มหาสกุลุทายิสูตร (๑) ความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค
ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ตาม แต่ก็ให้พิจารณาสังเกตอย่างละเอียดว่า การเคารพ สักการะ นอบน้อม เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ตรงตามเหตุผลของธรรมตามความเป็นจริงแล้วหรือยัง
เพราะเหตุว่าการเคารพ สักการะ นอบน้อม เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในเหตุในผลตามความเป็นจริง ก็อาจจะเป็นเพียงความเคารพ นอบน้อม สักการะ เลื่อมใสเพียงอาการที่ปรากฏภายนอก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะไม่เข้าใจถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่สามารถ ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และก็ทรงแสดงธรรมให้ผู้ที่รับฟังได้ศึกษา ได้ปฏิบัติตาม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นด้วยตนเองได้
ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพาชกวรรค มหาสกุลุทายิสูตร ข้อ ๓๑๔ มีข้อความที่แสดงถึงบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานว่า มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งพระองค์เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อบุคคลใดไม่สามารถที่จะรู้ถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระองค์ได้ แม้จะมีความเลื่อมใสก็จริง แต่ความเลื่อมใสนั้น ก็ยังไม่ตรงตามเหตุผล
ข้อความใน มหาสกุลุทายิสูตร มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ปริพาชกที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก คือ อันนภารปริพาชกหนึ่ง วรตรปริพาชกหนึ่ง สกุลุทายิปริพาชกหนึ่ง และปริพาชกเหล่าอื่นอีก ล้วนมีชื่อเสียง อาศัยอยู่ในปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า การที่เราจะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชก ยัง ปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูงเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง
ก็สมัยนั้น สกุลุทายิปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ซึ่งกำลังพูดถึงติรัจฉานกถาหลายอย่าง ด้วยเสียงอื้ออึงอึกทึก คือ พูดถึงเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องช้าง เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องหญิงคนใช้ตักน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ
สกุลุทายิปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า
ขอท่านทั้งหลายจงเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก นี่พระสมณโคดมกำลังเสด็จมา พระองค์ท่านโปรดเสียงเบา และทรงกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีพระองค์ท่านทรงทราบว่าบริษัทเสียงเบา พึงทรงสำคัญจะเข้ามาก็ได้
ลำดับนั้น พวกปริพาชกเหล่านั้นพากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชกจนถึงที่ใกล้ สกุลุทายิปริพาชกได้ทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิด พระผู้มีพระภาคเสด็จมาดีแล้ว นานทีเดียวที่พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงกระทำปริยายนี้ คือ เสด็จมาถึงที่นี่ได้ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด นี่อาสนะปูไว้ถวายแล้ว
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ถวาย ส่วนสกุลุทายิปริพาชกถือเอาอาสนะต่ำอันหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร อุทายี เมื่อกี้นี้ท่านทั้งหลายประชุมสนทนาอะไรกัน และเรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายหยุดค้างไว้ในระหว่าง
