การเห็น การได้ยิน และอื่นๆ อย่างไรจึงไม่เป็นสักกายทิฏฐิ


    ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง จากวัดญาณสังวราราม ตำบล ห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง ชลบุรี ซึ่งมีคำถาม ๓ ข้อ คือ

    ข้อ ๑ การเห็น การได้ยิน และอื่นๆ อย่างไรจึงไม่เป็นสักกายทิฏฐิ

    ข้อ ๒ เห็นสีเป็นรูป ส่วนการรู้ว่าเป็นสีแดง สีเขียวเป็นนาม ใช่หรือไม่

    ข้อ ๓ ในปัญญา ๔ อย่าง มีสาตถกสัมปชัญญะ ถึงอสัมโมหสัมปชัญญะ ขณะที่สติเกิดจะมีครบทุกข้อหรือไม่ หรือว่าเป็นหัวข้อธรรมสำหรับพิจารณาของผู้ที่จะเจริญสติ

    สำหรับคำถามข้อที่ ๑

    การเห็น การได้ยิน และอื่นๆ อย่างไรจึงไม่เป็นสักกายทิฏฐิ

    ถ้าเป็นสักกายทิฏฐิ คือ เห็นผิดจากสภาพธรรม คือ เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะว่ารูปธรรมไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพังอย่างเดียว หรือรูปเดียว ต้องมีรูปเกิดร่วมกันหลายๆ รูป และเมื่อประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็ปรากฏสภาพรูปร่างสัณฐานทำให้เกิดความทรงจำว่ารูปที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร เช่นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เท่านี้เอง แต่เมื่อธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมรวมกัน เป็นกลุ่มก้อนเกิดขึ้นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ทำให้จดจำรูปร่างสัณฐานนั้น และรู้ว่า เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้ หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อมีความเข้าใจถูกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏได้เฉพาะเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ และไม่ลืมที่จะพิจารณาว่า ความจริงต้องเป็นเพียงเท่านี้เอง และ ถ้าปัญญาสามารถรู้ต่อไปได้จริงๆ ว่า ที่เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ นั้น ไม่ใช่ทางปัญจทวารวิถี คือ ไม่ใช่จักขุทวารวิถีจิตที่กำลังมีเฉพาะรูปทางตาที่ยังไม่ดับ เป็นอารมณ์ แต่ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อแล้ว ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น ขณะนั้นก็ไม่เป็นสักกายทิฏฐิ นี่ก็ตอบคำถามที่ว่า การเห็น การได้ยิน และอื่นๆ อย่างไรจึงไม่เป็นสักกายทิฏฐิ

    แต่สักกายทิฏฐิจะดับหมดเป็นสมุจเฉท เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิดประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน

    ขณะใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ขณะนั้นปัญญาเกิดพร้อมกับสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสังเกตพิจารณาจนปัญญาความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็ไม่เป็นสักกายทิฏฐิ ไม่ว่าจะเป็นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ถ. ขณะที่สติเกิด เราจะเห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงธรรม อย่างหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น แต่ขณะที่เป็นอกุศลจิต เช่น หลงลืมสติไปด้วยโลภะ ก็จะเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นญาติบ้าง เป็นพี่น้องบ้าง ขณะนั้นเห็นผิดหรือเปล่า

    สุ. แล้วแต่ประเภทของอกุศลจิต ถ้าเป็นโลภะ มี ๘ ประเภท คือ โลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ และโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ขณะใดที่เป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เช่น เชื่อจริงๆ ว่า ต้องมีคน มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม อย่างนั้นก็เป็นสักกายทิฏฐิ เชื่อว่าเที่ยง ขณะนี้ไม่มีการเกิดขึ้น และดับไป ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ก็เป็นสักกายทิฏฐิ

    แต่ถ้าเป็นเพียงขณะที่พอใจโดยไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นก็เป็น โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ถ้าเป็นโทสมูลจิต ก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นโมหมูลจิต ก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย

    ถ. ถ้าเป็นเพียงรู้ความหมายแค่นั้น และพอใจ แต่ยังไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นในลักษณะที่ท่านอาจารย์กล่าว ก็ยังเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ใช่ไหม

    สุ. ใช่

    ถ. ถ้าขณะใดเกิดความพอใจ แต่มีความสงสัยลังเลในสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์หรือสัมปยุตต์

    สุ. ขณะใดที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ยึดมั่นในความเห็นผิดนั้นแน่นอน ก็ เป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ถ้าเป็นความสงสัย ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เพราะว่ามีความสงสัยซึ่งเป็นวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ก็เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าท่านสนทนากับผู้ที่มีความคิดความเห็นต่างๆ ก็พอที่จะรู้ได้ว่า คำพูดอย่างไร และการกระทำอย่างไร เป็นไปด้วยโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อย่างคนที่ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด หรือไม่เชื่อเรื่องกรรม ขณะนั้น ที่กล่าววาจาอย่างนั้น ก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นวจีทวาร

    ถ้ามีการกระทำทางกาย ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ที่เป็นทางกายทวาร


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1527


    หมายเลข 13105
    18 ก.ย. 2567