไม่อยากจะพบ เพราะเป็นสภาพของความสลดใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วจากการศึกษาธรรม อย่างนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องใช่ไหม
ท่านอาจารย์ กำลังมี ๒ ฝ่าย กำลังของ "หิริโอตตัปปะ กับกำลังของอโนตตัปปะ" เพราะฉะนั้นเราก็รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นเมื่อมีสิ่งที่เกิดเฉพาะหน้า อะไรมีกำลัง "หิริโอตตัปปะ" มีกำลังคิดจะช่วย เพราะว่าที่นั่นไม่มีใครอีกแล้ว และเขาก็อยู่ในฐานะที่ลำบาก กำลังเป็นตายเท่ากันก็แล้วแต่สถานการณ์ ถ้ากุศลจิตเกิดก็ช่วย แต่ถ้า "อหิริกะ อโนตตัปปะ" มีกำลัง ก็ไปเลย เพราะว่าไม่สามารถจะช่วยได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งจากการฟัง และการไตร่ตรอง เราก็จะรู้ได้ว่าเราสะสมปัจจัยสำหรับสถาการณ์ใด บางคนง่ายที่จะมีเมตตา แต่ยากที่จะกรุณา หรือว่าอาจจะมีความกรุณาด้วย แต่ไม่ถึงกับสามารถจะไปช่วยได้ ก็รู้กำลังความสามารถของตัวเองด้วย ว่าอาจจะช่วยไม่เป็น แทนที่จะรอดก็อาจจะซ้ำเติมอาการหนักขึ้นก็ได้หรืออะไรอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องแก้ตัว ธรรมต้องตรง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล
ในบรรดาธรรมที่เป็นพรหมวิหาร เมตตา การที่มีความหวังดี เป็นมิตรต่อผู้อื่น ที่จะเจริญขึ้นคือไม่เลือกเลยว่าบุคคลนั้นเป็นใคร ไม่ใช่กับมิตรสหายเมตตาได้ แต่เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ มีใครเป็นโรคชนิดไหนมากระทบก็เกิดความรังเกียจ ขณะนั้นก็คือไม่เมตตา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เมตตาเป็นสิ่งที่ดี เรามีระดับไหน สำหรับกรุณา คือมีความเข้าใจ เห็นใจในความทุกข์ของคนอื่น แต่ว่ามีกำลังถึงขนาดช่วยได้หรือไม่
ที่มา ...