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สกุลุทายิปริพาชกเป็นปริพาชก แต่ก็มีความนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคตามควรแก่ความเข้าใจของตนเอง ซึ่งได้แสดงความนอบน้อมโดยกล่าวทูลเชิญ ส่วนตนเองถืออาสนะอันต่ำแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และก็เป็นธรรมเนียมที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสถามถึงเรื่องที่พวกปริพาชกกำลังสนทนากันค้างอยู่ว่า สนทนากันเรื่องอะไร
ซึ่งสกุลุทายีได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่ข้าพเจ้าทั้งหลายประชุมสนทนาเมื่อกี้นี้นั้น ขอ งดไว้ก่อนเถิด เรื่องนั้นพระผู้มีพระภาคจักได้ทรงสดับแม้ในภายหลังโดยไม่ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ หลายวันมาแล้ว พวกสมณพรหมณ์เจ้าลัทธิต่างๆ ประชุมกันในโรงแพร่ข่าว สนทนากันถึงเรื่องนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชนชาวอังคะ และมคธเขาหนอ ชาวอังคะ และชาวมคธได้ดีแล้วหนอ ที่สมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี เข้าไปจำพรรษายังกรุงราชคฤห์แล้ว คือ ครูปูรณกัสสป ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี ครูมักขลิโคสาล ... ครูอชิตเกสกัมพล ... ครูปกุทธกัจจายนะ ... ครูสญชัยเวลัฏฐบุตร ... ครูนิครนถนาฏบุตร ... แม้พระสมณโคดมผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี พระองค์ก็เสด็จเข้าจำพรรษายังกรุงราชคฤห์ บรรดาท่านสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี เหล่านี้ ใครเล่าหนอที่สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ก็ และใครเล่าที่สาวกทั้งหลายสักการะเคารพอาศัยอยู่
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 617
สกุลุทายิปริพาชกมีความสงสัยว่า บรรดาอาจารย์ทั้งหลายที่มีชื่อเสียงนี้ สาวกที่เคารพสักการะนับถือจริงๆ ในอาจารย์นั้นจะเป็นใคร เพราะถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นครู เป็นอาจารย์ก็จริง ความเคารพ ความเลื่อมใสก็อาจจะมีเพียงบางครั้งบางคราวก็ได้ แต่ใครเล่าหนอ เป็นผู้ที่สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงครั้งคราว
ข้อความต่อไปใน มหาสกุลุทายิสูตร มีว่า
สกุลุทายิปริพาชิกกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ในที่ประชุมนั้น สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ครูปูรณกัสสปนี้ ถึงจะเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี แต่สาวกทั้งหลายไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชา และจะได้สักการะเคารพแล้วอาศัยครูปูรณกัสสปอยู่ก็หามิได้ เรื่องเคยมีมาแล้ว ครูปูรณกัสสปแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้นสาวกคนหนึ่งของครูปูรณกัสสปได้ส่งเสียงขึ้นว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อย่าถามเนื้อความนี้กะครูปูรณกัสสปเลย ครูปูรณกัสสปนี้ไม่รู้เนื้อความนี้ พวกเรารู้เนื้อความนี้ ท่านทั้งหลายจงถามพวกเราเถิด พวกเราจักพยากรณ์ให้ท่าน
เรื่องเคยมีมาแล้ว ครูปูรณกัสสปจะยกแขนทั้งสองขึ้นคร่ำครวญว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงเงียบเสียง อย่าส่งเสียงไป ท่านพวกนี้จะถามกะพวกท่านไม่ได้ จะถามกะเราได้ เราจักพยากรณ์แก่ท่านพวกนี้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ได้
อนึ่ง สาวกของท่านครูปูรณกัสสปเป็นอันมากพากันยกโทษว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก ถ้อยคำของเราเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง มาผันแปรไปแล้ว เราจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว เราข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ ดังนี้ แล้วพากันหลีกไป
พวกสาวกไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาครูปูรณกัสสปด้วยประการดังนี้ แล้วจะได้สักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ก็หามิได้ ก็แลครูปูรณกัสสปก็ถูกติเตียนด้วยคำ ติเตียนโดยธรรม
