อยากรู้ว่าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่


    ท่านอาจารย์ เมื่อวันก่อน มีท่านที่ถามว่า ในครั้งพุทธกาลจะมีคำถามแบบนี้ไหม ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า คำถามอย่างที่ถามจะมีไหมในครั้งพุทธกาลว่า เป็นสติไหม เพราะว่าทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่เพื่อให้คนนั้นเกิดความต้องการ แต่ให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง สังเกตดูส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงความเข้าใจในสิ่งที่มีเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะละความไม่รู้ แต่กลับเป็นความสงสัย และต้องการรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอย่างนั้นใช่ไหม เป็นอย่างนี้ใช่ไหม นี่แสดงว่า จุดประสงค์ของการฟังตรง หรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ามีความสงสัยว่า บุคคลในครั้งพุทธกาลฟังแล้วจะถามไหมว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ แต่ฟังเพื่อให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง

    ผู้ฟัง เรื่องสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปแล้ว แน่นอนว่าคนอื่นไม่รู้ ตัวเองเท่านั้นจะรู้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ตัวเองจะรู้ถูก หรือไม่ ตรงนี้ที่เป็นปัญหาว่ามันใช่ หรือไม่ ก็จะสนทนากันตรงนี้

    ท่านอาจารย์ จะให้คนอื่นตอบว่าใช่ หรือไม่ใช่ หรือเมื่อตัวเองยังไม่รู้ก็ฟัง จนกระทั่งสามารถเข้าใจความต่างของขณะที่สติปัฏฐานเกิด และขณะที่หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าในปัจจุบัน ทั่วๆ ไป เรายังไม่เคยสนใจเลยว่า ลักษณะความต่างกันระหว่างรูปกับนาม หรือลักษณะขณะนี้เป็นอย่างไร ถ้าเรายังไม่เคยใกล้ชิดกับลักษณะของสภาพแต่ละอย่างนี้ สติปัฏฐานก็ไม่มีวันที่จะเกิด ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ความจริงทุกอย่างที่มีจริงเป็นสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่เป็นไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงๆ ก็เกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่ฟัง ต้องการสติปัฏฐาน หรือจะละความไม่รู้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นการละความไม่รู้ ไม่ต้องคิดเรื่องสติปัฏฐานเลย คิดทำไม คิดเพราะอยาก แต่ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และได้ฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ความไม่ใช่ตัวตน ต้องแม้แต่สติก็ไม่ใช่ตัวตนด้วย คือ ต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ เพราะมิฉะนั้นใจก็จะแลบไปหาว่า แล้วขณะนี้กำลังพูดเรื่องแข็ง แล้วกำลังรู้ตรงแข็ง สงสัยมาแล้วว่า นี่เป็นสติปัฏฐานไหม เพราะกำลังฟัง และมีแข็ง แล้วสติ หรือไม่สติ ขณะที่กำลังรู้ตรงแข็ง ใครจะรู้ ถ้าไม่ฟังโดยละเอียดว่า ไม่ใช่เรื่องต้องการ แต่ต้องเป็นเรื่องละ

