เรื่องกิจของจิต 14 กิจ*


    ท่านอาจารย์ ขอทบทวนเรื่องกิจของจิต ซึ่งขณะนี้จิตกำลังทำกิจการงานอยู่ แต่ถ้าไม่ทราบว่า ๑๔ กิจนั้นคืออะไรบ้าง ก็จะคิดว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้กำลังทำกิจนั้นกิจนี้

    กิจของจิต ๑๔ กิจ คือ

    ๑. ปฏิสนธิกิจ

    ๒. ภวังคกิจ

    ๓. อาวัชชนกิจ

    ๔. ทัสสนกิจ

    ๕. สวนกิจ

    ๖. ฆายนกิจ

    ๗. สายนกิจ

    ๘. ผุสสนกิจ

    ๙. สัมปฏิจฉันนกิจ

    ๑๐. สันตีรณกิจ

    ๑๑. โวฏฐัพพนกิจ

    ๑๒. ชวนกิจ

    ๑๓. ตทาลัมพนกิจ

    ๑๔. จุติกิจ

    ซึ่งขณะนี้ จิตกำลังทำกิจต่างๆ ใน ๑๔ กิจ

    สำหรับท่านที่ทราบแล้วว่าจิตอะไรทำกิจอะไร ขอให้ถือว่าเป็นการทบทวน เพราะว่าเรื่องกิจของจิตเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้สามารถรู้ได้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจเพียง ชั่วขณะที่เกิด และดับไป

    สำหรับกิจที่ ๑ คือ ปฏิสันธิ (ปฏิสนธิ) กิจ ในภพหนึ่งชาติหนึ่งจะมีจิตที่เกิดขึ้นทำกิจนี้เพียงขณะแรกขณะเดียวของภพภูมินี้ จะไม่มีถึง ๒ ขณะ ๓ ขณะอย่างจิตอื่นๆ เลย ซึ่งอเหตุกจิตที่ทำกิจนี้มี ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑

    นี่เป็นการจำแนกให้เห็นว่า อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจได้ครบทั้ง ๑๔ กิจ เพราะแม้ปฏิสนธิกิจก็ทำได้

    คงไม่มีใครไม่เคยทำอกุศลกรรม มากบ้างน้อยบ้างในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ นั้นกรรมที่ทำแล้วที่ให้ผลคือวิบากจิตเกิดขึ้นแล้วก็มี และที่ยังไม่ได้ให้ผลคือยังไม่ได้ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นก็มี และไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า อกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วในชาติ ก่อนๆ ที่ยังไม่ได้ให้ผล หรืออกุศลกรรมที่ทำในชาตินี้ที่ยังไม่ให้ผล จะทำให้ อเหตุกอุเบกขาสันตีรณะอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิเมื่อไร ซึ่งย่อมเป็นไปได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้ เป็นพระอริยบุคคล อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้

    สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม อย่างอ่อน ซึ่งกุศลกรรมที่แต่ละท่านทำนั้นก็มีทั้งอย่างที่อ่อนมาก และอย่างที่เต็มเปี่ยมด้วยเจตนา ศรัทธา และวิริยะ แต่ไม่มีใครเลือกได้ว่า จะให้กรรมไหนให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    เพราะฉะนั้น การทำกุศลแต่ละครั้งผู้ทำย่อมทราบว่าเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากคือผลข้างหน้า และอาจทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในสุคติภูมิเมื่อเป็นผลของกุศล แต่ถ้าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ก็จะทำให้เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด

    การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งส่องไปถึงเหตุที่ได้กระทำแล้วในอดีตว่าเป็นผลของกุศลประเภทไหน แต่ตราบใดที่ยังมีกุศลกรรมอย่างอ่อน เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยจะเป็นเหตุให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้

    นอกจากอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก กุศลกรรมที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกุศลที่มีกำลัง สามารถทำให้มหาวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ คือ ในมนุษย์ และสวรรค์ ทำให้ไม่เป็นบุคคลที่พิการตั้งแต่กำเนิด

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านคงพอจะทราบได้จากผลในชาตินี้ว่า ในอดีตได้กระทำกรรมประเภทไหนจึงทำให้ปฏิสนธิเป็นมหาวิบากเกิดในสุคติภูมิ ไม่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด

    ปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๒ ดวง มหาวิบาก ๘ ดวง รวมเป็น ๑๐ ดวง นอกจากนั้นยังมีปฏิสนธิจิตที่เป็นรูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ทำให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ ซึ่งจะมีวิบากตามสมควรแก่การเกิดเป็นรูปพรหมบุคคล คือ ไม่มีฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ แต่ยังมีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น และสำหรับอรูปาวจรกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง ทำให้ปฏิสนธิเป็น อรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหม ๔ ภูมิ รวมเป็นปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง

    ปฏิสนธิจิตมีความสำคัญ เพราะว่าประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหลายที่สมควรจะให้เกิดวิบากในชาติหนึ่งๆ บังคับไม่ได้เลยว่า ถ้าเป็นอเหตุกอกุศลวิบากปฏิสนธิ ในอบายภูมิ ที่จะให้มีความสุขประณีตอย่างมากอย่างสวรรค์ชั้นต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่การเกิดในมนุษย์ เป็นผลของมหากุศล ทำให้มหาวิบากปฏิสนธิเป็นผู้ที่ไม่พิการแต่กำเนิด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปฏิสนธิจิตของแต่ละคนเป็นผลของกรรมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคลก็ประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหลายที่สามารถจะมีปัจจัยทำให้วิบากของกรรมนั้นๆ เกิดขึ้น ในภพชาติที่ปฏิสนธิด้วยจิตนั้น

    ฉะนั้น แต่ละคนจึงมีสุขมีทุกข์ต่างๆ กันตามปฏิสนธิจิต แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตนั้นจะเป็นจิตประเภทใด

    นี่เป็นความสำคัญอย่างหนึ่งของปฏิสนธิจิต เพราะถ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอเหตุกปฏิสนธิ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ จะเห็นได้ว่า จำกัดวิบากที่จะเกิดขึ้นว่าต้องเป็นไปตามกำเนิดนั้นๆ จะให้มีกุศลวิบากเพียบพร้อมสมบูรณ์อย่างผู้เป็นมนุษย์ และเทวดา ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง มหากุศลเป็นทาน เป็นศีล เข้าใจ แต่มหากุศลที่ประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทางตา เห็นแล้วเกิดกุศลจิตได้ แล้วแต่ว่าเห็นสิ่งใด ก็คิดให้เป็นไปในเรื่องของทาน หรือในเรื่องของศีล เช่น เห็นอาหารที่อร่อย หรือเห็นสีสันวัณณะที่น่าพอใจคิดว่าสมควรจะให้บุคคลอื่นได้มีส่วนในสิ่งนั้นๆ ก็มีการสละวัตถุนั้นให้ก็ได้ ได้ทุกอย่างสำหรับมหากุศล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามหากุศล เพราะเป็นกุศลที่เป็นไปได้มากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    สำหรับจิตที่ทำปฏิสนธิกิจสั้นมาก เพียงชั่วขณะจิตเดียวซึ่งดับไปแล้วไม่เกิดอีกในภพนั้นชาตินั้น และทุกคนก็มีจิตที่กระทำกิจนี้แล้ว

    ต่อจากปฏิสนธิกิจ คือ กิจที่ ๒ ได้แก่ ภวังคกิจ เป็นกิจที่ดำรงภพชาติ สภาพความเป็นบุคคลตามที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนั้น คือ เมื่อจิตใดทำกิจปฏิสนธิดับไปแล้ว กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดจะทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตทำกิจเกิดสืบต่อไป จนกว่ากรรมอื่นจะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับผลของกรรมนั้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นกิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ

    ถ้าโลกนี้ ทุกคนหลับสนิท ทั้งโลกไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลย ในขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การตื่นขึ้น และทำกิจการงานต่างๆ ไม่ใช่เป็นสัตว์ เป็นบุคคลใดๆ เลย แต่เป็นจิตประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้น และทำกิจอื่น นอกจากภวังคกิจ เพราะถ้าปฏิสนธิจิตขณะเดียวดับไป และภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติสืบต่ออยู่ จะไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะไม่มีการเคลื่อนไหวประกอบกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็เหมือนคนที่กำลังรองานที่จะต้องทำ แต่ยังไม่ทราบว่าจะทำทางไหน จะทำทางตา หรือจะทำทางหู หรือจะทำทางจมูก หรือจะทำทางลิ้น หรือจะทำทางกาย หรือจะทำทางใจ

