โลกมืดเพราะอวิชชา*


    ถึงแม้ว่าธรรมจะเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็เป็นสภาพที่รู้ได้แสนยาก ถ้าไม่ได้ อบรมเจริญปัญญาที่จะสามารถเข้าใจ และรู้สภาพธรรมนั้น

    ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วย่อมเข้าใจความหมายที่ว่า โลกมืดเพราะอวิชชา เพราะ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดงพระธรรม ก็ไม่มีใครเข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่าง ถึงแม้ว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังมีจริงๆ แต่อวิชชาก็ปิดกั้นไม่ให้เห็นว่า สภาพธรรมในขณะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย และดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังก็พิสูจน์ได้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ไม่มีการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    ถ้าพิจารณาถึงสภาพของธรรมซึ่งเป็นอวิชชา และปัญญา จะเห็นได้ว่า ก่อนการตรัสรู้นั้นโลกมืด มืดด้วยอวิชชา เพราะแม้สภาพธรรมปรากฏแต่ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงประกาศพระอริยสัจจธรรม ความสว่างด้วยปัญญาคือการสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดขึ้นในโลก แต่เฉพาะในพุทธบริษัท ตามข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ซึ่งอุปมาว่า

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีของพระจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่เอิบอิ่มด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น

    แต่ไม่ใช่ทั้งโลก เฉพาะโลกของแต่ละบุคคล คือ บุคคลใดที่ฟัง พิจารณา เข้าใจ อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บุคคลนั้นก็เหมือนโลกที่เอิบอิ่ม ด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น บุคคลผู้นั้นก็สามารถขจัดความมืดออกได้

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ พระธรรมดังกล่าวเปรียบเหมือนข่ายรัศมีของดวงอาทิตย์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่ดวงอาทิตย์นั้น กำจัดมืดแล้ว

    บางครั้งเปรียบพระผู้มีพระภาคเหมือนพระจันทร์ บางครั้งเปรียบเหมือน พระอาทิตย์ ซึ่งความหมายก็คือความสว่าง การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนคนเผาป่า (ป่าคือกิเลส) พระธรรมเปรียบเหมือนไฟ เครื่องเผาป่า พระสงฆ์ที่เป็นบุญเขตเพราะเผากิเลสได้แล้ว เปรียบเหมือนภูมิภาค ที่เป็นเขตนาเพราะเผาป่าเสียแล้ว

    ถ้าพิจารณาตามไปจะเห็นความจริงว่า ทุกคนที่ยังมีกิเลสไม่สามารถดับกิเลสได้ ถ้าไม่มีพระธรรมซึ่งเป็นเครื่องเผาป่าคือกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น ก็มีข้ออุปมา หลายอย่างที่เป็นพระคุณต่างๆ ของพระรัตนตรัย

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเมฆฝนใหญ่ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝน พระสงฆ์ผู้ระงับละอองกิเลสเปรียบเหมือนชนบทที่ระงับละอองฝุ่นเพราะฝนตก

    ฝุ่นเยอะมาก จะระงับไปได้ก็เพราะฝนที่เกิดจากเมฆใหญ่ เพราะฉะนั้น กิเลส คือ ฝุ่นของแต่ละคนที่ยังไม่ได้ระงับ วันหนึ่งก็ฟุ้งไปต่างๆ นานา แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทไหน

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายฝึก ม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบเหมือนฝูงม้าอาชาไนยที่ฝึกมาดีแล้ว

    ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรม กาย วาจา ใจของผู้นั้น ก็สงบจากกิเลสขึ้น ซึ่งผู้นั้นเองจะรู้สึกตัวว่าเป็นผู้ที่ฝึกแล้ว แต่ฝึกโดยใคร ก็ฝึกโดย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสำหรับฝึกตนจริงๆ

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนศัลยแพทย์เพราะทรงถอนลูกศรคือทิฏฐิได้หมด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายที่ถอนลูกศรออกได้ พระสงฆ์ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิ ออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูกถอนลูกศรออกแล้ว

