โคธิกสูตร ท่านพระโคธิกะฆ่าตัวตาย
สำหรับผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาในอดีตชาติมามาก ถึงขั้นที่สามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อยังไม่บรรลุธรรม ก็ยังฆ่าตัวตายได้ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โคธิกสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ฯ
ก็สมัยนั้นแล ท่านพระโคธิกะอยู่ที่กาลศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ฯ
ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ (คือ บรรลุฌานสมาบัติ) ภายหลังท่านโคธิกะได้เสื่อมจาก เจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ แม้ครั้งที่ ๒ ก็ได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น
แม้ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ครั้งที่ ๕ ครั้งที่ ๖ ครั้งที่ ๗ ท่านโคธิกะเป็น ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ก็ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์อีก ฯ
ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราเสื่อมจากเจโตวิมุตติ อันเป็นโลกีย์ถึง ๖ ครั้งแล้ว ถ้ากระไรเราพึงนำศัสตรามา ฯ
ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
ถามว่า เพราะเหตุไรท่านโคธิกะจึงเสื่อมถึง ๖ ครั้ง
ตอบว่า เพราะท่านมีอาพาธเรื้อรังประจำตัว โดยเป็นโรคลมดี และเสมหะ ด้วยอาพาธนั้นท่านจึงไม่อาจบำเพ็ญอุปการธรรมให้เป็นสัปปายะของสมาธิได้ และท่านทราบว่า ผู้ที่ฌานเสื่อมแล้วนั้น เมื่อจุติแล้วก็มีคติไม่แน่นอน (คือ ไม่ได้เกิดในพรหมโลก) ท่านจึงคิดที่จะฆ่าตัวตาย ก็ขึ้นชื่อว่าการฆ่าตัวตายนี้ ย่อมมีแก่ผู้ไม่เยื่อใยในร่างกาย และชีวิต
แต่อย่าลืม ด้วยอวิชชาหรือด้วยปัญญา
เมื่อมารพิจารณารู้ว่า ท่านพระโคธิกเถระจะฆ่าตัวตาย และท่านย่อมจะพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ และย่อมจะบรรลุธรรมได้ถึงพระอรหัต มารก็คิดที่จะให้พระผู้มีพระภาคห้ามท่านพระโคธิกะฆ่าตัวตาย เพราะถ้ามารห้ามเอง ท่านพระโคธิกะก็จะไม่เชื่อ
กลัวว่าท่านพระโคธิกะจะได้เป็นพระอรหันต์ มารจึงได้เข้าไปเฝ้ากราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ และกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ปรากฏในหมู่ชน สาวกของพระองค์ยินดีในพระศาสนา ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตอันตัดเสียซึ่งมานะ ยังเป็นพระเสขะอยู่ ไฉนจะพึงกระทำกาละเสียเล่า ฯ
เพราะไม่ควรฆ่าตัวตายให้ปรากฏแก่มหาชนว่า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคแล้วยังฆ่าตัวตาย
ก็เวลานั้น ท่านพระโคธิกะได้นำศัสตรามาแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสกะมารว่า
ปราชญ์ทั้งหลายย่อมทำอย่างนี้แล
หมายความถึง ย่อมพากเพียรเจริญปัญญา
ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต โคธิกะภิกษุถอนตัณหาพร้อมด้วยราก นิพพานแล้ว ฯ
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านยังเป็นผู้มีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ และชีวิตที่จะเป็นไปในวันหนึ่งๆ ย่อมไม่มีใครทราบแน่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ การสะสมในอดีตที่สะสมความพอใจ อาจจะเป็นผู้ที่ชอบการฆ่า หรือเคยฆ่าสัตว์ มามาก ก็มีความโน้มเอียงในการที่จะฆ่าได้โดยง่าย และสำหรับอกุศลวิบากทางกาย ย่อมเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น แม้แต่ท่านพระโคธิกะเอง ท่านก็ได้รับทุกข์ทางกายเพราะอาพาธที่เรื้อรังประจำตัว แต่ท่านเป็นผู้มีความเพียรระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนสามารถบรรลุถึงความเป็นอรหัตก่อนที่ ท่านจะสิ้นชีวิต
เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ทราบว่าความตายจะมาถึงโดยลักษณะใด จึงควรเป็น ผู้ที่พร้อม คือ เจริญเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความตายในลักษณะใดก็ตาม ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ยังไม่ถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่กุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ที่เกิดก่อนจุติจะเป็นชนกกรรมทำให้ญาณสัมปยุตต์ปฏิสนธิได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ และทุกคนหวังที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ที่จะเป็นได้เหมือนอย่างท่านพระโคธิกะ หรือแม้แต่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมก่อนที่จะจุติได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน นั่นคือผู้พร้อมที่จะตาย
สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะฟังเรื่องของความตายโดยลักษณะต่างๆ และ รู้ว่า ความตายเป็นของแน่ ควรที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ แต่อกุศลที่ได้สะสมมามากก็ทำให้เป็นผู้หลงลืมสติอยู่เสมอ และมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเป็นประจำ และ ยังมีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ เวลากระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยที่ไม่สามารถให้กิเลสหมดไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ฟัง ทั้งๆ ที่รู้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องฟัง และอบรมเจริญปัญญา และเห็นโทษของอกุศลจริงๆ
แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือ ก่อนนั้น ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ จนกระทั่งถึงในสมัยนี้ ทุกท่านย่อมเห็นกำลังของอกุศลว่า มีมากจริงๆ ในวันหนึ่งๆ
ที่มา ...