ทบทวนลักษณะของสัมปฏิจฉันนะ
ขอกล่าวทบทวนลักษณะของสัมปฏิจฉันนะใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ซึ่งแสดงลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิตว่า
จักขุวิญญาณาทีนัง อนันตรรูปาทิวิชชานนลักขณา มีการรู้รูปารมณ์เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ
ตามที่ทุกคนเคยทราบแล้ว เป็นการทบทวนให้ทราบว่า ลักษณะของ สัมปฏิจฉันนะนั้น ไม่เห็น แต่รู้ตามจักขุวิญญาณซึ่งเห็น เพราะฉะนั้น เวลาที่ จักขุวิญญาณเกิดครั้งหนึ่ง จะมีจิตซึ่งติดตามมาด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงจักขุวิญญาณ ที่เห็นเท่านั้น ทันทีที่จักขุวิญญาณดับไปจะมีจิตที่ติดตามมา คือ สัมปฏิจฉันนจิต สำหรับทางทวารหู จมูก ลิ้น กาย ก็โดยนัยเดียวกัน
รูปาทีนัง สัมปฏิจฉันนรสา มีการรับอารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นรสะ
ลักษณะของจิตที่เป็นสัมปฏิจฉันนะ คือ เมื่อทวิปัญจวิญญาณจิตดับ ต้องมีหน้าที่ต้องรับรูปนั้นต่อ
ตถาภาวปัจจุปัฏฐานา มีภาวะอย่างนั้น คือ รับอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ
เวลานี้แม้ว่าสัมปฏิจฉันนะไม่ปรากฏ แต่การที่ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นั่นเป็นการแสดงแล้วว่าต้องมีสัมปฏิจฉันนะ มิฉะนั้นเพียงจักขุวิญญาณที่เห็น และดับ จะไม่มีการรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร หรือเสียงที่ได้ยินเป็นอะไร แต่เมื่อเห็นแล้วรู้ว่าเป็นอะไร ได้ยินแล้วรู้ว่าหมายความว่าอะไร ต้องแสดงว่า เมื่อทวิปัญจวิญญาณ ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะต้องรับอารมณ์นั้นต่อ
จักขุวิญญาณาทิ อปคมนปทัฏฐานา มีความไปปราศของจักขุวิญญาณ เป็นต้นเป็นปทัฏฐาน
เมื่อทวิปัญจวิญญาณดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากสัมปฏิจฉันนจิต
ที่มา ...