    การฟังพระธรรม ก็เพื่อพิจารณาเข้าใจสภาพของตนเอง ซึ่งกำลังมีลูกศรเสียบ เป็นทุกข์มากเพราะอวิชชา เพราะอกุศลทั้งหลาย เช่น โลภะ โทสะ โมหะ และ อกุศลอื่นๆ เกิดขึ้นขณะใด เป็นทุกข์ขณะนั้น เหมือนถูกเสียบด้วยลูกศร เพราะฉะนั้น การที่จะถอนลูกศรคือทิฏฐิ ต้องอาศัยพระธรรมเป็นทางที่จะถอนลูกศร ซึ่งพระสงฆ์ ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูกถอนลูกศรออกแล้ว

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนจักษุแพทย์เพราะทรงลอกพื้นชั้นโมหะออกได้แล้ว พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายเครื่องลอกพื้นของตา พระสงฆ์ผู้มีพื้นชั้นตาอันลอกแล้ว ผู้มีดวงตาคือญาณอันสดใส เปรียบเหมือนชนที่ลอกพื้นตาแล้วมีดวงตาสดใส

    คนที่เป็นต้อคงจะเห็นได้ชัดว่า มองไม่ชัด และพร่ามัวไปหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาไม่เกิด ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่เมื่อใด มีตาคือญาณอันสดใส ขณะนั้นก็จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนแพทย์ผู้ฉลาดเพราะทรงสามารถกำจัดพยาธิ คือกิเลสพร้อมทั้งอนุสัยออกได้ พระธรรมเปรียบเหมือนเภสัชยาที่ทรงปรุงถูกต้องแล้ว พระสงฆ์ผู้มีพยาธิคือกิเลส และอนุสัยอันระงับแล้ว เปรียบเหมือนหมู่ชนที่พยาธิ ระงับแล้วเพราะใช้ยา

    กำลังป่วยไข้กันอยู่ แต่เดินเหินได้ตามปกติ เพราะเป็นโรคใจ ไม่ใช่โรคทางกาย และยาที่จะรักษาโรคทุกโรคของใจ ก็ต้องเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง และผู้นั้นศึกษาเข้าใจสามารถที่จะรักษาจิตใจของตนเองได้

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนทางดีหรือพื้นที่ ที่ปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนผู้เดินทางถึงที่ที่ปลอดภัย

    ขณะนี้ทุกคนมีอันตรายรอบข้าง อาจจะคิดว่าเป็นอันตรายจากโจร จากผู้ร้าย จากคนที่ไม่หวังดี แต่บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถทำร้ายใจของท่านได้ อย่างมากที่สุด ที่จะทำร้ายได้คือทำร้ายกาย ทำร้ายทรัพย์สมบัติ แต่สำหรับจิตใจนั้นต้องเป็นกิเลส ของท่านเอง เพราะฉะนั้น ทุกคนกำลังอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัย แล้วแต่ว่าขณะใดกิเลส จะเกิดขึ้นทำร้ายเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเห็นได้ว่า ที่ที่อยู่ไม่ปลอดภัยเลย

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนนายเรือที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนเรือ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนที่เดินทางถึงฝั่ง

    ขณะนี้ก็เหมือนกับว่ากำลังอยู่ในหนทางที่จะไปสู่ฝั่ง แล้วแต่ว่าจะถึงเมื่อไร สำหรับผู้ที่ศึกษาแล้วก็มีความเข้าใจ และกำลังค่อยๆ เดินทางไปถึงฝั่ง แต่ต้องขึ้นเรือที่มีทิศทางที่ดี คือ พระธรรม

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนป่าหิมพานต์ พระธรรมเปรียบเหมือนโอสถยา ที่เกิดขึ้นที่ป่าหิมพานต์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนที่ไม่มีโรคเพราะใช้ยา

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ประทานทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ พระสงฆ์ผู้ได้อริยทรัพย์มาโดยชอบเปรียบเหมือนชนผู้ได้ทรัพย์ตามที่ประสงค์

