สัมปฏิจฉันนจิต*


    สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจักขุวิญญาณที่เห็น เกิดต่อจากโสตวิญญาณที่ ได้ยิน เกิดต่อจากฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส เกิดต่อจากกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่ให้ใครไปพยายามรู้สัมปฏิจฉันนะ แต่ ทรงแสดงเพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง ความเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วในขณะที่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อให้สติระลึก ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมต่างจากสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม นี่เป็นขั้นต้น ไม่ต้องห่วงเรื่องของโสตวิญญาณ หรือ สัมปฏิจฉันนะ หรือสันตีรณะ หรือจิตดวงอื่นๆ เลย แต่ฟังเพื่อให้เห็นความไม่มีสาระ และความไม่เที่ยงของจิต

    สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต เกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณวิบากจิตซึ่งเป็นอเหตุกวิบากอีกดวงหนึ่งก็เกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น สำหรับฐานที่เกิดของจิตก็ไม่สับสนกัน คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดก่อนจักขุวิญญาณไม่ได้ หรือจักขุวิญญาณเกิดต่อจากสันตีรณจิตไม่ได้ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้วในแต่ละวาระของการรู้อารมณ์แต่ละทาง เป็นเหตุเป็นปัจจัยตั้งแต่เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาท กระทบกับภวังค์ จิตจะเห็นทันทีไม่ได้ ภวังคจิตที่เกิดขณะที่รูปกระทบ ขณะนั้นเป็น อตีตภวังค์ เพราะแสดงให้เห็นว่า รูปกระทบกับจักขุปสาท และกระทบภวังค์ก่อน และดับไป จักขุวิญญาณจะเกิดทันทีไม่ได้ ภวังคจลนะต้องเกิดก่อน ไหว เพื่อทิ้งอารมณ์ของภวังค์ เพื่อรู้อารมณ์ใหม่ แต่ขณะที่เป็นภวังคจลนะก็ยังไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถีจิตจะไม่เกิดไม่ได้

    ขณะที่มีการเห็นครั้งหนึ่งๆ รู้ได้เลยว่า อตีตภวังค์ดับ ภวังคจลนะเกิดต่อ และดับ ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ และดับก่อนที่จะมีการเห็นการได้ยินแต่ละครั้ง และการที่จะรับผลของกรรม เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด และดำรงภพชาติรักษาความเป็นบุคคลนั้นแล้ว กรรมอื่นก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ผล ทำให้รู้อารมณ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งการที่จะเปลี่ยนจากการรับผลของกรรมแต่ละทาง ต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน คั่นระหว่างภวังค์ทั้งหลายกับวิบากอื่นที่จะรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิต จึงเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ไม่ใช่ชาติวิบาก เป็นชาติกิริยา สามารถรู้อารมณ์ที่กระทบไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลวิบาก หรืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ เป็นผลของอกุศลวิบาก

    ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนเป็นวิถีจิตขณะแรก ในวาระหนึ่งจะต้องมี ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด และเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณ จึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้จักขุวิญญาณเห็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี

    สัมปฏิจฉันนจิตจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากตามจักขุวิญญาณ เพราะว่า การรับผลของกรรมต้องเป็นผลของกรรมประเภทเดียวกัน อารมณ์ยังไม่เปลี่ยน เพราะว่าอารมณ์ที่เป็นรูปนั้นเกิดดับช้ากว่าจิต คือ มีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ซึ่งขณะที่กระทบกับอตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ และจักขุวิญญาณนั้น รูปนั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะที่เกิด ก็รู้รูปเดียวกันกับที่ปัญจทวาราวัชชนจิต และจักขุวิญญาณ เห็นนั่นเอง ถ้าเป็นรูปที่ไม่ดี จักขุวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะก็เป็น อกุศลวิบาก วิบากทั้งหลายที่เกิดขึ้นรู้รูปเดียวกันนั้น ถ้ารูปนั้นเป็นรูปที่ไม่ดี วิบากทั้งหมดต้องเป็นอกุศลวิบาก เปลี่ยนไม่ได้

    สำหรับสัมปฏิจฉันนะ โดยชาติเป็นวิบากเช่นเดียวกับทวิปัญจวิญญาณ และเป็นผลของกรรมเดียวกันด้วย ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปยังไม่ดับ จักขุวิญญาณเห็นสิ่งใด สัมปฏิจฉันนะก็รับสิ่งนั้นต่อ

