ปาฏิหาริย์จริงๆ มีได้ แต่เป็นสิ่งที่ยากมาก


    ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง เพราะว่าท่านที่อ่านพระไตรปิฎกสมัยนี้ โดยที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดย่อมคิดว่า ปาฏิหาริย์เป็นเรื่องที่เหลวไหล ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ดูเสมือนว่า กำลังมีการทำปาฏิหาริย์ แม้ในประเทศอื่น และศาสนาอื่น ก็มีการกระทำที่ดูเสมือนว่า เป็นปาฏิหาริย์ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ปาฏิหาริย์เหมือนปาฏิหาริย์ที่พระผู้มีพระภาค และพระอริยสาวก หรือผู้ที่ได้บำเพ็ญฌานสมาบัติในครั้งโน้นสามารถที่จะกระทำได้จริงๆ เพราะฉะนั้น นี่เป็นความต่างกัน

    สำหรับสิ่งที่คนยุคนี้เข้าใจว่า เป็นการทำปาฏิหาริย์ ไม่ว่าจะเป็นในพุทธศาสนาหรือว่าศาสนาอื่น เช่น ผู้ที่สามารถรักษาโรคให้หายได้ด้วยการจับถูกต้อง ไม่ใช่แต่เฉพาะที่เมืองไทย มีท่านผู้หนึ่งท่านอยู่ต่างประเทศ ท่านบอกว่า มีผู้ที่ชักชวนให้ท่านนับถือศาสนาอื่น เพราะเขาสามารถรักษาโรคให้หายได้เพียงด้วยการจับมือ เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดว่า ท่านยังไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา แต่ถ้าท่านจะนับถือศาสนาอื่น และได้รับประโยชน์อย่างนั้น ก็คงจะไม่เป็นการเสียหายประการใด

    ทุกคนต้องพิจารณาว่า สิ่งที่กำลังกระทำกันอยู่ในสมัยนี้ และเข้าใจว่าเป็นปาฏิหาริย์นั้น ไม่เหมือนกับปาฏิหาริย์ที่พระผู้มีพระภาค และผู้ที่ได้ฌานสมาบัติใน ครั้งนั้นทำ เพราะว่าปาฏิหาริย์จริงๆ ย่อมมีได้ แต่เป็นสิ่งที่ยากมาก และต้องเป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุ ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผลแล้วจะกล่าวว่า สิ่งนั้นๆ เป็นปาฏิหาริย์ไม่ได้

    สำหรับในสมัยนี้ ดิฉันเองไม่ได้ตื่นเต้นกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือการกระทำ อย่างหนึ่งอย่างใดที่มีคนบอกว่าเป็นปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดแล้วเห็นว่า ปาฏิหาริย์เป็นสิ่งที่มีได้ แต่เป็นสิ่งที่ยากมากที่จะเกิดขึ้นได้ แม้ ในสมัยก่อนซึ่งเป็นกาลสมบัติ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถได้ฌานสมาบัติ และกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้

    ยิ่งในสมัยนี้ เป็นสมัยที่ไม่มีการพิจารณาธรรมในเรื่องเหตุ และผลโดยละเอียด ก็ย่อมเป็นการยากที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดแม้เพียงที่จะบรรลุฌานสมาบัติ ยังไม่ต้องถึงจะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ เพียงแต่จะอบรมความสงบของจิตจนกระทั่งความสงบนั้นเพิ่มขึ้นจนกระทั่งลักษณะความสงบนั้นเป็นความสงบที่มั่นคงถึงความเป็นสมาธิขั้น ต่างๆ จนถึงอัปปนาสมาธิซึ่งปฐมฌาน คือ อัปปนาสมาธิจิตขณะแรกที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นขณะเดียว ก็ยังประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งเป็นเจตสิก ๕ องค์ ที่กระทำกิจละนิวรณธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการละธรรมที่เรียกว่านิวรณ์ คือ เครื่องเศร้าหมองของจิตให้ค่อยๆ คลายลงไปแล้ว ฌานจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

    และเมื่อผู้นั้นบรรลุปฐมฌานแล้ว ด้วยสภาพที่เป็นอัปปนาสมาธิจิต ซึ่งเป็นสภาพของจิตที่ไม่ใช่กามาวจรจิตที่เคยเกิด เป็นจิตอีกระดับขั้นหนึ่ง เป็นขั้นรูปาวจรจิตที่เป็นปฐมฌาน องค์ของฌานจะต้องปรากฏสำหรับให้ผู้ที่ได้บรรลุพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ พิจารณาองค์ของฌานทั้ง ๕ คือ พิจารณาลักษณะของ วิตกเจตสิก พิจารณาลักษณะของวิจารเจตสิก พิจารณาลักษณะของปีติเจตสิก พิจารณาสุขเวทนา และพิจารณาเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จริงๆ ลักษณะขององค์ทั้ง ๕ จะปรากฏให้พิจารณาไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่เห็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วก็เข้าใจว่าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เป็นแต่เพียงผลของสมาธิเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะว่าเคยสะสมมาในชาติก่อนๆ จึงมีสิ่งที่ผิดบ้างถูกบ้าง แต่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่แท้จริง และไม่ใช่ฌานจิตด้วย เพราะว่าผู้ที่จะอบรมฌานจิต ต้องศึกษาเรื่องสมถกัมมัฏฐาน อารมณ์ ๔๐ ที่จะทำให้จิตสงบโดยละเอียดจริงๆ โดยรู้ความต่างกันของอารมณ์ทั้ง ๔๐ ว่า อารมณ์ใดจะทำให้จิตสงบได้ขั้นใด เพราะว่าอารมณ์บางอารมณ์ไม่สามารถทำให้ถึงปฐมฌานได้ เช่น พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ

    ผู้ที่จิตสงบเพราะระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระลึกถึงศีล ระลึกถึงจาคะ ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดา จะสงบได้เพียงขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ที่จะให้จิตสงบจนกระทั่งถึง อุปจารสมาธิด้วยอนุสสติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิตในขณะที่จิตกำลังสงบ มิฉะนั้นแล้วย่อมไม่สามารถกันหรือละอกุศลจิตได้ เพราะในขณะนี้กุศลจิตก็ดี หรืออกุศลจิตก็ดี ที่จะเกิดทางทวารหนึ่งทวารใด ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และสลับกันมาก

    ถ้าขณะนี้ได้ยินเสียง เป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ ไม่มีใครสามารถยับยั้งโทสมูลจิต ความไม่แช่มชื่นของจิตแม้เพียงเล็กน้อยซึ่งเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว ยังไม่ทันจะสังเกตว่าเป็นความไม่แช่มชื่นของจิต แต่ความไม่แช่มชื่นของจิตก็เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย และก็ดับไป สลับกับขณะที่กำลังฟังธรรม ซึ่งเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าในขณะนี้ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะที่เป็นอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่ใช่ในขณะที่กำลังเป็นกุศลในขณะที่กำลังฟังพระธรรม ถ้าไม่มีความละเอียดอย่างนี้ อบรมสมถภาวนาไม่ได้ เพราะว่าการอบรมเจริญสมถภาวนานั้น ต้องประกอบด้วยปัญญา จิตที่กำลังเจริญนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ด้วย

    อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ในยุคนั้นสมัยนั้น คือ ในสมัยพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็น สมัยของกาลสมบัติ มีผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และสามารถบรรลุฌานจิตถึงขั้นที่สามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แม้ไม่ใช่ผู้ที่เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นอัญญเดียรถีย์คือผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ก็ยังสามารถอบรมความสงบของจิตจนกระทั่งสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่แม้กระนั้น ก็ไม่มีผู้ใดที่สามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้เสมอพระผู้มีพระภาค

    เพราะฉะนั้น เรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์มีจริง แต่ไม่เหมือนกับสิ่งที่คนในยุคนี้เข้าใจว่าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ แสดงให้เห็นว่า การศึกษาพระธรรม การอ่านหรือการฟัง บางทีบางท่านเปรียบพระธรรมหรือวัดพระธรรมด้วยความคิดความเข้าใจของท่านเอง คือ ถ้าท่านมีความเข้าใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว ท่านอ่านพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ท่านก็อาจจะคิดว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเปรียบกับความคิดของตนเองว่า ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้าคิดว่า ปัญญาของบุคคลในครั้งนั้นสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทบรรลุความเป็นพระอริยเจ้า ในขณะที่คนในสมัยนี้ยังต้องฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เพื่ออุปการะให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่ก็เป็นความต่างกันแล้ว

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะเกิดศรัทธาพร้อมด้วยปัญญา ไม่ใช่เข้าใจว่าตนเองเป็น ผู้ที่มีปัญญา และขาดศรัทธาในการที่จะฟัง และอ่านพระไตรปิฎก และคิดเปรียบเทียบว่า ถ้าท่านคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ บุคคลอื่นก็ย่อมทำไม่ได้ แต่ควรที่จะได้ศึกษาถึงเหตุว่า เหตุที่จะให้การกระทำนั้นๆ เกิดขึ้นสมควรแก่ผลหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุที่ไม่สมควรแก่ผล คือ เพียงนั่งสมาธิ และบอกว่าเหาะได้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือนั่งสมาธิ นิดๆ หน่อยๆ และบอกว่า มีจักขุทิพย์ เห็นสิ่งต่างๆ ได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่เหตุ


    ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม

    เรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์


    หมายเลข 13069
    13 ก.ย. 2567