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ได้ขุมทรัพย์

    พระพุทธเจ้าผู้เป็นวีรบุรุษเปรียบเหมือนผู้ประทานความไม่มีภัย พระธรรมเปรียบเหมือนไม่มีภัย พระสงฆ์ผู้ล่วงภัยทุกอย่างเปรียบเหมือนชนผู้ถึงความไม่มีภัย

    ถ้าท่านที่กำลังมีทุกข์โศก

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ปลอบ พระธรรมเปรียบเหมือนการปลอบ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ถูกปลอบ

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนมิตรดี พระธรรมเปรียบเหมือนคำสอนที่เป็น หิตประโยชน์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ประสบประโยชน์ตนเพราะประกอบ หิตประโยชน์

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบ่อเกิดทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ ที่เป็นสาระ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ใช้ทรัพย์ที่เป็นสาระ

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ทรงสรงสนานพระราชกุมาร พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำที่สนานตลอดพระเศียร พระสงฆ์ผู้สรงสนานดีแล้วด้วยน้ำคือพระสัทธรรม เปรียบเหมือนหมู่พระราชกุมารที่สรงสนานดีแล้ว

    ถ้ามีความสกปรกเพราะกิเลสก็ต้องชำระล้าง และสิ่งที่จะชำระให้สะอาดก็คือพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องชำระด้วยพระธรรมกันไปเรื่อยๆ

    ท่านที่ชอบเครื่องตกแต่งก็มีคำอุปมาว่า

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนช่างผู้ทำเครื่องประดับ พระธรรมเปรียบเหมือนเครื่องประดับ พระสงฆ์ผู้ประดับด้วยพระสัทธรรมเปรียบเหมือนพระราชโอรส ผู้ทรงประดับแล้ว

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นจันทน์ พระธรรมเปรียบเหมือนกลิ่นอันเกิดจาก ต้นจันทน์นั้น พระสงฆ์ผู้ระงับความเร่าร้อนได้สิ้นเชิงเพราะพระสัทธรรมเปรียบเหมือน ชนผู้ระงับความร้อนเพราะใช้จันทน์

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบิดาผู้มอบมรดก พระธรรมเปรียบเหมือนมรดก พระสงฆ์ผู้สืบมรดกคือพระสัทธรรมเปรียบเหมือนพวกบุตรผู้สืบมรดก

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดอกปทุมที่บาน พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำ ที่เกิดจากดอกปทุมที่บานนั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนหมู่ภมรที่ดูดกินน้ำนั้น

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1899

    ที่กล่าวถึงพระรัตนตรัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงโลกที่มืดเมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพราะไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แม้ในครั้งพุทธกาลโลกก็สว่างเฉพาะพุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งลักษณะของ สภาพธรรม และอริยสัจจธรรม

    กาลสมัยก็ผ่านมาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ ๒,๕๓๒ ปี แม้ว่าดวงอาทิตย์ คือ พระพุทธเจ้าไม่ปรากฏ แต่แสงสว่างของดวงอาทิตย์ก็ยังมีในส่วนที่ไม่มืด เพราะ โลกนี้ไม่ได้สว่างทั่วกันหมด บางแห่งก็มืด บางแห่งก็สว่าง เพราะฉะนั้น ส่วนที่ไม่มืดเท่านั้นคือผู้ที่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ และปฏิบัติธรรม แต่ถ้าผู้ใดไม่สนใจ ไม่มีศรัทธา ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจพระธรรม จะกล่าวว่าพระธรรม ยังมีอยู่กับผู้นั้นก็ไม่ได้

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปฐมฉิคคฬสูตรที่ ๗ มีข้อความแสดงว่า

    การเกิดเป็นมนุษย์ยาก อุปมาเหมือนคนโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไป ในมหาสมุทร เต่าตาบอดที่อยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วง ๑๐๐ ปีถึงจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง และเมื่อล่วงร้อยๆ ปีจึงจะโผล่ขึ้นมาคราวหนึ่งนั้น การที่เต่าจะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวนั้นได้บ้างก็เฉพาะในบางครั้งบางคราวเท่านั้น

