กิจที่ควรรีบทำของภิกษุ ๓ อย่าง


    ท่านอาจารย์ ขอกล่าวถึงข้อความใน พระไตรปิฎก ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โลณผลวรรคที่ ๕ อัจจายิกสูตร ข้อ ๕๓๒ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างเหล่านี้ ๓ อย่างเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาน้ำออกเสียบ้าง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า ข้าวเปลือกของเราจงเกิดในวันนี้ พรุ่งนี้จงมีท้อง มะรืนนี้จงหุงได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่ข้าวเปลือกของคฤหบดีชาวนานั้นมีความแปรเพราะฤดู เกิดก็ดี มีท้องก็ดี หุงได้ก็ดี มีอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กิจที่ควรรีบทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า จิตของเราจงพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานในวันนี้แหละ หรือมิฉะนั้นก็ในวันพรุ่งนี้ หรือในวันมะรืนนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่จิตของภิกษุนั้น ผู้ศึกษาอธิศีลอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิจิตอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิปัญญาอยู่ก็ดี หลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นมีอยู่ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ กับชาวนาในโลกนี้ คือ ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายน้ำออกเสียบ้าง นี่เป็นกิจของชาวนา แต่กิจที่ควรรีบทำของพระภิกษุ ๓ อย่าง คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา การสมาทานอธิจิตสิกขา การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ซึ่งก็ได้แก่ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง และเวลาที่อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นี้ ถ้าไม่มีความรู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรเลยที่สามารถจะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ที่ชาวนารีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย รีบเร่งเพาะพืชลงไป นี่เป็นการตระเตรียม กว่าจะได้ผลที่เกิดจากการทำนา ฉันใด การที่ปัญญาจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าจะรีบเร่ง คือ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทันที จึงจะเป็นการตระเตรียมเหมือนชาวนาที่ดำเนินการทำนาเป็นขั้นๆ

    ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า สามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายให้เร่งความเพียร จนกระทั่งเลือดเนื้อทั้งหมดเหือดแห้งไปก็ดี ให้เร่งความเพียร และอาจารย์ก็อธิบายว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสสอนไว้อย่างนั้น คือ การไปนั่งทำความเพียรให้เลือดก็ดี เนื้อก็ดี ให้เหือดแห้งไปนั้น ถ้าอินทรีย์ยังไม่สมบูรณ์แล้ว ก็จะตายเสียเปล่า ไม่ได้บรรลุคุณธรรมอะไรทั้งนั้น

    ในเมื่อเป็นแบบนี้ คำสอนของพระพุทธองค์สูตรนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ ขัดกับความเข้าใจของเราว่า คำสอนของพระผู้มีพระภาคมีประโยชน์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ในเมื่อเป็นแบบนี้ สูตรนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์เลย

    ความเพียรในที่นี้ ความเพียรในมรรคมีองค์ ๘ นั้น เป็นเจตสิกดวงหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต ถ้าขณะที่สังเกต สำเหนียกรูปหนึ่งรูปใด นามหนึ่งนามใด ขณะนั้นความเพียรมีอยู่แล้ว แต่ที่จะไปเพียรนั่งให้เนื้อหรือเลือดเหือดแห้งไปอย่างนั้น ลักษณะนั้นจะจัดว่าเป็นความเพียรหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่า พระภิกษุจะไม่ปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอน หรือทรงโอวาท แต่ปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เพียรนั้น คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนี้เพียรได้แล้ว ถ้าจะกระทำตามคำสอนจริงๆ รีบเร่ง คือ ระลึกรู้ในขณะนี้

    ความเป็นอยู่จะยากลำบากสักเท่าไร อย่างไร ไม่มีใครจะรู้ชะตากรรมของชีวิต แม้แต่ของบรรดาพระภิกษุว่า จะเกิดทุพภิกขภัยเมื่อไร จะมีการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร ก็ตาม ไม่ควรที่จะละเว้นความเพียรในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจสูตรนี้ผิด ก็จะคิดว่า ทันทีที่ทรงแสดงพระธรรมสูตรนี้จบลง พระภิกษุทั้งหลายจะมีประมาณสักเท่าไรก็ตามที่กำลังฟังอยู่ ก็จะต้องนั่งอยู่ที่นั่นไม่ไปไหนเลย จนกว่าจะบรรลุอริยสัจธรรม แต่ไม่มีที่จะกล่าวว่าอย่างนั้น

    ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งนั้น ท่านก็ดำเนินชีวิตของท่านเป็นปกติตามพระวินัยบัญญัติ ในเมื่ออินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ยังต้องมีกิจที่จะต้องบริหารร่างกาย มีกิจของสงฆ์ที่ยังจะต้องกระทำ ท่านก็กระทำ พร้อมกับการรีบเร่ง ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทันที


    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อวสฺสุสฺสตุ เม ท่านหมายถึงตัวของท่านเอง ไม่ได้ไปสอนคนอื่นให้นั่งจนเลือดเหือดแห้ง อวสฺสุสฺสตุ คือ จงเหือดแห้ง เม ของเรา คือ พระพุทธเจ้า มํสโลหิตํ คือ เลือดเนื้อของท่าน เวลาที่ท่านนั่งบำเพ็ญสัมมาโพธิญาณใต้โพธิบัลลังก์

    ท่านอาจารย์ ที่อื่นก็มีปรากฏเรื่องของความเพียร ถ้ามีหนทางใดที่พระผู้มีพระภาคจะทรงพร่ำสอนโอวาทให้เห็นกิจที่ควรเร่งกระทำทันทีด้วยนัยอุบายใดๆ ด้วยพระธรรมเทศนาประการใด ก็ทรงแสดงไว้ทั้งหมด เป็นเรื่องของอินทรีย์ ที่ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงกับพระภิกษุทั้งหลายให้มีความพากเพียรอย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้นั่งไม่ลุกเลย ไม่อย่างนั้นในพระไตรปิฎกจะต้องมีข้อความว่า หลังจากที่ทรงแสดงพระสูตรนี้จบลง ภิกษุก็นั่งอยู่อย่างนั้นไม่ได้ลุกขึ้นเลย ซึ่งก็ไม่มี และท่านผู้ฟังก็จะพิสูจน์ธรรมได้กับตัวของท่านเองจริงๆ ว่า ขณะนี้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ นั่งไม่ลุก จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม

    แต่ถ้าเมื่อไรท่านอบรมเจริญไป ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสภาพธรรมสมควรแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร ก็ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะไปยับยั้งได้ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ต้องเกิดขึ้น

    ไม่ใช่ว่า พระภิกษุท่านไม่ปฏิบัติตาม ท่านปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจถูก ซึ่งท่านก็ดำรงชีวิต ดำเนินชีวิตไปตามปกติในเพศของบรรพชิต บริหารร่างกายตามปกติ กระทำกิจของสงฆ์ตามปกติ แต่รีบเร่งกระทำความเพียร โดยการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 448

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 449


    หมายเลข 12996
    5 ส.ค. 2567