ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แยกกัน


    ผู้ฟัง ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด คำว่า มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะทั้ง ๓ ที่ไม่แยกกัน สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เกิดดับ ใช่ไหม ต้องเป็นสิ่งที่เกิดดับนั่นเองที่ไม่เที่ยงนั้นแหละเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ถูกไหม โดยชื่อ

    และขณะนี้ อะไรกำลังไม่เที่ยง ประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงหรือเปล่า แต่พูดถึงไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดอะไรเลย เป็น สามัญญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย หมายความว่าสภาพที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลายจะต้องมีสามัญญลักษณะ คือ ไม่เที่ยง เกิดดับ เป็นอนัตตา ถ้าเรากล่าวถึงโดยชื่อก็ไม่ประจักษ์ แต่ขณะใดที่กำลังประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป นั่นคือ ไตรลักษณะ

    ผู้ฟัง แม้ขณะนี้ ก็มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ได้ใช่ไหม ถ้ามีปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถ้าวิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ก็มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ต้องวิปัสสนาญาณหรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แม้วิปัสสนาญาณต้นๆ ยังไม่มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ทั้งๆ ที่ เกิดดับ เวลานี้มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่านามธรรมรูปธรรมเกิดดับ รู้โดยฟัง ใช่ไหม และ มีใครบ้างที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม นี่ต้องอีกขั้นหนึ่งแล้ว และผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ยังไม่ถึงอุทยัพพยญาณ ก็ไม่ประจักษ์ ไตรลักษณ์

    ที่จริงแล้วการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ไม่ต่างกับขณะนี้เลย เพียงแต่ว่าปัญญาต่างกัน ปัญญาขั้นการฟัง ฟังสักเท่าไรก็ยังไม่ประจักษ์ว่าอะไรเกิดอะไรดับ แต่เข้าใจว่าต้องดับ และต้องเกิด อย่างในขณะที่กำลังเห็น และได้ยิน ต้องรู้ว่า เห็นต้องดับได้ยินจึงเกิดได้ และขณะที่ได้ยินต้องไม่มีเห็น นี่คือความเข้าใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม จะต่างกับขณะนี้ไม่ได้เลย แต่ปัญญาสามารถแทงตลอดปรุโปร่งในลักษณะที่ต่างกัน ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป ตามขั้นของวิปัสสนาญาณ

    ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแรก ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมปรากฏโดย สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนทีละอย่างจริง แต่ปัญญาไม่ได้น้อมพิจารณาการดับไป การเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง เหมือนในขณะนี้ ใช่ไหม ขั้นของการฟังยัง สลัวมาก รู้ว่าเห็นไม่ใช่ได้ยิน แต่แยกไม่ออก เพราะว่าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ ทีละอย่าง แต่ปรากฏเหมือนหลายอย่างติดๆ กัน พร้อมกันด้วย ใช่ไหม

    และเวลาที่สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง ควรใส่ใจในการปรากฏ คือ การเกิดขึ้น และดับไปของแต่ละอย่าง แต่ปัญญาที่มีกำลังอ่อนไม่ได้ทันใส่ใจในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏให้เห็นทีละอย่าง เพียงแต่ว่ามนสิการ รู้แจ่มแจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นที่ปรากฏ ทีละอย่างๆ แต่ปัญญาที่ยังอ่อนไม่ได้พิจารณาว่า แต่ละอย่างที่ปรากฏนั้น เกิด และดับ และอีกอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้น และก็ดับ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณ แต่ละขั้นจึงต้องอาศัยการเจริญอบรมจนกว่าปัญญาจะคมกล้าจริงๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไม่เกิดขึ้นทีละอย่าง แต่เกิดขึ้นพร้อมกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไตรลักษณะเป็นลักษณะ ๓ ซึ่งไม่แยกกันเลย จึงชื่อว่าไตรลักษณะ

    ผู้ฟัง ผมสงสัยมานานแล้วว่า อนิจจังก็คือทุกขัง ทุกขังก็คืออนัตตา แต่หาคำตอบไม่ได้ ที่อาจารย์บอกว่า แยกกันไม่ได้ ผมเพิ่งเข้าใจวันนี้ว่า แยกกันไม่ได้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ คงเคยได้ยินคนพูดว่า อนิจจัง เวลาของตกแตก ไม่เที่ยง บางคน บอกว่า มันเป็นทุกข์ บางคนบอกว่า มันไม่ใช่ตัวตน แต่ขณะเดียวกันนั่นเอง สภาพ ที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้น และดับไปต้องเป็นทุกข์แน่ๆ เพราะไม่ยั่งยืน ใช่ไหม และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น แล้วแต่แต่ละบุคคลในขณะที่ไตรลักษณ์ปรากฏ ว่าจะเห็นความเป็นอนิจจัง หรือจะเห็นความเป็นทุกข์ หรือจะเห็นด้วยความ เป็นอนัตตา คือ ปัญญาพิจารณาในลักษณะที่เป็นอนัตตา แต่ไม่แยกจากกันเลย ในลักษณะที่ไม่เที่ยงนั่นเอง แล้วแต่ว่าของตกแตก และจะบอกว่าอย่างไร หรือเจ็บไข้ ได้ป่วยก็คือความไม่เที่ยง จะพูดว่าอย่างไร พูดว่าทุกข์ หรือพูดว่าอนัตตา หรือพูดว่าไม่เที่ยง

    ถ้าวันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้เป็นโรคร้ายแรงจะบอกว่าอย่างไร ทุกข์ ปรากฏให้เห็น อนิจจัง ไม่เที่ยงเลยเมื่อวานนี้ก็ยังแข็งแรงดี หรือว่าอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ฉันใด เวลาที่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏเกิดขึ้น และดับไป ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เตรียมเลือกได้ไหม ก็ไม่ได้อีก ว่าจะเป็นผู้ที่ใส่ใจในลักษณะที่เป็นอนิจจัง หรือใส่ใจ ในลักษณะที่เป็นทุกข์ หรือว่าใส่ใจในลักษณะที่เป็นอนัตตา

    การศึกษาปรมัตถธรรมมีทางที่จะงงได้มาก ถ้าคิดมากเกินไปในเรื่องพยัญชนะ แต่ถ้าคิดว่าพยัญชนะคือคำที่บ่งบอกลักษณะของปรมัตถธรรม เราก็จะไม่ยึดติด ในพยัญชนะจนเกินควร แต่พยายามเข้าถึงลักษณะของปรมัตถธรรมตรงตามที่พยัญชนะนั้นบ่งมากกว่าจะไปค้นคว้าว่า พยัญชนะนี่เป็นอย่างไร


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1516


    หมายเลข 13058
    15 ก.ย. 2567