    ถ้าเป็นเสียงทางหู มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะที่โสตวิญญาณ กุศลวิบากเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ดีดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับรู้เสียงที่ดีต่อจากโสตวิญญาณ

    ถ้าเป็นเสียงที่ดี โสตวิญญาณเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นผลของกรรมใด สัมปฏิจฉันนะก็เป็นผลของกรรมเดียวกันนั้น

    โดยเวทนา สัมปฏิจฉันนะเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ

    โดยอารมณ์ มีอารมณ์เดียวกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ

    สัมปฏิจฉันนะไม่เกิดทางมโนทวาร เกิดทางปัญจทวารเท่านั้น

    สำหรับความต่างกันของทวิปัญจวิญญาณ และสัมปฏิจฉันนจิต คือ ทวิปัญจวิญญาณรู้เฉพาะอารมณ์ของตน เช่น จักขุวิญญาณรู้อารมณ์ได้อารมณ์เดียวเท่านั้น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา โสตวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ เสียงที่ปรากฏ ทางหู ฆานวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ กลิ่นที่กระทบจมูก ชิวหาวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ รสที่กระทบลิ้น กายวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ โผฏฐัพพะที่กระทบกาย แต่สัมปฏิจฉันนะรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ทีละอารมณ์ เพราะไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ โสตวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ และอาศัยทวาร ๕ ทวาร

    โดยกิจ สัมปฏิจฉันนะไม่ได้ทำกิจเดียวกับจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะว่าจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ คือ เห็น จิตอื่นนอกจากจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจไม่ได้เลย สามารถมีอารมณ์นั้นได้ แต่ไม่เห็นอารมณ์นั้น โสตวิญญาณทำสวนกิจ คือ กิจได้ยินเสียงที่ปรากฏ สัมปฏิจฉันนจิตมีเสียงเป็นอารมณ์ แต่ไม่ได้ทำสวนกิจ คือ ไม่ได้ยินเสียง เพียงแต่รับรู้เสียงนั้นต่อจากโสตวิญญาณ

    นี่เป็นกิจที่ต่างกันของทวิปัญจวิญญาณ และสัมปฏิจฉันนจิต

    สำหรับที่เกิดของสัมปฏิจฉันนจิต คือ โดยวัตถุ ต่างกับทวิปัญจวิญญาณ ในขณะนี้ ถ้าศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด จะทราบกิจของจิตแต่ละดวง ในวาระหนึ่งๆ เช่น ในขณะที่เห็น เฉพาะจักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท ทำกิจเห็นขณะเดียว และดับ สัมปฏิจฉันนจิตไม่เห็นแต่อาศัยจักขุปสาทรับรู้รูปนั้นต่อจาก จักขุวิญญาณ และเกิดที่หทยวัตถุ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1512

    ในขณะนี้เอง ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงสภาพลักษณะของจิตที่ต่างกันในวาระหนึ่งๆ ที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น

    การที่ทวาร และวัตถุของสัมปฏิจฉันนจิตไม่เนื่องกัน จึงต้องมีวิตกเจตสิก เกิดร่วมด้วย สำหรับทวิปัญจวิญญาณ คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก โสตวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก จิต ๑๐ ดวงนี้ แต่ละดวงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก แต่สัมปฏิจฉันนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ เพราะว่าทวาร และวัตถุของสัมปฏิจฉันนจิตต่างกัน

    สำหรับจักขุวิญญาณ เกิดที่จักขุปสาท ทำกิจที่จักขุปสาท และดับที่จักขุปสาท แต่สัมปฏิจฉันนจิตเกิดที่หทยวัตถุ อาศัยทวารตาถ้ารับรู้รูปต่อจากจักขุวิญญาณ แต่สัมปฏิจฉันนจิตเองเกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตจึงมีเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ๑๐ ดวง คือ เพิ่มปกิณณกเจตสิกอีก ๓ ดวง ได้แก่ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก และอธิโมกขเจตสิก

