สังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑


    ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ทุติยภาค ปัญจสติกขันธกะ มีข้อความว่า

    ข้อ ๖๑๗

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายังเป็น เสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้นไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงเอนกายด้วยตั้งใจว่าจักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน และเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้นจิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ


    ข้อความต่อไป

    พระอุบาลีวิสัชนาพระวินัย

    ข้อ ๖๑๘

    ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:

    ญัตติกรรมวาจา

    ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วข้าพเจ้าจะพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี

    ท่านพระอุบาลี ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้

    ญัตติกรรมวาจา

    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามพระวินัยแล้วจะพึงวิสัชนา

    นี่คือการสังคายนาของบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายในครั้งที่ ๑ ซึ่งมีท่าน พระมหากัสสปเป็นผู้ถามพระวินัย และท่านพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย ถ้าผู้ถามไม่ใช่พระอรหันต์ และผู้ตอบไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมจะไม่รู้แจ้งในเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ

    สำหรับผู้ที่ถามถามต้องเป็นที่ทรงความรู้จริงจึงจะถามได้ ถ้ายังไม่มีความรู้เรื่องอะไรเลย จะให้ถามก็คงถามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะถามเพื่อที่จะให้คนอื่นแสดงข้อความที่ชัดเจนแจ่มแจ้งถูกต้อง ผู้ถามนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้จริงในเรื่องที่จะถามด้วย

    สำหรับในเรื่องธรรม ท่านพระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาธรรม

    ข้อความต่อไป

    พระอานนท์วิสัชนาพระธรรม

    ข้อ ๖๑๙

    ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

    ญัตติกรรมวาจา

    ท่านทั้งหลายขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะพึงถามธรรมกะท่านพระอานนท์

    ท่านพระอานนท์ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

    ญัตติกรรมวาจา

    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามธรรมแล้วจะพึงวิสัชนา

    ต่อจากนั้น เป็นการวิสัชนาพระธรรมต่อจากพระวินัย เป็นความสมบูรณ์ของการสังคายนาครั้งที่ ๑

    ข้อความต่อไป แสดงให้เห็นถึงการอ่อนน้อมที่ท่านพระอานนท์มีต่อสงฆ์ มีข้อความว่า

    เรื่องสิกขาบทเล็กน้อย

    ข้อ ๖๒๐

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า

    ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูกร อานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้

    พระเถระทั้งหลายถามว่า

    ท่านพระอานนท์ ก็ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่า พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

    ท่านพระอานนท์ตอบว่า

    ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

    พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบท เล็กน้อย

    พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

    พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

    พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

    พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

    พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯ

    เรื่องไม่บัญญัติ และไม่ถอนพระบัญญัติ

    ข้อ ๖๒๑

    ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

    ญัตติทุติยกรรมวาจา

    ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์ มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นการชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่ พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว นี้เป็นญัตติ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นความเคารพนอบน้อมของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีต่อพระผู้มีพระภาค แม้ว่าจะทรงอนุญาตให้ถอนพระบัญญัติเล็กน้อย แต่ว่าพระอรหันต์เถระทั้งหลาย ท่านมีความเคารพในสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้ว และไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ

    ถ้าท่านผู้ใดในสมัยนี้คิดเห็นว่า พระวินัยบัญญัติข้อใดอาจจะประพฤติไม่ได้ หรือว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็ขอให้คิดถึงพระอรหันต์ทั้งหลายในการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านมีความเห็นร่วมกันว่า ท่านจะไม่บัญญัติสิ่งที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติ และจะไม่ถอนสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 601


    ข้อความต่อไป

    เรื่องพระปุราณเถระ

    ข้อ ๖๒๓

    สมัยนั้น ท่านพระปุราณะเที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป คราวเมื่อพระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และ พระวินัยเสร็จแล้ว ได้พักอยู่ในชนบททักขิณาคิรีตามเถราภิรมย์ แล้วเข้าไปหา พระเถระทั้งหลายที่พระวิหารเวฬุวันอันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ แล้วได้กล่าวสัมโมทนียะกับพระเถระทั้งหลาย แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเถระทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระปุราณะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