    ในขณะที่เป็นภวังคจิต ในขณะที่กระทำภวังคกิจ เคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ คิดนึกไม่ได้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส แต่ไม่ใช่มีกรรมที่เพียงเท่านั้นที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นดับไป และภวังคจิตเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ เท่านั้น เพราะเป็นความจริงว่าการเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม กรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อดับแล้วกรรมนั้นยังทำให้ภวังคจิตเกิดทำภวังคกิจดำรงภพชาติอยู่ เพื่ออะไร ก็เพื่อทำกิจอื่นต่อไป โดยรับผลของกรรมอื่นๆ ที่ได้กระทำแล้ว ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง

    เวลาเห็นใครก็ตามที่ทำหน้าที่ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พ่อค้า ครู อาจารย์ นักเรียน หรือนักแสดง ดูเหมือนว่าเขากำลังทำกิจนั้นๆ แต่ให้ทราบว่า ถ้ายังเป็นภวังคจิตอยู่ ทำไม่ได้เลย และที่คิดว่าคนนั้นกำลังทำกิจนั้นกิจนี้ ก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ ที่ไม่ใช่ภวังคกิจ

    เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดจึงมีกิจที่จะกระทำ ๑๔ กิจ กิจแรก คือ ปฏิสนธิกิจ กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ ทั้ง ๒ กิจนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวทำกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดจะเป็นการรับผลของกรรมโดยกรรมอื่นก็ได้ หรือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิก็ได้ เพราะว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิมีกิจ ๒ อย่าง คือ ชนกกิจ และอุปถัมภกกิจ

    ชนกกิจ คือ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด อุปถัมภกกิจ คือ อุปถัมภ์ให้ดำรงภพชาตินั้นสืบต่อไปจนกว่ากรรมอื่นจะให้ผล แต่ถึงแม้ว่ากรรมอื่นจะไม่ให้ผล กรรมนั้นก็ยังอุปถัมภ์โดยการทำให้เกิดเห็น เกิดได้ยิน เกิดได้กลิ่น เกิดลิ้มรส เกิดรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยสภาพความเป็นบุคคลนั้น

    เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคนก็ไม่ปรากฏว่าเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าใครเกิดในตระกูลใด ครอบครัวใด ฐานะใด ในสิ่งแวดล้อมใด ก็จะอยู่ในสกุลนั้น ฐานะนั้น และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ โดยกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิตามอุปถัมภ์ให้ดำรงสภาพนั้นอยู่ แต่ส่วนการเห็นสิ่งอื่น ได้ยินสิ่งอื่น ได้กลิ่น ลิ้มรส ในสิ่งแวดล้อมอื่น ก็เป็นผลของกรรมอื่นที่มีโอกาสจะให้ผลหลังจากที่กรรมหนึ่งได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว

    กรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว จึงมีทั้งที่ทำชนกกิจคือทำให้ปฏิสนธิ และอุปถัมภกกิจ คืออุปถัมภ์ให้ดำรงคงสภาพที่กรรมนั้นพึงให้ผลตามปฏิสนธิ และยังมีกรรมอื่นซึ่งอุปถัมภ์ซ้ำอีกเพิ่มอีกก็ได้ เพราะว่าบางคนแม้จะเกิดมาในสกุลหรือในครอบครัว ในสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง ก็ยังมีกุศลกรรมที่อุปถัมภ์เพิ่มขึ้นอีกให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้เพิ่มพูนด้วยเกียรติยศหรือทรัพย์สินเงินทองมากมายเพิ่มขึ้นอีก นี่คือกรรมอื่นที่ยังทำอุปถัมภกกิจได้ และอกุศลกรรมก็ยังตามเบียดเบียนได้ด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงไม่ได้มีแต่ความสุขตลอดชีวิตหรือมีแต่ความทุกข์ตลอดชีวิต แต่จะมีสุขบ้าง ทุกข์บ้างมากน้อยตามควรของกรรมที่ปฏิสนธิประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหลาย ที่จะเป็นเหตุให้เกิดวิบากต่างๆ ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง

    สำหรับปฏิสนธิกิจไม่มีแล้ว แต่ภวังคกิจยังคงมีอยู่ระหว่างที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจิตจะต้องเกิดขึ้นทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติไว้จนกว่าจะมีจิตอื่นเกิดขึ้นทำกิจทางทวารต่างๆ

    และการที่จะรับผลของกรรมอื่น ที่ไม่ใช่กรรมที่ทำให้ภวังคจิตเกิดดับ จะต้องมีกิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ เป็นวิถีจิตที่เริ่มรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร เพราะถ้าอารมณ์ ไม่กระทบทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตก็ยังคงเป็นภวังค์ ทำภวังคกิจอยู่เรื่อยๆ แต่จะไม่มีใครสักคนหนึ่งที่เกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่โดยมีแต่ภวังคจิตตลอดไปจนกระทั่งตาย และตายไม่ได้แน่นอน ถ้าชวนจิต คือ กุศลจิต หรืออกุศลจิตไม่เกิดก่อนตาย เพราะว่าทุกคนก่อนจะตาย ต้องมีกุศลหรืออกุศลซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในชาติต่อไปเกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงกิจนั้น

    ถ้ากล่าวตามลำดับ กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ

    กิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ เป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจิตที่ทำกิจนี้เป็นอเหตุกจิต ได้แก่ อเหตุกกิริยาจิต ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง การที่อารมณ์อื่นจะผ่านมาสู่จิตอื่นที่ไม่ใช่ภวังคจิต จะต้องมีกิริยาจิต ที่เป็นอเหตุกะ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร

    ทวารมี ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสำหรับตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูป จึงรวมเรียกว่า ปัญจทวาร ๕

    สำหรับทางใจที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบตา ไม่ต้องมีเสียงกระทบหู ไม่ต้องมีกลิ่นกระทบจมูก ไม่ต้องมีรสกระทบลิ้น ไม่ต้องมีโผฏฐัพพะกระทบกาย แต่ใจก็รู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่ภวังค์ได้ เช่น ขณะที่กำลังคิดนึก ต่างๆ ซึ่งก่อนนั้นต้องมีมโนทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่รู้หรือรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบใจ

    สำหรับวิถีจิตแรก ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ต้องเป็น อาวัชชนกิจ ซึ่งมีจิต ๒ ดวงที่ทำหน้าที่นี้ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และ มโนทวาราวัชชนจิต ๑

    ถ้าจะอุปมา ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เหมือนยามชั้นนอก มโนทวาราวัชชนจิตก็เหมือนยามชั้นในที่อารมณ์จะผ่านไปสู่จิตอื่น ซึ่งจะเกิดขึ้นตามลำดับ โดยเริ่มแรก ต้องเป็นภวังคจิตก่อน และเวลาที่อารมณ์กระทบกับทวาร เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ กระทบกับจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ หรือเสียงในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะนี้เกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ ก่อนจะมีการได้ยินซึ่งเป็นวิบากจิต ต้องมีกิริยาจิตซึ่งเหมือนยามเกิดก่อน

    สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต อุปมาเหมือนกับยามชั้นนอก คือ เวลาที่อารมณ์กระทบกับทวาร ใครรู้อารมณ์นั้นก่อน ก็ยามที่อยู่ข้างนอก ก่อนที่คนอื่นหรือจิตอื่นจะเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน และดับไป วิถีจิตอื่นจึงจะเกิดสืบต่อตามลำดับ โดยอารมณ์จะผ่านไปต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิตที่ดับ และ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือโสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง ที่ปรากฏทางหู แต่ว่ากิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ จะต้องเกิดก่อนเป็นวิถีจิตแรก

    ถ้าจะจำยาม ๒ คน อาจช่วยให้จำปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิตได้ ถ้าคิดว่าก่อนที่จิตอื่นๆ จะรู้อารมณ์ ต้องมียามชั้นนอกที่รู้อารมณ์นั้นก่อน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1517

    เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบตา กิจต่อไป คือ กิจที่ ๔ ทัสสนกิจ จิตที่ทำกิจนี้เป็นอเหตุกวิบากจิต ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง

    แสดงให้เห็นว่า อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจได้ครบทั้ง ๑๔ กิจ คือ

    จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๔ คือ ทัสสนกิจ

    โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๕ คือ สวนกิจ ได้ยินเสียง

    ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๖ คือ ฆายนกิจ ได้กลิ่น

    ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๗ คือ สายนกิจ ลิ้มรส

    กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๘ คือ ผุสสนกิจ รู้อารมณ์ที่กระทบสัมผัสกาย และเมื่อดับไปแล้วก็ถึงกิจที่ ๙ คือ สัมปฏิจฉันนกิจ รับอารมณ์ต่อจาก ทวิปัญจวิญญาณ

    เมื่อดับไปแล้วเป็นกิจที่ ๑๐ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์ที่ สัมปฏิจฉันนจิตรับไว้

    ถ้ามีแต่เพียงการเห็น การได้ยินซึ่งเป็นวิบาก ได้แก่ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเหล่านี้ คงจะไม่มีความสำคัญอะไร แต่ความสำคัญ คือหลังจากนี้แล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด

    ทุกคนที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ชอบ ได้ไหม ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ หรือถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ จะให้ไม่เกิดความ ไม่ชอบ ได้ไหม

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเพียงเห็นแล้วไม่มีกิเลสเลย ก็สบายมาก ไม่เดือดร้อนอะไรเลย แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าวิบากจิตจะเกิดเพราะเป็นผลของกรรมทำให้ได้รู้อารมณ์ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ดับไปแล้ว แต่ความสำคัญอยู่ที่กุศลจิต ที่จะเกิดต่อ หรืออกุศลจิตที่จะเกิดต่อ แต่ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด ต้องมี กิจอีกกิจหนึ่งเกิดต่อจากสันตีรณกิจ คือ โวฏฐัพพนกิจ

    ทุกคนอยากให้กุศลจิตเกิด แต่ทำไมกุศลจิตไม่เกิด ก็เพราะว่าโวฏฐัพพนจิต พิจารณาอารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นปัจจัยให้เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว อกุศลจิตเกิด ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากให้อกุศลจิตเกิด แต่ยับยั้งไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจที่ตัดสินหรือว่ากำหนดให้จิตต่อไปเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าพิจารณา โดยแยบคาย กุศลจิตก็เกิด ถ้าพิจารณาโดยไม่แยบคาย อกุศลจิตก็เกิด

    ดังนั้น โวฏฐัพพนกิจ เป็นกิจที่ ๑๑ และจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ คือ อเหตุกกิริยาจิตอีกดวงหนึ่ง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต เวลาที่เกิดทางปัญจทวาร ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจ

    เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตมี ๒ กิจ ถ้าเกิดทางปัญจทวารทำโวฏฐัพพนกิจ ถ้าเกิดทางมโนทวารทำอาวัชชนกิจ เหมือนยามชั้นในที่จะให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดต่อ แต่นี่ยังเป็นปัญจทวารวิถี ยังไม่ใช่มโนทวารวิถี เพราะว่ารูปยังไม่ดับ และจะเห็นได้ว่า ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด ต้องแล้วแต่จิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ ซึ่งได้แก่มโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดต่อ เป็นกิจที่ ๑๑

    กิจที่ ๑๒ คือ ชวนกิจ ได้แก่ กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์ เพราะว่าไม่ต้องรับไว้ ไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องตัดสิน จึงทำกิจแล่นไปด้วยอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด หรือด้วยกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด

    ทุกคน ดูเหมือนว่ารู้เรื่องของกุศลจิต และอกุศลจิต ใช่ไหม แต่ทราบไหมว่า กุศลจิต และอกุศลจิตทำกิจอะไร ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลจิตเป็นอย่างไร และอกุศลจิต เป็นอย่างไร ก็ยังไม่พอ เพราะการที่จะเห็นว่า กุศลจิต และอกุศลจิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จำเป็นต้องรู้ถึงกิจหน้าที่ของกุศลจิต และอกุศลจิตด้วยว่า กุศลจิต และอกุศลจิตไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำกิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ได้ทำสันตีรณกิจ ไม่ได้ทำโวฏฐัพพนกิจ แต่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์

