ผู้ปฏิบัติ ต้องไปเทียบเคียงกับพุทธพจน์ หรือปริยัติ หรือไม่


    ผู้ฟัง เมื่อศึกษา และรู้ตรงแล้ว ผู้ปฏิบัติรู้ได้เองว่าตรง หรือว่าต้องไปเทียบเคียงกับพุทธพจน์ หรือปริยัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้ว ก็ต้องตรง ทำไมจะต้องไปเทียบเคียงอีก ขณะที่กำลังเทียบเคียง คือ ยังไม่ได้รู้แล้วจริงๆ จึงยังต้องเทียบเคียงอยู่

    อย่างทางตาขณะนี้ รู้จริงๆ แล้วหรือยังว่าไม่ใช่ตัวตน สภาพของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรมนั้นเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่รู้ ก็ต้องระลึก และเทียบเคียงว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ ที่กำลังเห็นนี้เป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง คือ รู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ และต้องเทียบเคียงเพื่อให้รู้จริงๆ ว่า ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีสภาพรู้สีสันที่กำลังปรากฏ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ปรากฏไม่ได้เลย

    นี่คือการเทียบเคียงที่จะให้เกิดความรู้ขึ้นตามความเป็นจริงว่า สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตานี้ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นลักษณะของจริงชนิดหนึ่ง ถ้าหลับตาเสีย สีสันวัณณะเหล่านี้จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ที่กำลังปรากฏอยู่เพราะกำลังมีสภาพที่เห็น คือ รู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏคู่กันอยู่ในขณะนี้ นี่คือการเทียบเคียงเพื่อที่จะให้ปัญญาแยกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมออกจากกันจริงๆ จนถึงการที่จะรู้ทั่วทั้ง ๖ ทาง เช่น ทางหู เสียงปรากฏ เสียงไม่ใช่สภาพรู้เลย แต่ที่เสียงกำลังปรากฏได้ในขณะนี้เพราะมีอาการรู้เสียง เสียงในขณะนี้จึงปรากฏได้

    โดยปริยัติ ธาตุที่รู้เสียง คือ โสตวิญญาณธาตุ ซึ่งต่างจากจักขุวิญญาณธาตุ ในธาตุ ๑๘ เมื่อประมวลธาตุแล้วทั้งหมด พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกเป็นธาตุ ๑๘ ตามความต่างกันของธาตุนั้นๆ

    นี่คือการกำลังเทียบเคียงด้วยสติที่ระลึก จนกว่าจะเป็นความรู้จริง ประจักษ์ในธาตุที่ต่างกัน แต่ถ้ารู้แล้ว เพราะได้อบรมเจริญมาพอที่จะรู้แล้ว ก็รู้แล้วโดยที่ไม่ต้องเทียบเคียงเลย

    ที่ม่ ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 449


    หมายเลข 12999
    5 ส.ค. 2567