    ท่านปุราณะ พระเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระธรรม และพระวินัยแล้ว ท่านจงรับรู้พระธรรม และพระวินัยนั้นที่พระเถระทั้งหลายสังคายนาแล้ว

    ท่านพระปุราณะกล่าวว่า

    ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ

    จะเห็นได้ว่า ความคิดของแต่ละท่านนี้ต่างกัน สำหรับท่านพระอานนท์ แม้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ผู้ร่วมในการกระทำสังคายนา แต่เมื่อสงฆ์แสดงความประสงค์ประการใดที่จะให้ท่านกระทำ ท่านก็กระทำ เช่น ในเรื่องของการแสดงอาบัติทุกกฎ ท่านก็กระทำ แต่สำหรับท่านพระปุราณะ ถึงแม้ว่าท่านจะได้ทราบว่า พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และพระวินัยเรียบร้อยแล้ว แต่ท่านก็กล่าวว่า พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ


    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๖๒๔

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะพระเถระทั้งหลายว่า

    ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เมื่อเราล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ

    ท่านพระฉันนะเป็นผู้ติดตามพระผู้มีพระภาค ตอนที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือ จากพระราชวังไป และภายหลังนายฉันนะก็ได้บวช แต่ก็ไม่มีความนอบน้อม หรือไม่มีความอ่อนน้อมเลย เป็นผู้ที่ทะนงตน ถือตัวว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิด และเป็นผู้ที่ได้ติดตามพระผู้มีพระภาคเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จออกจากพระราชวัง เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความยำเกรงต่อสงฆ์ ไม่ว่าใครจะกล่าวสอน หรือว่าชี้แจงอย่างไร พระภิกษุฉันนะก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่เชื่อฟัง เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคจวนจะเสด็จปรินิพพาน ก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ

    พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า

    ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร

    พระอานนท์ตอบว่า

    ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วว่า พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดตามปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงสั่งสอน ไม่พึงพร่ำสอนภิกษุฉันนะ

    ท่านพระเถระทั้งหลายกล่าวว่า

    ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั้นแหละจงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ

    พระอานนท์ปรึกษาว่า

    ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะได้อย่างไร เพราะเธอดุร้าย หยาบคาย

    พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า

    ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปกับภิกษุหลายๆ รูป

    ท่านพระอานนท์รับเถระบัญชา แล้วโดยสารเรือไปพร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมืองโกสัมพี ลงจากเรือ แล้วได้นั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้ พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ฯ

    ท่านอาจจะสงสัยว่า พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้จะมีประโยชน์เกื้อกูลอย่างไรบ้างกับการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของชีวิต ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านผู้ฟังจะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เช่น ท่านพระอรหันต์ทั้งหลายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านก็ย่อมไม่ทราบเลยว่า ชีวิตของท่านจะวนเวียนไป และมีสภาพที่จะเป็นอุบาสกบ้าง อุบาสิกาบ้าง ภิกษุบ้าง ภิกษุณีบ้าง ชาติหนึ่งชาติใดในลักษณะอย่างใด เพราะฉะนั้น ชีวิตที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล ซึ่งบางท่านก็ได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่บางท่านก็ยัง ท่านอาจจะเป็นผู้มีความเห็นผิดในครั้งที่ได้พบพระผู้มีพระภาค ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้ ท่านก็จะยังคงอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เป็นภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่สำหรับผู้ที่ได้พบ และมีความเข้าใจถูก แต่ยังไม่บรรลุคุณธรรม ท่านก็จะมีภพชาติต่างๆ กันไป แต่ว่าไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เหมือนชีวิตของบุคคลทีซึ่งได้พบพระผู้มีพระภาค และปรากฏในพระไตรปิฎก