    ถ้าเป็นโลภมูลจิต ก็พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ โลภมูลจิตจะเกิดดับสืบต่อกัน ถึง ๗ ขณะในขณะที่ทำชวนกิจ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากข้างหน้า ฉะนั้น สำหรับสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เป็นวิบากจิต แต่สำหรับกุศลจิต และอกุศลจิต ที่ทำชวนกิจนั้น ไม่ใช่วิบาก แต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า นี่เป็นกิจที่ ๑๒

    ในวันหนึ่งๆ จะขาดกิจเหล่านี้ไหม ขาดแต่ปฏิสนธิกิจใช่ไหม เพราะว่าเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว และดับไป แต่หลังจากนั้นไม่ขาดเลย มีจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ มีจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ มีจิตเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ มีจิตเกิดขึ้นทำสวนกิจ ล้วนแต่เป็นจิตแต่ละประเภททั้งนั้นในวันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ซึ่งควรจะทราบด้วยว่า จิตแต่ละประเภทนั้นทำกิจอะไร

    สำหรับกุศล และอกุศลนั้นทำชวนกิจ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้า เป็นพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไป กิริยาจิตก็เกิดต่อ ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก แต่ต้องเกิดขึ้นทำชวนกิจ เพราะว่าไม่มีใครสามารถไม่ให้มีชวนจิตเกิดหลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับแล้ว

    กิจที่ ๑๓ คือ ตทาลัมพนกิจ เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากชวนะ ใครจะรู้หรือไม่รู้ จิตก็เกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอารมณ์ที่ชัดเจน

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความสนใจ การศึกษาพระธรรมจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นมีตทาลัมพนจิตเกิด เมื่ออารมณ์ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่ชัดเจน คือ หลังจากที่ชวนจิตดับไปแล้ว แต่รูปยังไม่ดับ วิบากจิตก็เกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ เป็นกิจที่ ๑๓

    ในวันหนึ่งๆ ยกเว้นปฏิสนธิกิจ และจุติกิจซึ่งเป็นกิจที่ ๑๔ จิตจะต้องเกิดขึ้น ทำ ๑๒ กิจเท่านั้นเอง แค่ ๑๒ กิจ แต่ไม่มีใครรู้ ทั้งๆ ที่ในขณะนี้เองจิตก็กำลังเกิดขึ้นทำกิจนั้นๆ ใน ๑๒ กิจ กิจที่ ๑๔ ยังไม่ถึง แต่วันหนึ่งจะต้องถึง

    ผู้ฟัง ในขณะที่ตื่นอยู่ ก็ทำภวังคกิจหรือ

    ท่านอาจารย์ ระหว่างที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง นั่งเหม่ออย่างนี้หรือ

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เห็น เพราะไม่มี ...

    ท่านอาจารย์ เหม่อๆ นั่น เห็นไหม

    ผู้ฟัง คิดว่าไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็น จะเรียกว่าเหม่อไหม

    ผู้ฟัง อาจจะหลับตา

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเสียงไหม

    ผู้ฟัง ก็ควรจะมี

    ท่านอาจารย์ แต่ตามความเป็นจริง วันหนึ่งๆ ภวังคจิตเกิดมาก เพราะต้องคั่น ทุกวาระหนึ่งๆ ซึ่งมีการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู

    ผู้ฟัง เพราะว่าทำหน้าที่ดำรงภพชาติอยู่แล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ โดยไม่รู้อีกเหมือนกันใช่ไหมว่าในขณะนี้เองภวังคจิตก็เกิดขึ้นคั่นระหว่างวิถีจิตทางตาที่เห็น และวิถีจิตทางหูที่กำลังได้ยิน