    นี่คือสภาพที่ต่างกันของทวิปัญจวิญญาณกับสัมปฏิจฉันนะ

    จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณพวกนี้ไม่ต้องอาศัยเจตสิกเกินกว่า ๗ ไม่ต้องมี วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก แต่ทันที่จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อ ต้องอาศัยเจตสิกอีก ๓ ดวงเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วย เพราะไม่ได้ทำกิจเห็นแต่ทำกิจรับรู้สีต่อจากจักขุวิญญาณ จึงต้องอาศัยวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพื่อตรึกหรือจรดในอารมณ์นั้น นอกจากนั้นมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะที่ใดก็ตามที่มีวิตกเจตสิก ที่นั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    วิตกเจตสิก เป็นเจตสิกที่จรดหรือตรึกในอารมณ์ และวิจารเจตสิกเป็นสภาพที่ประคองอยู่ในอารมณ์ที่วิตกจรด ไม่ว่าวิตกจะจรดในอารมณ์อย่างไร วิจารก็ประคองตามไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกกับวิจารเจตสิกก็เกิดร่วมกัน จิตใดที่มี วิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิด แต่ต่อไปจะทราบว่า วิจารเจตสิกเกิดโดยไม่มีวิตกเจตสิกเกิดก็ได้ สำหรับทุติยฌาน ซึ่งมีความชำนาญคล่องแคล่วมาก ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิตกเจตสิกอีกต่อไป จิตก็สามารถสงบระงับ เป็นทุติยฌานได้ แต่สำหรับกามาวจรจิต ที่ใดที่มีวิตกเจตสิก ที่นั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อธิโมกขเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปักใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะสัมปฏิจฉันนจิตไม่ใช่จิตที่ทำทัสสนกิจ แต่เป็นจิตที่รับอารมณ์ต่อจากทางจักขุวิญญาณ

    สัมปฏิจฉันนจิตไม่เกิดทางมโนทวาร เกิดได้เฉพาะ ๕ ทวาร และรู้ได้เฉพาะ ๕ อารมณ์ และเกิดขณะอื่นไม่ได้นอกจากเมื่อจักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิต เกิดต่อ โสตวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ฆานวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ชิวหาวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ กายวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ รู้ หรือไม่รู้ ก็เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงโลกมืดว่า วันหนึ่งๆ แท้ที่จริงอยู่ในโลกที่สว่างมาก หรือในโลกที่มืดมาก ก็เพื่อให้คลายความติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะว่าทางตา ถ้าใครบอกว่ากำลังเกิดดับ ยากแสนยากที่จะเชื่อ ใช่ไหม ถ้าสติไม่เคยระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา และระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ซึ่งสลับกันอย่างรวดเร็ว และยังมีทางใจที่คิดนึกเรื่องที่ได้ยินเป็นต้น หรือสิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส

    อย่างเวลาที่รับประทานอาหาร ไม่ได้มีแต่เห็น ใช่ไหม คุยกันด้วย ฟังเพลงด้วย คิดนึกเรื่องต่างๆ ด้วย บางคนอาจจะคิดนึกเรื่องธุรกิจการงาน และมีการกระทบสัมผัสช้อนส้อม เครื่องใช้ในการบริโภค เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วาระที่รู้อารมณ์ทางอื่นนอกจากทางจักขุทวาร มืด ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่มีแสงสว่างใดๆ เลย ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ก็ไม่มีแสงสว่างใดๆ เลย ขณะที่กำลังคิดนึกก็ไม่ได้มีแสงสว่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ถ้าไม่เกี่ยวเนื่องกับทางจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถีที่รับรู้อารมณ์ต่อจากทางจักขุทวารวิถีแล้ว วาระอื่นทั้งหมด คือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มืด พิสูจน์ได้ง่ายมาก เพียงหลับตาเท่านั้นก็มืด แต่ยังมีอ่อน มีแข็ง มีเสียง มีรส มีกลิ่น กระทบปรากฏได้ทั้งหมด

    การพิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมตามความเป็นจริงต่างกับ ที่เคยคิด เคยเข้าใจ จะทำให้ละคลายการยึดถือ การติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเข้าใจแล้วว่า ชั่วแวบเดียว ชั่วครู่เดียวเท่านั้นเองที่เห็นตามความเป็นจริง และวิถีจิตวาระอื่นก็เกิดสืบต่อสลับแล้ว และมีการเห็นอีก ชั่ววาระสั้นๆ วิถีจิตวาระอื่นซึ่งมืดก็เกิดดับสืบต่อแล้ว

    ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ ที่ว่าสว่างนี่ ชั่วครู่ ชั่วขณะเท่านั้น ก็จะละคลายการยึดติดในสิ่งที่ปรากฏทางตา ละคลายการยึดติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ไม่ใช่ละความพอใจ