คำติเตียนมี ๒ อย่าง คำติเตียนโดยธรรม กับคำติเตียนโดยไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นคำสอนที่สมบูรณ์โดยเหตุผล และมีคนติเตียน การติเตียนนั้น ติเตียนโดยไม่เป็นธรรม สำหรับคำสั่งสอนของครูปูรณกัสสป เป็นคำสั่งสอนที่ไม่สมบูรณ์ในเหตุผลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังสั่งสอนอยู่ ก็ย่อมมีผู้ติเตียนคัดค้านได้ว่า สภาพธรรมไม่ได้เป็นไปตามคำที่ปูรณกัสสปสั่งสอน เพราะฉะนั้น คำติเตียนก็มี ๒ อย่าง และสำหรับครูปูรณกัสสปก็ถูกติเตียนด้วยคำติเตียนโดยธรรม
ข้อความต่อไป สกุลุทายิปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงสมณพราหมณ์ที่เป็นครูอาจารย์ท่านอื่นๆ เช่น ครูมักขลิโคสาล ครูอชิตเกสกัมพล ครูปกุทธกัจจายนะ ครูสญชัยเวลัฏฐบุตร ครูนิครนถนาฏบุตรว่า ถึงจะเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี แต่สาวกทั้งหลายไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชา และจะได้สักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ก็หามิได้ ซึ่งหมายความว่า ครูเหล่านั้นไม่ได้เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงแก่สาวกของครูเหล่านั้น
สกุลุทายิปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมพระองค์นี้ ทรงเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ทรงเป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระองค์ และสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้นสาวกของพระสมณโคดมองค์ใดองค์หนึ่งไอขึ้น เพื่อนพรหมจรรย์องค์ใดองค์หนึ่งเอาเข่ากระตุ้นเธอ เพื่อจะให้รู้ว่าท่านจงเงียบเสียง อย่าส่งเสียงไป พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของเราทั้งหลายกำลังทรงแสดงธรรม ในเวลาที่พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย จะมีเสียงที่สาวกของพระสมณโคดมจามหรือไอ หามิได้เลย หมู่มหาชนมีแต่คอยหวังตั้งหน้าเฉพาะพระสมณโคดมว่า เราทั้งหลายจักได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคจักตรัสแก่พวกเรา เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงให้น้ำผึ้งหวี่ที่ปราศจากตัวอ่อนที่ทางใหญ่สี่แพร่ง หมู่มหาชนก็คอยหวังตั้งหน้าเฉพาะบุรุษนั้น ฉันใด ในเวลาที่พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อยนั้น ก็ฉันนั้น
นี่คือความต่างกันของสาวกของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเคารพ สักการะ นอบน้อมในพระองค์ และพระองค์ก็เป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัยของสาวกของพระองค์อย่างแท้จริง คือ ทรงให้ความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยตลอด เพราะฉะนั้น สาวกทั้งหลายก็มุ่งหน้าตั้งหน้าเฉพาะพระผู้มีพระภาคว่า เราทั้งหลายจักได้ฟังธรรมที่ พระผู้มีพระภาคจักตรัสแก่พวกเรา เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงให้น้ำผึ้งหวี่ที่ปราศจากตัวอ่อนที่ทางใหญ่สี่แพร่ง เพราะฉะนั้น มหาชนที่ต้องการก็จะต้องไปยืนรอคอยอยู่ที่ทาง ๔ แพร่ง เพื่อที่จะได้น้ำผึ้งหวี่ที่ปราศจากตัวอ่อนจากบุรุษนั้น ฉันใด มหาชนที่ต้องการจะได้รับฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคก็ฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยคอยหวังตั้งหน้าเฉพาะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ฉันนั้น
ข้อความต่อไป
สกุลุทายิปริพาชกกล่าวว่า
สาวกของพระสมณโคดมเหล่าใด แม้บาดหมางกับเพื่อนพรหมจรรย์แล้ว ลาสิกขาสึกไป แม้สาวกเหล่านั้น ก็ยังกล่าวสรรเสริญคุณพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นแต่ติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นว่า ถึงพวกเราจักได้มาบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ แต่ไม่อาจจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ ให้บริบูรณ์จนตลอดชีวิตได้ เป็นคนไม่มีบุญ มีบุญน้อยเสียแล้ว สาวกของพระสมณโคดมเหล่านั้น จะเป็นอารามิกก็ดี เป็นอุบาสกก็ดี ก็ยังประพฤติมั่นอยู่ในสิกขาบทห้า สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสมณโคดม ด้วยประการดังนี้ และสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่