    นี่คือความยากของการเกิดเป็นมนุษย์

    ส่วนข้อความใน ทุติยฉิคคฬสูตรที่ ๘ ยิ่งแสดงความยากกว่านั้น โดยอุปมาว่า

    ไม่ใช่แต่ในมหาสมุทรเท่านั้น แต่มหาปฐพี คือ แผ่นดินระหว่างจักรวาล ก็ยังมีน้ำเต็มหมด เมื่อโยนแอกที่มีช่องเดียวลงแล้ว ลมทิศตะวันออกยังพัดแอกนั้นไป ทางทิศตะวันตก ลมทิศตะวันตกก็พัดแอกนั้นไปยังทิศตะวันออก ส่วนลมทิศเหนือ ก็พัดแอดนั้นไปทางทิศใต้ และลมทิศใต้ก็พัดแอกนั้นไปทิศเหนือ ล่วงร้อยๆ ปี เต่าถึงจะโผล่ขึ้นมาคราวหนึ่ง ถ้าแอกนั้นยังไม่เน่า และน้ำในทะเลยังไม่แห้ง การที่เต่านั้นจะโผล่ขึ้นมาสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวได้นั้นเป็นการยากยิ่ง

    ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกเป็นของยาก ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก ความเป็นมนุษย์นี้เขาได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองในโลก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำ ความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธ-คามินีปฏิปทา

    พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทพระภิกษุในสมัยเมื่อประมาณ ๒,๕๓๒ ปีมาแล้ว คือ ในยุคสมัยที่พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้วรุ่งเรืองในโลก ต่างกับกาลสมัยที่พระพุทธศาสนาได้ผ่านมาถึง ๒,๕๓๒ ปี

    ข้อความตอนท้ายใน อรรถกถา ทุติยฉิคคฬสูตร มีว่า

    ก็การแสดงธรรม และวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ชื่อว่าเป็นเหตุเกิด ที่ยากยิ่งกว่า

    คือ ยากยิ่งกว่าการที่จะเกิดเป็นมนุษย์

    ต่อจากนั้นมีข้อความว่า

    ก็การแทงตลอดสัจจะ ๔ พึงทราบว่า เป็นเหตุเกิดที่ยากยิ่งกว่าอย่างยิ่ง

    แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็เกิดดับอยู่แม้ในขณะนี้เอง ซึ่งทุกคนก็ฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูปโดยนัยต่างๆ ไม่ว่าจะโดยพระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือโดยนัยของพระสูตร ก็เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้น ตราบใดที่สติสัมปชัญญะยังไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ศึกษา ก็ต้องมีการแสดงธรรม มีการสนทนาธรรม เพราะนับวันจะหา ผู้ที่แสดงพระธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วยากขึ้นๆ ซึ่งทุกคนก็ เห็นได้ ทั้งนี้เพราะความละเอียด และความลึกซึ้งของพระธรรมที่จะต้องอาศัยความอดทนหลายอย่าง ทั้งในการศึกษา ในการฟัง ในการพิจารณาธรรม โดยเฉพาะต้อง รู้จุดมุ่งหมายว่า เพื่อการละคลาย และการขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

    และเมื่อศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้ว ทุกท่านก็มีความอดทนที่จะเจริญกุศลทั้ง ในการแสดงธรรม ในการสนทนาธรรม เกื้อกูลบุคคลอื่นตามกาลที่สมควรทุกโอกาส

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านเดินทางไปที่หนึ่ง และระหว่างที่อยู่ในรถไฟก็ได้คุยกับผู้โดยสารที่นั่งใกล้ๆ ซึ่งอายุยังไม่มาก ผู้โดยสารท่านนั้นก็พูดจา เป็นเรื่องของกรรม เรื่องของธรรม และในที่สุดก็ได้ถามท่านผู้นั้นว่า ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาหรือเปล่า

    แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟัง และเข้าใจธรรมแล้ว ทุกโอกาสสามารถที่จะ เกื้อกูลบุคคลอื่น โดยอาจจะกล่าวถึงเรื่องของกรรม เรื่องของธรรม จนกระทั่งเห็นว่า ควรจะสนทนากันด้วยเรื่องที่ละเอียดขึ้น โดยไม่ได้มุ่งว่าจะต้องเป็นผู้แสดงธรรม แต่เมื่อรู้ว่าประโยชน์ของการแสดงธรรม การสนทนาธรรมมี ก็จะมีกุศลที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นในกาลต่างๆ