    เรื่องกิจของจิต ๑๔ กิจ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้สามารถรู้ได้ว่าขณะนี้เป็น กิจอะไร เพียงแต่ว่าชื่ออาจจะยาก เช่น ขณะที่เห็น จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ธรรมดา โดยสภาวะลักษณะคือเห็น แต่โดยชื่อคือทัสสนกิจ ถ้าไม่ใช้คำนี้ อาจจะต้องใช้ภาษาอีกมากมายหลายชาติ แต่ถ้าใช้คำนี้คำเดียว ทุกชาติใช้ภาษาเดียวกัน คือ ทัสสนกิจ ทำให้เข้าใจได้ แต่โดยสภาวะลักษณะ คือ จิตที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และในขณะที่ได้ยินเสียง สภาวะลักษณะก็คือจิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน คือ รู้เสียง แต่ถ้าใช้หลายภาษา แต่ละภาษาก็มากอีก เพราะฉะนั้น ใช้ภาษาเดียว สวนกิจ คือ กิจได้ยิน ไม่ว่าใครก็ตามมีภาษาของตนเองเป็นภาษาอะไร ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว ก็ใช้คำว่า สวนกิจ

    สรุป ที่ได้ศึกษาแล้ว อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจ ๑๔ กิจ ดังนี้ คือ

    ปฏิสนธิกิจ ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ภวังคกิจ ที่เป็นอเหตุกจิต ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    อาวัชชนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

    ทัสสนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    สวนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ฆายนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    สายนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ผุสสนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    สัมปฏิจฉันนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    สันตีรณกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๓ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง กุศลวิบาก ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก และโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก

    โวฏฐัพพนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๑ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต

    ชวนกิจ ได้แก่ อเหตุกะ ๑ ดวงที่ทำชวนกิจ ได้แก่ หสิตุปปาทจิต คือ จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะฉะนั้น ก็มีกำลังอ่อน เป็นไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ แล้วแต่ว่าอารมณ์จะกระทบตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ เป็นปัจจัยควรแก่การเกิดโสมนัสหสิตุปปาท ก็จะทำให้มีการแย้ม หรือการยิ้มเพียงเห็นไรฟันของพระอรหันต์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่ พระอรหันต์ยิ้ม จะยิ้มด้วยอเหตุกจิตที่เป็นหสิตุปปาท เพราะพระอรหันต์ยิ้มด้วยมหากิริยาจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาได้ด้วย แต่ให้ทราบว่การยิ้มของพระอรหันต์ที่เป็นอเหตุกจิตที่ทำชวนกิจนั้น มี ๑ ดวง คือ หสิตุปปาทจิต

    สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีอเหตุกจิตที่ทำกิจอื่น แต่ไม่มีอเหตุกจิตที่ทำ ชวนกิจเลย เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตที่ทำชวนกิจต้องเป็นกุศลหรืออกุศลเสมอไป

    เพราะฉะนั้น อย่าลืม ที่ได้ศึกษาเรื่องของจิตมาแล้วทั้งหมด ๓๐ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ทำกิจอะไรบ้าง และสำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ทำกิจเดียว คือ ชวนกิจ ทำกิจอื่นไม่ได้

    กิจต่อไป คือ ตทาลัมพนกิจ อเหตุกจิตที่ทำตทาลัมพนกิจมี ๓ ดวง คือ สันตีรณจิต ๓

    และสำหรับจุติกิจ อเหตุกะที่ทำจุติกิจมี ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ และอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑

    ผู้ฟัง การเรียนรู้จิตต่างๆ เช่น อเหตุกจิต อย่างนี้ ในการปฏิบัติ ในการเจริญสติปัฏฐาน เรามีโอกาสที่จะรู้ได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จงใจให้รู้ภวังคจิต ไม่ใช่จงใจให้รู้อาวัชชนจิต ไม่ใช่จงใจให้รู้ จักขุวิญญาณ ไม่ใช่จงใจให้รู้สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต แต่ แล้วแต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อ

    อย่างในขณะที่กำลังเห็น โดยวิถีจิตทราบว่ามีจิตหลายประเภท ไม่ใช่มีแต่ จักขุวิญญาณเท่านั้น ไม่ใช่มีแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเท่านั้น ยังมีสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และไม่ได้ให้จงใจมาแยกว่า ขณะนี้เป็นจิตไหน เพียงแต่จะให้ทราบว่า จิตเกิดดับมีอายุที่สั้นมาก จิตใดที่เกิดเพียงชั่วขณะเดียว อย่างปัญจทวาราวัชชนจิตจะเร็วสักแค่ไหน ในขณะนี้ที่ดูเสมือนว่าเห็น และได้ยิน พร้อมๆ กัน แต่ความจริงปัญจทวาราวัชชนจิตทางจักขุทวารวิถีดับไปก่อน ปัญจทวาราวัชชนจิตทางโสตทวารวิถี ห่างไกลกันมาก