นี่เป็นความต่างกันระหว่างสาวกของพระผู้มีพระภาค กับสาวกของคณาจารย์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อคำสอนไม่สมบูรณ์ ความเคารพ สักการะ นอบน้อมที่จะให้สมบูรณ์อย่างสาวกของพระผู้มีพระภาคมีต่อพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้
สำหรับสกุลุทายิปริพาชกเป็นปริพาชก พระผู้มีพระภาคก็ใคร่ที่จะได้ทราบความเข้าใจ ความคิดเห็นของสกุลุทายิปริพาชกว่า เมื่อมีผู้ที่สรรเสริญพระองค์เช่นนี้ สกุลุทายิปริพาชกจะมีความเห็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามสกุลุทายิปริพาชกว่า
ดูกร อุทายี ก็ท่านพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายกี่อย่างในเรา อันเป็นเหตุให้สาวกของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่
นี่เป็นคำถามซึ่งถามพุทธบริษัทได้ทุกกาลสมัย ถ้ามีใครซึ่งเคารพ นอบน้อม สักการะพระผู้มีพระภาค ก็ควรที่จะได้สอบถามว่า เคารพ นอบน้อม สักการะในธรรม กี่อย่างที่มีในพระผู้มีพระภาค เพราะถ้าไม่รู้ถึงธรรมที่มีในพระผู้มีพระภาคซึ่งมีโดยประการทั้งปวงแล้ว ความเคารพ นอบน้อม สักการะ ก็ย่อมจะเป็นไปเพียงตามความคิดความเข้าใจของตนเอง
สำหรับพุทธบริษัทผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เคารพ นอบน้อม สักการะ ในธรรมซึ่งได้รับจากพระผู้มีพระภาคโดยที่ยังไม่รู้แจ้งในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็เคารพในเหตุในผล ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ จะเห็นคุณของพระองค์ซึ่งได้ทรงประจักษ์แจ้งโดยตลอดแล้วได้อย่างไร
สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยสาวก ผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรม ประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ประจักษ์ในสภาพของนิพพาน ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติให้ประจักษ์ได้ ผู้นั้นย่อมจะเห็นธรรมในพระผู้มีพระภาคนานาประการ และย่อมจะเคารพ นอบน้อม สักการะธรรมนานาประการในพระผู้มีพระภาค
ข้อความต่อไป ท่านจะได้ทราบความเห็นของสกุลุทายิปริพาชกว่า เห็นธรรมอะไรในพระผู้มีพระภาคบ้าง
สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรม ๕ อย่างในพระผู้มีพระภาค อันเป็นเหตุให้สาวกสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่ ธรรม ๕ อย่างเป็นไฉน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความจริง พระผู้มีพระภาคทรงมีพระอาหารน้อย และทรงสรรเสริญคุณในความเป็นผู้มีอาหารน้อย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรมนี้ในพระผู้มีพระภาคเป็นข้อต้น อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่
ท่านผู้ฟังคิดอย่างนี้หรือเปล่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชาในพระผู้มีพระภาค ในธรรมที่พระองค์ทรงเป็นผู้เสวยน้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ ท่านก็คงจะเคารพนอบน้อมในใครๆ ทั้งนั้นที่เป็นผู้บริโภคน้อย ใครก็ตามที่รับประทานอาหารน้อย ท่านก็คิดว่า เป็นธรรมที่ควรสรรเสริญ เพราะฉะนั้น ท่านก็อาจจะเคารพ นอบน้อมในหลายท่าน ซึ่งท่านเข้าใจว่า เป็นผู้ที่กิเลสเบาบางแล้ว หรือท่านอาจจะคิดอาจจะเข้าใจว่า เป็นผู้ที่หมดกิเลสแล้ว เพราะว่าเป็นผู้ที่บริโภคอาหารน้อย