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปเรสสูตร ข้อ ๔๘๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถาย่อมเป็นไปด้วยสถาน ๓

    ธรรมกถา คือ การพูด การสนทนา การเจรจาปราศรัย คุยกันเรื่องธรรม

    สถาน ๓ คืออะไร คือ ผู้ใดแสดงธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถ ได้รสธรรม ผู้ใดฟังธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถ ได้รสธรรม ผู้แสดงธรรม และผู้ฟังธรรม ย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถได้รสธรรมด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถาย่อมเป็นไปด้วยสถาน ๓ นี้แล

    คือ เมื่อผู้ใดเห็นประโยชน์ของพระธรรม ย่อมนำมาซึ่งการสนทนาธรรม ทุกโอกาส

    ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ขอให้คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่ ได้ยินเสียงซึ่งเป็นเรื่องของธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ และเริ่มเข้าใจเรื่อง ธรรมนั้น ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบจากอกุศล แม้ว่าสติปัฏฐานจะไม่ได้ระลึกที่ลักษณะสภาพของจิต เพราะบางท่านก็กำลังฟัง และขณะที่ฟังนั้นก็เป็น มหากุศล ถ้ามีความเข้าใจเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นจิต ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึก ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังเข้าใจ แต่เป็นมหากุศลจิตนั่นเองที่กำลังสงบจากอกุศล และมีภวังคจิตคั่นอย่างรวดเร็วที่สุด

    สภาพธรรม คือ นามธรรมเกิดดับเร็วมากจนประมาณไม่ได้ว่าเร็วแค่ไหน ในชั่วพริบตาก็มีทั้งการเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้สภาพธรรมขณะใดเกิดขึ้นปรากฏ

    แม้ในขณะนี้เอง ขอให้คิดถึงภวังคจิต ขณะที่เป็นภวังคจิต ยิ่งกว่าความ มืดสนิท เพราะขณะนั้นไม่มีลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ปรากฏทั้งสิ้น ขณะที่ทุกคน มีความรู้สึกว่า ห้องมืด ขณะนั้นก็ยังมีความรู้ว่ามืด ซึ่งเป็นความรู้ทางมโนทวารวิถี เมื่อไม่มีอารมณ์มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นเป็นความมืด เพราะว่าเป็นมโนทวารวิถีจิต แต่ขณะที่รู้ว่ามืดไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ และขณะนี้เองก็มีลักษณะของภวังคจิตเกิดสลับคั่นกับทางหูที่กำลังได้ยิน มีเสียงกระทบกับโสตปสาท แต่เป็นเสียงที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จะเห็นถึงปัจจัยต่างๆ

    ต้องมีกัมมปัจจัยในอดีตเป็นปัจจัยทำให้เสียงนี้กระทบหู เพราะว่าเสียงมีหลายเสียง เสียงอื่นที่ไม่ใช่เสียงซึ่งทำให้เข้าใจธรรมก็มี แต่เมื่อเป็นเสียงที่สามารถทำให้เข้าใจเรื่องของธรรม ก็ต้องเป็นเพราะกัมมปัจจัยที่ได้ทำแล้วในอดีตเป็นปัจจัยให้ได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็เป็นมหากุศลจิตที่การสะสมในอดีตทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามระดับขั้นของปัญญา ซึ่งเสียงที่ทำให้เข้าใจธรรมนั้นเป็นเสียงที่หายาก เพราะฉะนั้น นี่เป็นประโยชน์ของการฟัง และการแสดงธรรม ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะพบใครที่ไหน เมื่อมีโอกาสที่จะเกื้อกูล ก็คงมีศรัทธาที่จะเกื้อกูลด้วยการสนทนาธรรม


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1900


    หมายเลข 13108
    18 ก.ย. 2567