ภรัณฑุสูตร สะสมมาที่จะเห็นผิด
สำหรับเรื่องของการเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติก็ตาม หรือว่าความเห็นผิดในข้อปฏิบัติก็ตาม เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะแก้ไขบุคคลที่ไม่ได้สะสมมาที่จะมนสิการหรือ พิจารณาในเหตุผลให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ฟังด้วยกัน ท่านหนึ่งสามารถที่จะพิจารณา มนสิการในเหตุผลตามคลองของธรรมตรงตามความเป็นจริงได้ แต่อีกท่านไม่พิจารณาเลย และก็ไม่เข้าใจด้วย
เมื่อผู้ใดไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยมาที่จะพิจารณาธรรมให้ถูกต้องตามคลองของธรรม บุคคลอื่นก็ไม่สามารถที่จะไปแก้ไข หรือไปเปลี่ยนแปลงปัจจัยของเขาที่สะสมมาที่จะเห็นผิด ให้กลับเป็นการพิจารณาธรรมด้วยความแยบคายได้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็ตาม
ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ภรัณฑุสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท เสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้ทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์โดยลำดับแล้ว ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะว่า
ไปเถิดมหานามะ ท่านจงรู้สถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ ที่ตถาคตควรอยู่สักคืนหนึ่งวันนี้
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ รับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ เที่ยวไปจนทั่ว ก็มิได้เห็นสถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่สักคืนหนึ่ง ลำดับนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ไม่มีสถานที่พักซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับสักคืนหนึ่งวันนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนี้เป็นเพื่อนพรหมจารีเก่าแก่ของพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับอยู่ ณ อาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนั้นสักคืนหนึ่งในวันนี้เถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ไปเถิดมหานามะ ท่านจงปูลาดเครื่องลาดเถิด
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วทรงปูลาดเครื่องลาด ทรงตั้งน้ำไว้เพื่อจะล้างพระบาท แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ลาดเครื่องลาดเสร็จแล้ว ได้ตั้งน้ำไว้เพื่อชำระพระยุคลบาทแล้ว บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วทรงล้างพระบาททั้งสอง ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงดำริว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย ต่อวันพรุ่งนี้ เราจึงจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จหลีกไป
ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า
ดูกร มหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ศาสดาพวกหนึ่งในโลกนี้ บัญญัติการกำหนดรู้กาม ไม่บัญญัติการกำหนดรู้รูป ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กาม และบัญญัติการกำหนดรู้รูป แต่ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กามด้วย บัญญัติการกำหนดรู้รูปด้วย บัญญัติการกำหนดรู้เวทนาด้วย
ดูกร มหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
ดูกร มหานามะ คติของศาสดา ๓ จำพวกนี้ เป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าเป็นต่างๆ กัน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน
เมื่อภรัณฑุดาบสกาลามโคตรกล่าวเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่าเป็นต่างๆ กัน
แม้ครั้งที่สอง ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวกะเจ้าศากยพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน
แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน
แม้ครั้งที่สาม ภรัณฑุดาบสกาลามโคตร ก็ได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน
แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน
ครั้งนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้คิดว่า เราถูกพระสมณโคดมรุกรานเอาแล้วต่อหน้าเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะผู้มีศักดิ์ใหญ่ถึงสามครั้ง ผิฉะนั้น เราพึงหลีกไปเสียจากนครกบิลพัสดุ์ ลำดับนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้หลีกไปแล้วจากพระนครกบิลพัสดุ์ เขาได้หลีกไปแล้วเหมือนอย่างนั้นทีเดียว มิได้กลับมาอีกเลย ฯ
แทนที่จะสอบถามเรื่องของเหตุผล เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนถูกต้อง แต่ผู้ที่สะสมการที่จะเห็นผิด การที่จะไม่พิจารณาเหตุผล ก็กลับกระทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ หลีกไปเสียจากสถานที่นั้น และไม่ได้กลับมาอีกเลย
เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าท่านไม่ศึกษาโดยตลอด ไม่พิจารณาไตร่ตรอง สอบทาน เทียบเคียงโดยแยบคาย โดยละเอียดจริงๆ จะเข้าใจ สภาพธรรมผิดได้โดยง่าย แต่เพราะเหตุที่ธรรมเป็นสภาพที่มีจริง คงทนต่อการพิสูจน์ ผู้ที่ได้ตรัสรู้สภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง จึงได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไว้
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่ต้องการจะทราบเหตุผลตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะต้องศึกษาจริงๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุผลจริงๆ จึงจะสามารถเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้อง ไม่เข้าใจผิด ไม่คลาดเคลื่อนได้
แต่จะเห็นโทษของการไม่พิจารณาธรรม ไม่สอบทาน ไม่เทียบเคียง เพราะแม้ว่าบุคคลอื่นจะกล่าวถึงความจริงของสภาพธรรมนั้นอย่างไร ท่านก็จะยังยึดถือในความคิดเห็นของท่าน ไม่พิจารณาธรรมให้ถูกต้อง ซึ่งจะไม่ได้รับประโยชน์เลย เพราะถ้าไม่ใช่สภาพธรรมที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะละคลายกิเลสได้ แม้แต่ในเรื่องของศีลอุโบสถนี้ ก็จะต้องเข้าใจเหตุผลให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงด้วย จึงจะได้ประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสจริงๆ
ที่มา ...