ตามธรรมดาของบุคคลทั่วไป ก็ย่อมทราบว่า ที่บริโภคในวันหนึ่งๆ นั้น ทุกท่านมีความติดในรส ถ้าท่านคิดที่จะงดเว้นการบริโภคที่ไม่จำเป็น จะรู้ได้ว่า ที่ท่านเคยบริโภคมากเกินไป ไม่ใช่เป็นเพราะความจำเป็นของร่างกายหรือความหิว แต่เป็นเพราะการติดในรส บางครั้งไม่หิวเลย แต่อาหารอร่อยมาก บางท่านคิดที่จะงดเว้น บางครั้งก็งดเว้นได้ บางครั้งก็งดเว้นไม่ได้ อดกลั้นไม่ได้ บางครั้งคิดว่าจะรับประทานเพียงเล็กน้อย แต่เพราะความอร่อย ที่ว่าจะรับประทานน้อย ก็รับประทานมาก นี่เป็นชีวิตปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นใครบริโภคน้อย ก็คงจะสรรเสริญ เคารพ สักการะในบุคคลนั้นเพียงเพราะบริโภคน้อย แต่ว่าปัญญาของผู้นั้นรู้อะไร ไม่ได้คำนึงถึงเลย เพียงแต่เห็นอาการภายนอกก็เข้าใจว่า ที่บริโภคน้อยนั้นเป็นเพราะละการติดในรส แต่ความจริงแล้ว ถ้าปัญญายังไม่เกิดขึ้น ยังไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่จะละกิเลสได้
เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส การที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลสให้เบาบางลงได้ ก็เพราะอบรมเจริญปัญญาให้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นเพราะเข้าใจว่า การบริโภคมากเป็นเพราะการติดในรส เมื่อเห็นใครบริโภคน้อย ก็คิดว่าผู้นั้นควรที่จะเคารพ สักการะ เพราะเป็นผู้ที่บริโภคน้อย ดังเช่นสกุลุทายิปริพาชกที่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ความจริงพระผู้มีพระภาคทรงมีพระอาหารน้อย และทรงสรรเสริญคุณในความเป็นผู้มีอาหารน้อย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรมนี้ในพระผู้มีพระภาคเป็นข้อต้น อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่
นี่เป็นเพราะไม่เข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็สรรเสริญเพียงความเป็นผู้ที่ทรงบริโภคน้อย
ข้อความต่อไป
สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรมนี้ในพระผู้มีพระภาคเป็นข้อที่ ๒ อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่
ท่านที่เคารพในอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่ง ลองพิจารณาดูว่า ที่ท่านเคารพ เป็นเพราะอาจารย์ของท่านบริโภคน้อย และสันโดษในเรื่องจีวร ใช่หรือไม่ใช่ หรือว่าเคารพในธรรมอื่น หรือเคารพเพราะว่าเป็นผู้ที่แสดงหนทางข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงหนทางให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจ ได้อบรม ได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น แม้ในสมัยนี้ พุทธบริษัทก็จะพิจารณาตรวจสอบเหตุผลในการเคารพ สักการะบุคคลผู้เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งท่านใดได้ว่า ที่เคารพเพราะเหตุต่างๆ เหล่านี้ หรือเป็นเพราะว่าปัญญา ความรู้ความเข้าใจในพระธรรม
สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรมนี้ในพระผู้มีพระภาคเป็นข้อที่ ๓ อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่
ไม่ใช่แต่เพียงเฉพาะในการบริโภค แม้ในการแสวงหา ก็แสวงหาตามมีตามได้ น่าเคารพไหมอย่างนี้ ถ้าไม่พิจารณาถึงปัญญาจริงๆ ที่ลึกซึ้งกว่าอาการที่ปรากฏภายนอก เพราะว่าจะต้องเป็นปัญญาที่อบรมถึงขั้นที่สามารรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้
ข้อความต่อไป
สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรมนี้ในพระผู้มีพระภาคเป็นข้อที่ ๔ อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่
การเป็นผู้ที่ไม่ติดในที่อยู่ เพราะว่าพระภิกษุทั้งหลายหรือว่าพวกปริพาชก พวกนักบวช บรรพชิตทั้งหลาย เป็นผู้ที่ไม่มีอาคารบ้านเรือน เป็นผู้ที่ไม่ครองบ้านเรือน เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ละการติดในบ้านเรือน ก็น่าที่บุคคลใดจะเห็น โดยที่ไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งถึงปัญญา จะเกิดการเคารพ สักการะ เลื่อมใส เพียงในการเป็นผู้ที่ไม่ติด หรือว่าเป็นผู้ที่สันโดษในเสนาสนะตามมีตามได้
ข้อความต่อไป
สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความสงัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรมนี้ในพระผู้มีพระภาคเป็นข้อที่ ๕ อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่
ที่มา ...