    เพราะฉะนั้น จิตใดก็ตามที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว สติไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของจิตนั้นได้ ในวิถีจิตวาระหนึ่งๆ ที่มีการเห็น ในขณะที่กำลังเห็นนี่ ถ้าจะ รู้จิตว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล จะต้องเป็นในขณะที่จิตเกิดดับซ้ำกัน ถึง ๗ ขณะ คือ ในขณะที่เป็นชวนวิถี

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดครั้งแรก ไม่มีโอกาสรู้ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย เพราะว่าขณะจิตเดียว คิดดู จะเร็วสักแค่ไหน

    ผู้ฟัง อย่างภวังคจิต มีโอกาสที่จะรู้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ควรรู้ และต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็แยกทวารทางตากับทวารทางหูไม่ออก

    ผู้ฟัง การศึกษาเรื่องจิตต่างๆ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อจะรู้ จำเอาไปพูด ไปสนทนากันเฉยๆ แต่เป็นเรื่องที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติ หมายความว่า ในการปฏิบัติเราต้องรู้ ต้องเข้าใจในนามธรรม คือ จิตเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ตามที่สติปัญญาสามารถจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรลืมเตือนตัวเองหรือผู้อื่นที่กำลังศึกษาพระธรรมว่า ศึกษาทำไม นี่สำคัญที่สุด ถ้าศึกษาเรื่องของจิตเจตสิก และรูปมาก แต่ไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะมีประโยชน์ไหม รู้แต่เรื่องของจิต ของเจตสิก ของรูป แต่ไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ เพราะว่า สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ศึกษาเป็นเรื่องมาแล้วว่า จักขุวิญญาณมีกี่ดวง ทำกิจอะไร เกิดเมื่อไร

    จะเห็นได้ว่า การศึกษาของพุทธบริษัทในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานนั้น ศึกษาเพื่อเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็รู้ว่า สัจธรรม สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏนั้น เป็นสิ่งที่ควรศึกษา โดยพิสูจน์ โดยแทงตลอด โดยประจักษ์แจ้งในลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ตรง เป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประจักษ์ และได้ทรงแสดงไว้

    เพราะฉะนั้น การฟัง หรือการศึกษาปรมัตถธรรม เพื่อเกื้อกูลให้เห็นความ เป็นอนัตตาของสภาพธรรม เพื่อให้สติระลึกได้ในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง มิฉะนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย

    การศึกษาทั้งหมด ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าจะศึกษาเรื่องเหล่านั้นไปทำไม

    ผู้ฟัง อกุศลวิบากจิต ๗ ทำไมไม่เรียกว่า อเหตุกอกุศลวิบากจิต ๗

    ท่านอาจารย์ เพราะเวลาที่อกุศลกรรมให้ผล จะไม่มีสเหตุกวิบากเลย

    ผู้ฟัง จึงละไว้ในฐานที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าเข้าใจเรื่องเหตุผลว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วต้องเป็นเหตุให้เกิดผล และผลนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเหตุคือเจตสิก ๖ ดวงเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะอกุศลกรรมเท่านั้นที่ทำให้เกิดอเหตุกจิตที่เป็นอกุศลวิบาก แต่แม้กุศลกรรมที่ทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดอเหตุกจิตที่เป็นกุศลวิบากด้วย เช่น จักขุวิญญาณเห็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลวิบาก โสตวิญญาณได้ยินเสียงที่ดี เป็นกุศลวิบาก โดยไม่มีเจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะว่ากรรมใดๆ ที่ทำแล้ว ต้องให้ผล โดยไม่จำเป็นต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมกับวิบากจิตนั้นๆ แต่ถ้าเป็นกรรมที่ให้ผลดี วิบากจิตเพิ่มขึ้น ก็มีทั้งที่เป็นอเหตุกวิบาก และสเหตุกวิบาก


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1518


    หมายเลข 13091
    16 ก.ย. 2567