    จะเห็นได้ว่า ความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา รวดเร็ว แม้ จักขุทวารวิถีจิตยังไม่ดับหมด รูป ๑๗ ขณะยังไม่ทันจะดับ จิต ๑๗ ขณะนี่ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น รูปต้องดับเร็วด้วย จิต ๑๗ ขณะดับเร็วกว่าขณะที่กำลังเห็น และกำลัง ได้ยินในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่รูปยังไม่ดับ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับ สันตีรณจิตดับ โวฏฐัพพนจิตดับ ชวนจิต พอใจหรือไม่พอใจในรูปที่ปรากฏเกิดดับ สืบต่อกัน ๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ยับยั้งการติดหรือการชอบ แต่ละการที่เคยยึดมั่นถือมั่น ในรูปที่ปรากฏว่าเป็นสภาพที่เที่ยง และไม่ดับ เพราะตามความเป็นจริงแล้วต้องเห็นชั่วขณะสั้นมาก และวิถีจิตวาระอื่นก็เกิดดับสืบต่อ ถ้าพิจารณาลักษณะสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจสืบต่อกันได้จริงๆ ลักษณะของสภาพธรรมย่อมปรากฏตามเป็นจริง คือ เกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว แม้แต่ ทางตาที่คิดว่าไม่ดับเลย ก็ต้องรู้ว่า ความจริงต้องปรากฏสภาพที่ดับได้ เพราะว่ามี วิถีจิตวาระอื่นเกิดสลับที่จะรู้ได้ว่าทางตาต้องดับ

    ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ หรือไม่น้อมระลึกถึงสภาพที่แท้จริงในขณะที่รูปแต่ละรูปปรากฏทางทวารแต่ละทวาร ก็จะคิดว่าเป็นโลกที่สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา ไม่ดับเลย แต่การที่ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็น ชั่วขณะที่สั้น และเล็กน้อยได้ ก็เมื่อปัญญาพิจารณาลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง

    ถ. สัมปฏิจฉันนะ เพียงแต่พิจารณาอารมณ์ ใช่ไหม ยังไม่ตัดสินอารมณ์

    สุ. สัมปฏิจฉันนะยังไม่ได้พิจารณา สัมปฏิจฉันนะรับอารมณ์ต่อจาก จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ทีละอารมณ์ ทีละทวาร ยังไม่พิจารณาอารมณ์ ต้องสันตีรณจิต

    ขอกล่าวทบทวนลักษณะของสัมปฏิจฉันนะใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ซึ่งแสดงลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิตว่า

    จักขุวิญญาณาทีนัง อนันตรรูปาทิวิชชานนลักขณา มีการรู้รูปารมณ์เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ

    ตามที่ทุกคนเคยทราบแล้ว เป็นการทบทวนให้ทราบว่า ลักษณะของ สัมปฏิจฉันนะนั้น ไม่เห็น แต่รู้ตามจักขุวิญญาณซึ่งเห็น เพราะฉะนั้น เวลาที่ จักขุวิญญาณเกิดครั้งหนึ่ง จะมีจิตซึ่งติดตามมาด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงจักขุวิญญาณ ที่เห็นเท่านั้น ทันทีที่จักขุวิญญาณดับไปจะมีจิตที่ติดตามมา คือ สัมปฏิจฉันนจิต สำหรับทางทวารหู จมูก ลิ้น กาย ก็โดยนัยเดียวกัน

    รูปาทีนัง สัมปฏิจฉันนรสา มีการรับอารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นรสะ

    ลักษณะของจิตที่เป็นสัมปฏิจฉันนะ คือ เมื่อทวิปัญจวิญญาณจิตดับ ต้องมีหน้าที่ต้องรับรูปนั้นต่อ

    ตถาภาวปัจจุปัฏฐานา มีภาวะอย่างนั้น คือ รับอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ

    เวลานี้แม้ว่าสัมปฏิจฉันนะไม่ปรากฏ แต่การที่ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นั่นเป็นการแสดงแล้วว่าต้องมีสัมปฏิจฉันนะ มิฉะนั้นเพียงจักขุวิญญาณที่เห็น และดับ จะไม่มีการรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร หรือเสียงที่ได้ยินเป็นอะไร แต่เมื่อเห็นแล้วรู้ว่าเป็นอะไร ได้ยินแล้วรู้ว่าหมายความว่าอะไร ต้องแสดงว่า เมื่อทวิปัญจวิญญาณ ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะต้องรับอารมณ์นั้นต่อ

    จักขุวิญญาณาทิ อปคมนปทัฏฐานา มีความไปปราศของจักขุวิญญาณ เป็นต้นเป็นปทัฏฐาน

    เมื่อทวิปัญจวิญญาณดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากสัมปฏิจฉันนจิต


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1513


    หมายเลข 13047
    14 ก.ย. 2567