    เรื่องของชีวิตต่างๆ ที่ท่านจะได้รับฟังจากพระไตรปิฎก ท่านก็จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่ท่านรับฟัง พระผู้มีพระภาคก็ทรงเน้นเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องสมาธิ เพราะถ้าเป็นเรื่องสมาธิแล้ว ก็จะไม่มีการศึกษาในเรื่องของพระธรรมต่างๆ ที่ปรากฏ เช่น ในเรื่องของการสังคายนา และในเรื่องของการนอบน้อมต่อสงฆ์ แต่ผู้ที่เข้าใจแล้ว ทราบได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อความตอนใดทั้งหมด แม้ในขณะที่ฟัง ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีการรู้เรื่อง มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือความรู้สึกเป็นอทุกขมสุข คือ ไม่ทุกข์ ไม่สุข เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไป

    เรื่องพระเจ้าอุเทน

    ข้อ ๖๒๕

    ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนกับพระมเหสีประทับอยู่ในพระราชอุทยานพร้อมด้วย ข้าราชบริพาร พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้สดับข่าวว่า พระคุณเจ้าอานนท์ อาจารย์ของพวกเรานั่งอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้พระราชอุทยาน จึงกราบทูลพระเจ้า อุเทนว่า

    ขอเดชะ ข่าวว่าพระคุณเจ้าอานนท์อาจารย์ของพวกหม่อมฉัน นั่งอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้พระราชอุทยาน พวกหม่อมฉันปรารถนาจะไปเยี่ยมพระคุณเจ้าอานนท์ พระเจ้าข้า

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงเยี่ยมพระสมณะอานนท์เถิด

    ลำดับนั้น พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วถวายอภิวาท นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ชี้แจงให้พระมเหสีของพระเจ้า อุเทนผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

    ครั้งนั้น พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนอันท่านพระอานนท์ชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงแล้วด้วยธรรมีกถา ได้ถวายผ้าห่ม ๕๐๐ ผืนแก่ท่าน พระอานนท์ ครั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอุเทน ฯ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 602


    ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนได้ทอดพระเนตรเห็นพระมเหสีเสด็จมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า

    พวกเธอเยี่ยมพระสมณะอานนท์แล้วหรือ

    พระมเหสีกราบทูลว่า

    พวกหม่อมฉันได้เยี่ยมพระคุณเจ้าอานนท์แล้ว พระเจ้าข้า

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    พวกเธอได้ถวายอะไรแก่พระสมณะอานนท์บ้าง

    พระมเหสีกราบทูลว่า

    พวกหม่อมฉันได้ถวายผ้าห่ม ๕๐๐ ผืน แก่พระคุณเจ้าอานนท์ พระเจ้าข้า

    พระเจ้าอุเทนทรงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะอานนท์จึงรับจีวรมากถึงเพียงนั้น พระสมณะอานนท์จักทำการค้าขายผ้า หรือจักตั้งร้านค้า แล้วเสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ทรงปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วตรัสถามว่า

    ท่านพระอานนท์ มเหสีของข้าพเจ้ามาหาหรือ

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    พระมเหสีของพระองค์มาหา มหาบพิตร

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ก็พระนางได้ถวายอะไรแก่ท่านพระอานนท์บ้าง

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    ได้ถวายผ้าห่มแก่อาตมภาพ ๕๐๐ ผืน มหาบพิตร

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ก็ท่านพระอานนท์จักทำอะไรกะจีวรมากมายเพียงนั้น

    ด้วยความไม่เคารพ พระเจ้าอุเทนก็คิดว่า ท่านพระอานนท์คงจะขายผ้า หรือว่าตั้งร้านค้าขาย แต่ด้วยความที่ใคร่จะทราบว่า ท่านพระอานนท์จะทำอะไรกับจีวรที่มากมายอย่างนั้น ก็ได้เสด็จมา และได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ได้ทูลว่า

    อาตมภาพจักแจกให้แก่ภิกษุทั้งหลายที่มีจีวรคร่ำคร่า มหาบพิตร

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ท่านพระอานนท์ ก็ท่านจักทำอย่างไรกะจีวรที่เก่าคร่ำเหล่านั้นต่อไป

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าดาดเพดาน มหาบพิตร

    นี่คือ ชีวิตประจำวัน อย่าลืมว่า ทำได้ เป็นชีวิตจริง เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตจริง

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าดาดเพดานเก่าเหล่านั้น

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าปูฟูก

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าปูฟูกที่เก่าเหล่านั้น

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าปูพื้น มหาบพิตร

    นี่เป็นชีวิตจริงของท่านผู้ฟังด้วย และเป็นสภาพธรรมซึ่งทุกท่านก็ปฏิบัติอยู่ตามควร

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าปูพื้นที่เก่าเหล่านั้น

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าเช็ดเท้า มหาบพิตร

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าเช็ดเท้าที่เก่าเหล่านั้น

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าเช็ดธุลี มหาบพิตร

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าเช็ดธุลีที่เก่าเหล่านั้น

    ท่านผู้ฟังถึงระยะนี้หรือยัง เป็นผ้าเช็ดเท้า เก่าแล้ว เป็นผ้าเช็ดธุลี เก่าแล้วอีก ท่านผู้ฟังจะทำอย่างไร ทิ้งไป นี่ก็เป็นที่น่าสงสัยมากสำหรับพระเจ้าอุเทนว่า ท่าน พระอานนท์จะทำอย่างไรต่อไป

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    อาตมภาพจักโขลกผ้าเหล่านั้น ขยำกับโคลน แล้วฉาบทาฝา มหาบพิตร

    ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนทรงพระดำริว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ทั้งหลายนำผ้าไปแยบคายดี ไม่เก็บผ้าเข้าเรือนคลัง แล้วถวายผ้าจำนวน ๕๐๐ ผืน แม้อื่นอีกแก่ท่านพระอานนท์ ก็ในคราวนี้บริขาร คือ จีวรบังเกิดแก่ท่านพระอานนท์ เป็นครั้งแรก คือ ผ้า ๑,๐๐๐ ผืน เกิดขึ้นแล้ว ฯ

    ต่อไปเป็นเรื่องที่ท่านพระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์กับท่านพระฉันนะ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่สะสมปัญญามาที่จะเป็นบัณฑิต การลงพรหมทัณฑ์จะเกิดผลกับท่านอย่างไร

    ข้อความต่อไป

    ลงพรหมทัณฑ์

    ข้อ ๖๒๗

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยังวัดโฆสิตาราม ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ท่านพระฉันนะเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะท่านพระฉันนะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

    ท่านฉันนะ สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านแล้ว ฯ

    ท่านพระฉันนะกล่าวว่า

    ท่านพระอานนท์ ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ท่านฉันนะ ท่านปรารถนาจะพูดคำใดพึงพูดคำนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงตักเตือน ไม่พึงพร่ำสอนท่าน

    ท่านพระฉันนะกล่าวว่า

    ท่านพระอานนท์ ด้วยเหตุเพียงที่ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่พร่ำสอนข้าพเจ้านี้ เป็นอันสงฆ์กำจัดข้าพเจ้าแล้วมิใช่หรือ

    แล้วสลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง

    ต่อมาท่านพระฉันนะอึดอัด ระอา รังเกียจอยู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงหลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี

    ก็แล ท่านพระฉันนะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้นท่านพระฉันนะบรรลุพระอรหัตแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วกล่าวว่า

    ท่านพระอานนท์ ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์แก่ผมในบัดนี้เถิด

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ท่านฉันนะ เมื่อใดท่านทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว เมื่อนั้นพรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับแล้ว ฯ

    ข้อ ๖๒๘

    ก็ในการสังคายนาพระวินัยนี้มีภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่หย่อนไม่เกิน เพราะฉะนั้น การสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า แจง ๕๐๐ ดังนี้แล ฯ

    ปัญจสติกขันธกะที่ ๑๑ จบ

    นี่เป็นเรื่องของการอ่อนน้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในชีวิตของท่าน ถ้าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ท่านก็จะไม่ทราบเลยว่า ตามฐานะที่ท่านเป็นอยู่ จิตใจของท่านเป็นกุศลหรืออกุศลมากน้อยประการใด แต่ในการอ่อนน้อมก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ท่านรู้ได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 603


    หมายเลข 13011
    8 ส.ค. 2567