มูลเหตุ และ การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๒ (ตอนที่ ๔)


    ข้อความต่อไปมีว่า

    เรื่องพระสัมภูตสาณวาสีถาม

    ข้อ ๖๔๘

    พระเถระทั้งสองสนทนากันมาโดยลำดับค้างอยู่เพียงเท่านี้


    ครั้งนั้น ท่านพระสัมภูตสาณวาสีมาถึงโดยลำดับ จึงเข้าไปหาท่านพระสัพพกามี อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้เรียนถามว่า

    ท่านเจ้าข้า พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีนี้แสดงวัตถุ ๑๐ ประการในเมืองเวสาลี ว่าดังนี้

    คือทั้ง ๑๐ ประการที่ได้กล่าวถึงแล้ว และท่านพระสัมภูตสาณวาสีได้กราบเรียนต่อไปว่า

    ท่านเจ้าข้า พระเถระได้ศึกษาพระธรรม และพระวินัยเป็นอันมากในสำนัก พระอุปัชฌายะ คือ ในสำนักของท่านพระอานนท์ เมื่อพระเถระพิจารณาพระธรรม และพระวินัยอยู่ เป็นอย่างไรขอรับ ภิกษุพวกไหนเป็นธรรมวาที คือ พวกปราจีน หรือพวกเมืองปาฐา

    พระสัพพกามีย้อนถามว่า

    ท่านได้ศึกษาพระธรรม และพระวินัยเป็นอันมากในสำนักอุปัชฌายะ ก็เมื่อท่านพิจารณาพระธรรม และพระวินัยอยู่ เป็นอย่างไรขอรับ ภิกษุพวกไหนเป็นธรรมวาที คือ พวกปราจีน หรือพวกเมืองปาฐา

    จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิต ท่านจะย้อนถามถึงความรู้ความเข้าใจของผู้ถาม ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ท่านพระสัพพกามีจึงได้ย้อนถามท่านพระสัมภูตะ

    ท่านพระสัมภูตะตอบว่า

    ท่านเจ้าข้า เมื่อผมพิจารณาพระธรรม และพระวินัยอยู่ เป็นอย่างนี้ขอรับ ภิกษุพวกปราจีนเป็นอธรรมวาที ภิกษุพวกเมืองปาฐาเป็นธรรมวาที แต่ว่าผมยังทำความเห็นให้แจ่มแจ้งไม่ได้ก่อนว่า แม้ไฉน สงฆ์พึงสมมติผมเข้าในอธิกรณ์นี้

    คือ ท่านเป็นผู้ที่ทรงธรรมวินัย และต่างก็รู้ชัดว่า ใครเป็นธรรมวาที ใครเป็นอธรรมวาที แต่แม้กระนั้น การที่จะร่วมกันกระทำสังคายนาวินิจฉัยอธิกรณ์ คือ คดีนี้ ท่านก็ยังจะต้องปรึกษากันว่า จะกระทำอย่างไร

    ซึ่งวิธีที่จะชำระอธิกรณ์ คือ พิจารณาคดีนี้ ก็โดยการสมมติให้ภิกษุเป็นพวกภิกษุชาวเมืองปราจีนพวกหนึ่ง และภิกษุชาวเมืองปาฐาพวกหนึ่ง

    ข้อความต่อไป

    สมมติภิกษุเป็นพวกปราจีน และปาฐา

    ข้อ ๖๔๙

    ครั้งนั้น สงฆ์ประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น จึงประชุมกัน ก็เมื่อสงฆ์กำลังวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว ท่านพระเรวตะจึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

    ญัตติกรรมวาจา

    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่ เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี

    คือ การตั้งกรรมาธิการวินิจฉัย โดยคัดเลือกภิกษุเป็นแต่ละฝ่าย เพื่อที่จะได้วินิจฉัยอธิกรณ์นี้

    สงฆ์คัดเลือกภิกษุ ๔ รูปเป็นพวกปราจีน ๔ รูปเป็นพวกเมืองปาฐา คือ ท่านพระสัพพกามี ๑ ท่านพระสาฬหะ ๑ ท่านพระอุชชโสภิตะ ๑ ท่านพระวาสภคามิกะ ๑ เป็นฝ่ายภิกษุพวกปราจีน

    ท่านพระเรวตะ ๑ ท่านพระสัมภูตสาณวาสี ๑ ท่านพระยสกากัณฑกบุตร ๑ ท่านพระสุมน ๑ เป็นฝ่ายภิกษุพวกเมืองปาฐา ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

    นี่เป็นเรื่องที่ท่านทำสังคายนาในครั้งนั้น ซึ่งเมื่อพระภิกษุทั้งหลายท่านได้กระทำการวินิจฉัยอธิกรณ์ คือ คดีนี้แล้ว ท่านพระเรวตะก็ได้กล่าวว่า

    ข้อ ๖๖๒

    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุ ๑๐ ประการนี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้ วัตถุ ๑๐ ประการนี้ จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ฯ

    ข้อ ๖๖๓

    พระสัพพกามีกล่าวว่า

    ท่านทั้งหลาย อธิกรณ์นั่นสงฆ์ชำระแล้ว สงบระงับเรียบร้อยดีแล้ว อนึ่ง ท่านพึงถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้กะผม แม้ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นรู้ทั่วกัน

    ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้กะท่านพระสัพพกามี แม้ในท่ามกลางสงฆ์ ท่านพระสัพพกามี อันท่านพระเรวตะถามแล้วๆ ได้วิสัชนาแล้ว

    ก็ในสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ มีภิกษุ ๗๐๐ รูป ไม่หย่อน ไม่เกิน เพราะฉะนั้น การสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า แจง ๗๐๐ ดังนี้แล ฯ

    สัตตสติกขันธกะ ที่ ๑๒ จบ

    ตอนท้ายไม่ได้กล่าวถึงวิธีการที่ทำชำระอธิกรณ์ เพราะว่าเป็นเรื่องของสงฆ์ คือ เป็นเรื่องสังฆกรรม

    จบเรื่องของวิกาลโภชนา เวรมณี ซึ่งเป็นอุโบสถองค์ที่ ๖ และในการสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า มีเรื่องของการบริโภคโภชนะซึ่งเป็นปัญหา

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 545


    หมายเลข 13009
    8 ส.ค. 2567