    เพราะฉะนั้นปัญญาความรู้มีพอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดแล้ว หรือว่าไม่ใช่อย่างนั้น เป็นแต่เพียงว่า พอได้ยินได้ฟังเหมือนเด็กๆ ก็ถูกถามว่า แข็งไหม เด็กก็จับ กระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ตอบได้ว่าแข็ง คำตอบเหมือนกัน สิ่งที่ปรากฏก็มีจริงๆ เหมือนกัน คือ แข็ง ความรู้ก็เท่ากัน เพราะว่ากำลังเป็นสภาพที่รู้แข็ง แต่ความเข้าใจธรรมะมีมากพอที่จะละความต้องการที่จะรู้แข็ง หรือไม่ เพราะว่าเป็นเรื่องละโดยตลอด แล้วจะติดกับของโลภะไปตลอดเหมือนกัน เพราะว่ายังไม่เห็นโลภะ เพราะฉะนั้นจะเห็นความละเอียดของธรรมะโดยตลอดว่าที่ทรงแสดงไว้โดยนัยประการต่างๆ โดยนัยของอริยสัจ ๔ โลภะเป็นสิ่งที่ต้องละ ก็ลืมไม่ได้ แต่เรื่องที่จะละ ไม่มีใครสามารถจะละได้เลย เพราะเหตุว่าสะสมความไม่รู้ และความต้องการมากพอที่จะปิดบังให้ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลที่ฟังธรรมะมาแล้วมากในอดีต ซึ่งขณะนี้ก็เป็นการฟังธรรมะ ซึ่งถ้ามีการฟังต่อไปในอนาคตก็คือผู้ที่ได้ฟังธรรมะมาแล้วมากในอดีต แต่ว่าต้องขึ้นกับความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ความเข้าใจเพราะอยากรู้ลักษณะของสภาพธรรม อยากรู้ว่าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ฟังแล้วก็รู้ว่า เป็นผู้ที่ตรง เพราะอย่างท่านพระสารีบุตร ๑ อสงไขย แสนกัป แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม แม้แต่การที่จะเป็นพระโสดาบัน ถ้าไม่มีการฟังด้วยความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถที่จะเพียงฟังแล้วละความติดข้อง และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง คือเกิดแล้วดับขณะนั้นได้ไหม

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องอื่น เป็นเรื่องของปัญญา และปัญญาก็ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ใคร แต่ระดับขั้นของปัญญามีมาก ถ้าเป็นผู้ตรงต่อการเข้าใจธรรม ไม่มีเครื่องกั้น ไม่ต้องถามว่า แล้วเป็นสติ หรือไม่ ถึงไม่ถามคนอื่น ใจก็ถามแล้ว ใช่ไหม นึกแล้วว่านี่ใช่ หรือไม่ มันเรื่องอะไร ขณะนั้นเป็นเราคิดก็ไม่รู้ เห็นไหมว่าสำหรับวิปลาส ๔ พระโสดาบันละวิปลาสทั้ง ๔ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด สัญญาวิปลาสในความเป็นตัวตน ในการเป็นสิ่งที่คิดว่าเที่ยง ในการเป็นสิ่งที่คิดว่าสุข ในการเป็นสิ่งที่คิดว่างาม ทั้งหมดที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย พระโสดาบันไม่มี ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เมื่อเห็นแล้ว วิปลาส ปกติของผู้ที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม มีไหม ยังไม่ได้ดับ เพราะปัญญาไม่เกิด ที่ว่าไม่ดับ เพราะปัญญาไม่เกิด ไม่ใช่มีใครสามารถดับได้เลย

    เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงความเข้าใจที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ จะเป็นพระโสดาบันวันไหน คงไม่ต้องสนใจที่จะรอแล้วใช่ไหม แต่มีการรู้เหตุปัจจัยว่า แม้สติสัมปชัญญะก็ไม่ใช่ขณะที่ต้องถามใคร และไม่ใช่ขณะที่สงสัย แต่รู้ความจริงว่า ชั่วขณะสั้นๆ แล้วมีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็รู้ว่า ขณะนั้นลักษณะของสติกำลังเกิดแต่น้อยมาก สั้นมาก เพราะเหตุว่าสติเกิดแล้วก็ดับไป แต่มีความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดเป็นปกติ แล้วก็ละ เรื่องของเรื่องคือละ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีความหวังรอต่อไปว่า แล้วเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดอีก แล้วจะใช่ไหมอีก จะใช่ไหมจะตามไปตลอด เพราะว่ายังมีความสงสัยอยู่ ซึ่งจะหมดไปได้เมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ด้วยการละ ไม่ใช่ด้วยการหวังรอ หรือด้วยความต้องการ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 370


    หมายเลข 12990
    31 ส.ค. 2567