จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ อเหตุกจิตย่อมรู้ยากกว่า
สำหรับอกุศลจิต ถ้าเทียบกับอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ อเหตุกจิตย่อมรู้ยากกว่า เพราะไม่ได้ประกอบด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ แต่ จิตนี้มี และเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
สำหรับอเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ คือ ไม่ประกอบด้วย โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิกนั้น มี ๑๘ ดวง
อเหตุกจิตมี ๑๘ ดวง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง
สำหรับวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๘ ดวง รวมเป็นอเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ๑๒ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เพื่อที่จะเตือนให้ระลึกว่า ในขณะนี้เอง ที่กำลังเห็น เป็นวิบากจิต เป็นอเหตุกจิต ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ทางหู ทุกๆ ขณะที่ผ่านไปอาจจะหลงลืมสติ และไม่สังเกต ไม่พิจารณา ไม่ได้ระลึกเลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นผลของอดีตกรรมที่ทำให้ได้ยินเสียง ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างแต่ละขณะ
จิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ ทรงแสดงประเภทของวิบากจิตคือจิตที่เป็นผลของกรรมไว้ ในชีวิตประจำวัน เราก็จะ ไม่คิดเลยว่า นอกจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณแล้ว จะมีวิบากอื่นอีกที่เป็นผลของกรรม และถึงแม้จะทรงแสดงไว้ ก็ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ในการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิตแต่ละขณะ ในวาระหนึ่งๆ ซึ่งมีการเห็น หรือการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่แม้กระนั้นการศึกษาพระธรรมเรื่องของอเหตุกจิต ก็ยังช่วยให้เกิดการพิจารณาเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว ซึ่งควรที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะมีสภาพธรรมอื่น เช่น สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ ในขณะที่เห็น เกิดต่อจากโสตวิญญาณในขณะที่ได้ยิน เกิดต่อจากฆานวิญญาณ ในขณะที่ได้กลิ่น เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณในขณะที่ลิ้มรส เกิดต่อจากกายวิญญาณในขณะที่กระทบสัมผัส ก็ไม่สามารถจะติดตามระลึกรู้ได้ และไม่จำเป็นที่ใครจะต้องพยายามไปเจริญสติปัฏฐานโดยให้มีสัมปฏิจฉันนจิตเป็นอารมณ์
เมื่อเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สุดวิสัยที่จะรู้ได้ จึงควรรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่พิสูจน์ได้ เช่น ในขณะที่เห็น ไม่ต้องคิดว่าขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณ หรือ สัมปฏิจฉันนะ หรือสันตีรณะ หรือปัญจทวาราวัชชนะ หรือมโนทวาราวัชชนะ แต่ให้ทราบว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของจิตโดยละเอียด เพื่อให้เข้าใจ สภาพธรรมโดยถูกต้องที่จะช่วยให้คลายการยึดติดสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ที่มา ...