ขณะที่มีสติ จะพิจารณาอะไรต่อไป อย่างไร


    คำถามข้อ ๒. เมื่อรู้ลักษณะความต่างกันของการมีสติ และหลงลืมสติแล้ว จะพิจารณาอะไรต่อไป อย่างไร

    ขณะที่มีสติ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่มีสติ เฉยๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสติ จะมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นอารมณ์ที่สติกำลังระลึกในขณะนั้น เช่น ทางตา ในขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เห็น เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวว่า สติเกิด ไม่หลงลืม และขณะนั้นสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็น้อมไปที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏได้เมื่อกระทบกับจักขุปสาทรูปเท่านั้น และที่จะรู้จริงๆ และไม่ยึดถือว่าสิ่งที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็จะต้องอาศัยการพิจารณา สังเกต น้อมไปที่จะรู้ความต่างกันของรูปธรรมที่ปรากฏ และนามธรรมที่เห็นซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า หลงลืมสติมากจริงๆ ในขณะที่เห็น เพราะว่าจะมีกี่ท่านที่สติเริ่มจะระลึกในขณะที่กำลังเห็นว่า เหมือนกับดูเงาในกระจก ไม่มีอะไรเลยที่เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในกระจก แต่ก็มีเงาปรากฏให้เห็นว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันใด ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็เหมือนกับเงาในกระจก ไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นอกจากเป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา ถ้ากระทบสัมผัสก็เพียงแข็ง หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้

    และที่ว่าต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องตรงอย่างนี้ ไปตลอด ไม่ว่าสติจะเกิดในขณะใด ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างไปเรื่อยๆ ไม่มีให้ทำอย่างอื่นนอกจากนี้เลยตามคำถามที่ว่า เมื่อรู้ลักษณะความต่างกันของการมีสติ และหลงลืมสติแล้วจะพิจารณาอะไรต่อไป อย่างไร

    ก็พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏนั่นเอง แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏต่อไป ก็พิจารณาสิ่งนั้นต่อไปอีก เช่น ในขณะที่กำลังนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด และเกิดโทมนัสเสียใจ ขณะนั้นหลงลืมสติ แต่เวลาที่สติเกิดก็ระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพที่กำลัง คิดนึกเรื่องนั้น ถ้าจิตไม่คิด เรื่องนั้นก็ไม่มี และโทมนัสเวทนาในขณะนั้นก็มีไม่ได้เหมือนกัน ถ้าคิดเรื่องที่สนุก โสมนัสเวทนาก็เกิด โทมนัสเวทนาเกิดไม่ได้ แต่บังคับจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น บางครั้งจิตก็คิดถึงเรื่องที่ทำให้โทมนัสเวทนาเกิด แต่ถ้าสติเกิด ไม่หลงลืม ก็คือรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงชั่วขณะคิด ไม่มีอะไรเลยนอกจากโทมนัสเวทนา ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และถ้าสิ่งอื่นจะปรากฏต่อจากนั้น เช่น ความปีติหรือผ่องแผ้วของจิตที่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง สติก็สามารถระลึกลักษณะของกุศลจิตที่ผ่องแผ้ว ที่ไม่โทมนัสในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดปรากฏต่อไป เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำให้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดปรากฏโดยที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้เลย ซึ่งสติสามารถจะเกิดเมื่อไรขณะไหนก็ได้ เมื่อมีสภาพธรรมอะไรปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เท่ากับว่าพร้อมทุกขณะ แม้ในขณะนี้เอง


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1524


    หมายเลข 13079
    14 ก.ย. 2567