ทุกข์ของผลบุญก็ไม่เห็นว่า ยังเป็นโทษ
อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาปุพเพนิวาสานุสสติญาณนิทเทส มีข้อความว่า
แม้ยังไม่ใช่ทุกขอริยสัจจะซึ่งเห็นยาก เพียงทุกข์ของผลบุญก็ไม่เห็นว่า ยังเป็นโทษ
คือ ไม่ว่าจะเสวยผลบุญพร้อมด้วยสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ยังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะไปได้ เมื่อไม่รู้อย่างนี้ คือ ไม่เห็นโทษของผลบุญอย่างนี้ ก็ ปรารภปุญญาภิสังขาร มีการกระทำบุญต่างๆ แต่ว่าบุญนั้นๆ ไม่ใช่การเจริญ สติปัฏฐาน จึงยังเป็นบุญที่นำทุกข์มาให้ คือ นำชาติ ชรา มรณะมาให้อีก
ดุจตั๊กแตนปรารภถึงการตกไปในเปลวไฟฉะนั้น
ตั๊กแตนคงจะคิดว่า อยู่ในเปลวไฟจะเป็นสุข เพราะว่าสว่างไสวดี แต่ความจริงร้อน และเป็นเหตุให้เกิดมรณะ ความตาย
และบางคนก็ถึงกับปรารภอปุญญาภิสังขาร ถึงแม้จะได้รับผลของบุญแล้ว แต่ก็ยังไม่อิ่ม ยังไม่พอใจ ยังติด เพราะฉะนั้น ก็หวังที่จะได้อีก แต่เมื่อไม่ได้ด้วยกุศลก็คิดในทางที่เป็นอกุศล
เมื่อติด พอใจในผลของบุญ และไม่มีความพอ เท่าไรก็ไม่พอ ไม่ว่าจะได้ ทรัพย์สมบัติเท่าไร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างไร จึงยังปรารภ อปุญญาภิสังขาร คือ การกระทำอกุศลกรรมต่างๆ การทุจริต เช่น อทินนาทาน ถือเอาทรัพย์ที่ไม่ใช่ของตนมาเป็นของตนเป็นต้น ด้วยความสำคัญว่า เป็นสุข เพราะถูกกิเลสครอบงำ
ดุจเด็กอ่อนปรารภการเล่นคูถฉะนั้น และดุจคนอยากตายปรารภการ กินยาพิษฉะนั้น
ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศล
อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลกรรมทั้งหมด
อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอรูปฌานกุศล
บางท่านเห็นโทษของรูป รู้ว่าถ้ายังมีรูปอยู่ ก็ยังมีการกระทำที่เกิดจากอกุศล พ้นไปไม่ได้เลย จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะประกอบกิจการงาน แม้ไม่ใช่ ทุจริตกรรม แต่ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยอกุศลจิต การศึกษา การเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ที่โลกก้าวไปอยู่เรื่อยๆ ในทางโลกย่อมตรงกันข้ามกับในทางธรรม เพราะว่าในทางโลกเป็นไปด้วยโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิต
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของรูป เห็นโทษของการมีรูป ที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำด้วยอกุศลจิต จึงเพียรที่จะดับรูป ให้มีแต่นามธรรมเท่านั้นในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งจะต้องอบรมเจริญอรูปฌานกุศลต่อจากรูปปัญจมฌานกุศล เมื่อได้ถึงอรูปฌานกุศล และไม่เสื่อม เวลาที่ใกล้จะตายอรูปฌานกุศลเกิด เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว อรูปฌานกุศลนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ
เมื่อไม่รู้ความที่สังขารเป็นทุกข์เพราะความแปรปรวนในวิบากอันไม่มีรูป คือ ความเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรม จึงปรารถนาอเนญชาภิสังขาร
ดุจคนหลงทิศปรารภการเดินทางมุ่งไปเมืองปีศาจฉะนั้น
นี่เป็นขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็จะต้องมีกุศลจิต อกุศลจิต กุศลกรรม อกุศลกรรม แล้วแต่ว่า จิตขณะใดจะเกิดขึ้นเพราะกุศลเป็นปัจจัย หรืออกุศลเป็นปัจจัย
ถ. วิธีที่จะละอกุศลจิต คือ เห็นโทษของอกุศลจิต ใช่ไหม
สุ. ใช่ และยังต้องเห็นโทษของผลของกุศลคือผลของบุญด้วย
ถ. คือ ต้องพิจารณาทั้ง ๒ อย่าง
สุ. พิจารณาว่า ขณะที่ได้ผลของบุญนั้น ได้แล้วเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เพราะถ้าได้มาแล้วติด และเกิดอกุศลมากมาย ผลบุญนั้นก็ทำให้อกุศลเพิ่มพูนขึ้น ต้องละเอียด และขอให้เห็นอกุศลของตนเอง
เรื่องของกุศลนี่ ถ้าทำไปโดยไม่หวัง และเห็นอกุศลมากขึ้นจะดีกว่าไหม คือ กุศลก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ผูกพันในกุศลนั้น ไม่ติดหรือไม่หวังในผลของกุศลใดๆ และพิจารณาเห็นอกุศลของตนเองละเอียดขึ้น ย่อมจะเป็นประโยชน์ ซึ่งการที่กุศลจิตแต่ละขณะจะเกิด จะเห็นได้ว่า ยากกว่าขณะที่อกุศลจิตจะเกิด
ถ. อย่างเวลาที่อกุศลเกิด บางทีสติระลึกรู้แล้วแต่ก็ยังทำอยู่ แสดงว่า เราเห็นโทษน้อยไปหรือเปล่า
สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น หิริ และโอตตัปปะจึงมีหลายขั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่มีหิริ และโอตตัปปะที่จะเห็นโทษของการที่ยังเห็นสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่ แต่ผู้ใดที่เห็นโทษแล้ว ก็ขวนขวายที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน มิฉะนั้นจะดับกิเลสใดๆ ไม่ได้เลย ถ้ายังคงเห็นสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนโดยเที่ยงแท้อยู่
ที่มา ...