พยายามเปลี่ยนความหมายของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ
น่าเห็นใจท่านผู้ฟังท่านนี้ที่ท่านเข้าใจว่า ท่านเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และพอใจที่จะให้กล่าวเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน โดยที่ท่านไม่ได้พิจารณาเรื่องของจิตประเภทต่างๆ เช่น รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต เป็นต้น ตามข้อความที่ท่านกล่าวว่า
... ท่านได้อธิบายธรรมเป็นสัมมาทิฏฐิ ก่อประโยชน์ให้แก่ผู้รับฟัง ได้ปัญญา จากการเจริญสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ด้วยการเจริญวิปัสสนา โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ เป็นอาวุธ ใช้มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางเดิน และไม่เจริญภวังคฌาน ...
ซึ่งถ้าฟังโดยละเอียดก็จะรู้ได้ว่า ท่านผู้ฟังท่านนี้ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องของ จิตประเภทต่างๆ โดยละเอียดจริงๆ เมื่อพอใจเรื่องสติปัฏฐาน และเห็นว่าอิทธิปาฏิหาริย์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็เลยปฏิเสธ เพราะใช้ความเชื่อมั่นในความคิดความเข้าใจของตนเอง และท่านพยายามเปลี่ยนความหมายของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น เรื่องคนเดียวเป็นหลายคน ท่านก็อธิบายว่า เป็นการทำจิตที่ปราศจาก นิวรณ์กิเลสให้มีขึ้น ให้เป็นให้ได้มากๆ หลายจิต
ท่านเข้าใจว่า ขณะที่จิตเปลี่ยนสภาพจากนิวรณ์เป็นจิตประเภทต่างๆ นั่นคือคนเดียวก็เป็นหลายคนได้
และสำหรับหลายคนเป็นคนเดียวได้ ท่านอธิบายว่า เป็นการทำจิตที่ประกอบด้วยนิวรณ์ต่างๆ ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ เป็นเอกัคคตา
เมื่อท่านเชื่ออย่างนั้น ท่านก็พิจารณาพระไตรปิฎกตามแนวนั้น และพยายามคิดว่าต้องเป็นอย่างที่ท่านเข้าใจ ตัวอย่างของท่าน คือ เช่น ทำปุถุชนหลายๆ คนให้เป็นอริยบุคคลอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่ว่าทำคนหลายๆ คนที่ได้แบ่งภาคออกแล้ว ให้กลับมาเป็นคนเดียวอย่างเดิม
ข้อ ๓ ท่านกล่าวว่า
ทำให้ปรากฏก็ได้ หมายความว่า ทำจิตที่ปราศจากกิเลสให้ปรากฏให้เกิดขึ้น ... ก็เป็นเรื่องของจิต แทนที่จะเป็นอิทธิปาฏิหาริย์
ข้อ ๔. ทำให้หายไปก็ได้ หมายความว่า ทำกิเลสในจิตให้ดับสูญ ให้หายไป ให้หมดไป ทำความไม่ติดกุศล ทำความไม่หลงยึดในผลดีที่เราก่อให้หายไป คือ ดับปีติวิสัย ไม่ใช่ว่าเป็นการเสกสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้หายไป (วัตถุต่างๆ ) หรือทำการล่องหนหายตัว ดังที่ได้เข้าใจกันอยู่ในผู้ที่งมงาย
ข้อ ๕ ท่านกล่าวว่า
ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ หมายความว่า แม้กิเลสตัณหาอุปาทาน หรือนิวรณธรรมใดจะหนาเท่าฝา จะแข็งแรงเท่ากำแพง จะเป็นเครื่องปิดกั้นขนาดภูเขา ผู้มีอิทธิวิธีแท้ก็จะต้องรู้แจ้งแทงทะลุ และไม่ติดไม่ยึดได้โดยไม่ยาก ...
