ทุกคนไม่เหมือนกัน - ความต่างแห่งธาตุ
สัทธรรมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาธรรมนานัตตญาณนิทเทส ข้อ ๑๘๔ มีข้อความว่า
ความต่างแห่งผัสสะ อาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น
ขณะนี้ทุกคนไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่มีตาเหมือนกัน มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แต่คิดคนละอย่าง หรือแม้แต่ขณะที่เห็นกับขณะที่ได้ยิน คนหนึ่งอาจจะเห็น คนหนึ่งอาจจะได้ยิน อีกคนหนึ่งอาจจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ความต่างแห่งผัสสะ คือ การกระทบอารมณ์ อาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น และการเห็นของแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกันอีก บางคนก็เห็นชัด จักขุปสาทดี บางคนก็เห็นไม่ค่อยชัด จักขุปสาทไม่ดี
เพราะฉะนั้น แม้แต่การเห็นชั่วขณะหนึ่งที่เกิดก็ยังต่างกันไป เพียงแค่เห็น ยังต่าง นอกจากจะเห็นต่างกัน ได้ยินต่างกัน ได้กลิ่นต่างกัน ลิ้มรสต่างกัน แต่ละขณะ
ความต่างแห่งเวทนา คือ ความต่างแห่งจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น
เห็นแล้วความรู้สึกต่างกันไหม ต่างกัน บางคนชอบแสงแดด บางคนไม่ชอบ ชอบฝน นี่เป็นเรื่องของความรู้สึก เห็นแดดด้วยกัน คนหนึ่งสดชื่น อีกคนหนึ่งไม่สบาย ทั้งๆ ที่เห็นสิ่งเดียวกัน ความรู้สึกก็ยังต่างกัน เพราะฉะนั้น จิตที่วิจิตรต่างกันมากมายแต่ละขณะ จะทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์ที่วิจิตรต่างกันออกไปอีกมากเท่าไร เมื่อกระทบปรากฏให้เห็นได้ยินต่างกันแล้ว และความรู้สึกที่เห็นได้ยินต่างกันแล้ว สัญญา ความจำในสิ่งที่ปรากฏก็ยังต่างกันด้วย
ทุกท่านกลับไปบ้าน อาทิตย์หน้าพบกันอีกที ถามว่าใครจำอะไรได้บ้าง ความจำของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใช่ไหม ไปเที่ยวด้วยกัน บางคนจำเรื่องนี้ได้ บางคนจำเรื่องนั้นได้ บางคนจำอะไรไม่ได้เลย แล้วแต่แต่ละบุคคล
นอกจากจะเห็นต่างกัน ทำให้เกิดความรู้สึกต่างกัน และความจำต่างกันแล้ว ความดำริ หรือการตรึก การนึกคิดในเรื่องที่เห็นก็ยังต่างกันด้วย
เห็นสิ่งเดียวกัน บางคนเฉยๆ บางคนเกิดกรุณา ทนไม่ได้ ต้องช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนในขณะนั้น นี่เป็นความดำริที่ต่างกัน เวทนาก็ต่างกัน สัญญาก็ต่างกัน ความดำริก็ต่างกัน ฉันทะ ความพอใจใน สิ่งต่างๆ ก็ยิ่งต่างกันไป
เสื้อผ้าของแต่ละคนในวันนี้ไม่เหมือนกันเลย ดูลาย ดูดอก ดูสี ดูแบบ ก็ ต่างๆ กันไปตามฉันทะ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็มีความเร่าร้อนต่างกัน บางคนอาจจะเร่าร้อนด้วยโทสะ บางคนอาจจะเร่าร้อนด้วยโลภะ บางคนอาจจะเร่าร้อนในรูป บางคนอาจจะเร่าร้อนในเสียง บางคนอาจจะเร่าร้อนในรส เพราะฉะนั้น ก็ชอบทำอาหาร เพราะเร่าร้อนในรส แสวงหารส ที่อร่อย บางคนเรื่องอาหารไม่เป็นไร อะไรก็ได้ง่ายๆ นั่นเป็นความเร่าร้อนที่ต่างกัน ทำให้เกิดการแสวงหาที่ต่างกัน
เมื่อการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างกัน เพราะฉะนั้น การได้ ก็ต่างกันตามการแสวงหา แล้วแต่ว่าใครจะได้รูปอย่างไร ใครจะได้เสียง ได้รส ได้กลิ่น ได้โผฏฐัพพะอย่างไร ก็เป็นไปตามการแสวงหา และการเร่าร้อน ซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทตราบใด ก็ยังต้องมีกรรม และมีการได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ที่มา ...