คือ ขณะใดที่ปัญญาเกิด ท่านก็คิดว่า นั่นคือทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ คือ ปะปนสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา
ข้อ ๖ ท่านกล่าวว่า
ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ หมายความว่า เรื่องที่ไม่น่าจะทำ ให้เกิดได้เป็นได้ ก็เกิดได้
เช่น ดำดิน ไม่น่าเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดว่า ถ้าทำตนให้มีอำนาจจิตอยู่เหนือความคิด อยู่เหนือความติดความยึดเดิมๆ เรียกว่า เก่งเหนือธรรมชาติ ท่านเข้าใจว่า ในขณะนั้น ก็เหมือนกับผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้
ข้อ ๗ ท่านกล่าวว่า
เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ หมายความว่า เป็นเรื่องที่เก่งสามารถยิ่งขึ้นไปอีก แม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมสัมผัสที่จัดจ้านอย่างยิ่ง ก็สามารถทำให้ง่ายให้สบายได้ เหมือนก้อนน้ำแข็งกลางเตาหลอมเหล็ก
ข้อ ๘ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ หมายความว่า ทำจิตให้ว่างเบาสบาย ปราศจากกิเลสนิวรณ์ เป็นจิตอิสระ ปราศจากเครื่องดึงเครื่องถ่วง ล่องลอยไปไหนๆ ก็ได้ สุดแสนสะดวกสบาย เบา เหมือนนกน้อยมีปีกแข็ง จะไปไหนก็ไปได้ด้วยปีกของตนทั้ง ๒ ข้าง มีจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย มีบาตรเป็นเครื่องบริหารท้อง เป็นการเหาะได้โดยไม่ต้องเหาะ เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันปรากฏเด่น เห็นง่าย สะอาด บริสุทธิ์ ชัดเจน มิใช่งมงายมุ่งหวังที่จะทำตนให้เหาะให้ล่องลอยไปได้ในอากาศ ปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้เห็นชัดได้ยาก เป็นการเดินเลี้ยว มิใช่เป็นการเดินตรงเพื่อเข้าหาพระนิพพาน
ข้อ ๙. ลูบคลำพระอาทิตย์พระจันทร์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ หมายความว่า เป็นผู้มีปัญญายิ่งยอด รู้ลึกซึ้งแทงทะลุในนามรูปทุกอย่าง แม้จะลึกลับไกลเกินรู้สุดยากสุดยิ่งขนาดไหน ทั้งเล็กเป็นปรมาณูธุลีละออง (โลกน้อย) และใหญ่โตมโหฬารเป็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ (โลกใหญ่) อันไกลสุดแสนไกลเท่าใดๆ ก็สามารถรู้ได้ไล่ถึง จับลูบเล่นได้อย่างเช่นในฝ่ามือนั่นทีเดียว แต่ใครอื่นจะรู้ด้วยนั้นแสนยาก พระอริยเจ้าผู้มีอิทธิวิธีแท้นั้นท่านย่อมรู้เอง สัมผัสเอง อย่างลูบคลำด้วยฝ่ามือได้จริงๆ
ข้อ ๑๐. ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ หมายความว่า เป็นผู้สามารถ รู้ได้หรือเข้าใจทะลุแจ่มแจ้งไปตลอดในสภาพจิตที่เรียกว่าพรหมโลกได้ กี่ลักษณะ กี่ระดับ กี่ชั้นเชิง ก็แยกออกแบ่งถูก กำหนดสภาพ กำหนดสถานภาพของแต่ละพรหมได้ถูกฝาถูกตัว
นี่เป็นการเอาอิทธิปาฏิหาริย์มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ท่านเข้าใจว่าเป็นปัญญา
แสดงให้เห็นว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ สิ่งใดที่ยังไม่เข้าใจ ก็ควรที่จะได้พิจารณา และศึกษาให้หายสงสัยในสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่เมื่ออ่านแล้ว เมื่อทำอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนั้นไม่ได้ ก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ หรือคิดว่าเกิดขึ้นมีไม่ได้
ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม